วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2568 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการ และการจัดแสดงผลงานภูมิปัญญาผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชน ภาคใต้ ซึ่งจัดโดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช อ.เมืองนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางสาวซาบีดา ไทยเศรษฐ์ และนางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผู้ว่าราชการจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ข้าราชการ สมาคมแม่บ้านมหาดไทย คณะที่ปรึกษาโครงการ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" และผู้ประกอบการจากจังหวัดต่าง ๆ เฝ้ารับเสด็จ
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปทอดพระเนตรนิทรรศการ และการจัดแสดงผลงานภูมิปัญญาผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชน จำนวน 30 กลุ่ม อาทิ วิสาหกิจชุมชนยาริงบาติก จ.ปัตตานี รายาบาติก จ.ปัตตานี บาติกเดอนารา จ.ปัตตานี ศูนย์ผ้าบาติกค่ายสิรินธร จ.ปัตตานี SALOMA PATEK จ.นราธิวาส นาราบาติก จ.นราธิวาส มีดีนาทับ จ.สงขลา กลุ่มมัดย้อมสีธรรมชาติบ้านคีรีวง จ.นครศรีธรรมราช กลุ่มเยาวชนบ้านดี จ.ปัตตานี ศรียะลา จ.ยะลา อ่าวลึกบาติก จ.กระบี่ ยิ่งบาติกเพ้นท์ จ.ภูเก็ต สตูลบาติก จ.สตูล ปันหยาบาติก จ.สตูล Ameena Batik สุคิริน จ.นราธิวาส BARAHOM BARZAAR จ.ปัตตานี กลุ่มผ้าพิมพ์ชาววัง จ.ปัตตานี Chanyanoot (ชัญญานุช) จ.พัทลุง กลุ่มสตรีสหกรณ์จักสานย่านลิเภาบ้านนาเคียน จ.นครศรีธรรมราช จักสานย่านลิเภาบ้านลิเภา จ.นครศรีธรรมราช หัตถกรรมกระจูดวรรณี จ.พัทลุง กระจูดราตรี จ.นครศรีธรรมราช กอร์ตานี จ.สงขลา กลุ่มบ้านโนรา จ.พัทลุง เครื่องถมเงินนาเรียง จ.นครศรีธรรมราช นครหัตถกรรม นครศรีธรรมราช ศ. หลังสวนเบญจรงค์ จ.ชุมพร พัสรดาผ้าทอมือ จ.ตรัง กลุ่ม Silpacheep และบูธของหรอยเมืองใต้ โดยในจำนวนนี้มีผู้ที่ได้รับคุณวุฒิวิชาชีพ ในสาขาวิชาชีพอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรมและงานพื้นบ้าน สาขางานผ้าทอ ผ้าเขียน-พิมพ์ลาย อาชีพผู้สร้างสรรค์งานผ้าบาติก งานเครื่องจักสาน รวมอยู่ด้วย
โอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานแบบผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริราชพัสตราภรณ์” ประเภทผ้าบาติก แก่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อเชิญไปมอบแก่ช่างทอผ้าและช่างหัตถกรรมไทย นำไปสร้างสรรค์งานหัตถกรรม ด้วยการผสมผสานกับลวดลายโบราณในทุกภูมิภาคของประเทศ เป็นการฟื้นฟูภูมิปัญญาแห่งอดีต ยกระดับมาตรฐาน และเพื่อพัฒนาศักยภาพการสร้างสรรค์ผืนผ้าและงานหัตถกรรมในทุกมิติ ด้วยการออกแบบตามความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินด้วย