ข่าวประชาสัมพันธ์

ข่าวสารและกิจกรรม

ต.ค.

สคช. แกะกล่อง 5 มาตรฐานอาชีพใหม่ รองรับความต้องการกำลังคนยุค New Normal

05.10.2564
4,692 View

สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. เปิดตัว 5 มาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพใหม่ ปี 2564 ขานรับนโยบายการพัฒนากำลังคน ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมีนายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นประธานกล่าวต้อนรับ ผ่าน Zoom Meeting พร้อมผู้เชี่ยวชาญ ที่ร่วมกันผู้จัดทำมาตรฐานอาชีพ สาขาวิชาชีพพลังงานและพลังงานทดแทน สาขางานระบบส่ง, สาขาวิชาชีพบริการสุขภาพ สาขาจิตวิทยา, สาขาวิชาชีพอัญมณี เครื่องประดับและโลหะมีค่า, สาขาวิชาชีพอนุรักษ์พื้นบ้านและศิลปหัตถกรรม (งานศิลป์แผ่นดิน) และสาขาวิชาชีพการกีฬา สาขามวยไทย
 
นายนคร กล่าวว่า สคช. ได้เปลี่ยนวิกฤตจากสถานการณ์โควิด-19 เป็นโอกาส ในการเตรียมความพร้อมให้กำลังคนในอาชีพ มารองรับทุกการเปลี่ยนแปลง เพราะทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับปริญญาอาชีพ หรือคุณวุฒิวิชาชีพ มากกว่าใบปริญญา การจัดทำมาตรฐานอาชีพจึงเป็นเครื่องมือที่จะตอบโจทย์ในการวัดสมรรถนะกำลังคน ทำให้เกิดการยกระดับความสามารถของคนในอาชีพได้อย่างที่สากลให้การยอมรับ ซึ่งจะเป็นช่องทางการสร้างโอกาส สร้างรายได้ให้คนในอาชีพต่อไป และยังเป็นการเตรียมบุคลากรให้สอดรับความต้องการของตลาดแรงงานในชีวิตวิถีใหม่อีกด้วย   

นางสาวจุลลดา มีจุล รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวว่า ปี 2564 สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ได้ต่อยอดเติมเต็มมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพในสาขาวิชาชีพต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 15 โครงการและทบทวนมาตรฐานอาชีพเดิม ให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงอีก 237 อาชีพ ไม่เพียงแต่การจัดทำและทบทวนมาตรฐานอาชีพ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานเท่านั้น แต่ยังผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์ ในการพัฒนาขีดความสามารถ เพื่อสร้างโอกาสในอาชีพให้มากขึ้นอีกด้วย
 

ในงานยังมีตัวแทนจากคณะผู้จัดทำมาตรฐานอาชีพใหม่ทั้ง 5 สาขาวิชาชีพ ได้ลงลึกถึงความสำคัญและประโยชน์ที่คนในอาชีพจะได้รับจากการจัดทำและทบทวนมาตรฐานอาชีพ โดย ผศ.ดร.ศักดิ์ชัย เศรษฐ์อนวัช ผู้จัดการโครงการ การจัดทำมาตรฐานอาชีพมวยไทย ยอมรับว่าการจัดทำมาตรฐานอาชีพครั้งนี้ จะเป็นการเสริมทัพความแข็งแกร่งให้กับคนเบื้องหลังกีฬามวยไทยครั้งสำคัญ สามารถต่อยอดให้กับบุคลากรในวงการมากกว่า 20,000 คน เช่นเดียวกับมาตรฐานอาชีพอื่นๆ ที่เห็นตรงกันว่าจะช่วย จะช่วยสร้างความภาคภูมิใจ และมีแรงจูงใจในการพัฒนาศักยภาพ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในอาชีพ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำจากระบบคุณวุฒิด้านการศึกษา ด้วยการใช้ความเชี่ยวชาญที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ และเข้าสู่ระบบคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อรับปริญญาอาชีพ ทำให้กลุ่มเปราะบางในสังคมกลายเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ