ข่าวประชาสัมพันธ์

ข่าวสารและกิจกรรม

มิ.ย.

นายสุนทร ชัยยินดีภูมิ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เข้าหารือร่วมกับ สคช. พร้อมเน้นย้ำภารกิจของ สคช. ที่อยากให้หน่วยงานภาครัฐร่วมกันเปลี่ยนค่านิยมในสังคม ให้เห็นความสำคัญของประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ

20.06.2565
12,240 View
นายสุนทร ชัยยินดีภูมิ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เข้าหารือร่วมกับ นายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) และนายสุรพล พลอยสุข ผู้อำนวยการสถาบันฯ พร้อมผู้บริหาร สคช. ซึ่งนายสุรพล ได้เน้นย้ำภารกิจของ สคช. ที่อยากให้หน่วยงานภาครัฐร่วมกันเปลี่ยนค่านิยมในสังคม ให้เห็นความสำคัญของประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ เพราะช่วยให้กลุ่มคนที่หลุดจากระบบการศึกษา หรือไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษา มีโอกาสได้เติมเต็มคุณวุฒิวิชาชีพซึ่งมีศักดิ์และสิทธิเทียบเท่าคุณวุฒิทางการศึกษา ส่วนคนที่เป็นกำแรงงานก็มีโอกาสได้รับพิจารณาเงินเดือน หรือเพิ่มตำแหน่งงานเมื่อได้รับคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งหากเปลี่ยนได้เชื่อว่าคนไทยในอนาคตจะมีโอกาสเข้าถึงรายได้เร็วขึ้น หรือเข้าถึงรายได้เมื่ออายุยังน้อย และเป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วยต้นทุนมนุษย์ของคนไทย
ด้านรองเลขาธิการนายกฯ ได้ให้ความสนใจแนวทางการดำเนินงานของสถาบันฯ ที่ส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาความรู้ ทักษะกำลังแรงงานของประเทศ โดยการมุ่งเน้นพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินงาน โดยอาจร่วมกับพื้นที่ในการอบรมและประเมิน พื้นที่นำร่อง 9 จังหวัด กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ประกอบด้วย จังหวัดกาฬสินธุ์ มหาสารคาม ขอนแก่น และร้อยเอ็ด, กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ประกอบด้วย จังหวัดตาก สุโขทัย พิษณุโลก อุตรดิตถ์ และเพชรบูรณ์
ขณะเดียวกันสนับสนุนการจัดทำ e-training เพื่อเตรียมความพร้อมกำลังแรงงานในการไปทำงานต่างประเทศ ให้มีมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรม กฎหมายคุ้มครองแรงงาน (ทั้งประเทศต้นทางและปลายทาง) ความรู้เกี่ยวกับภาษา เป็นต้น เพื่อไม่ให้ไทยสูญเสียตลาดในกลุ่มนี้ แต่จะเป็นการสร้างโอกาสให้กำลังแรงงานมีทักษะสูงในการทำงาน และมีโอกาสมีงานทำ และมีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ได้ให้แนวทางในการมุ่งเน้นพัฒนามาตรฐานอาชีพที่เกี่ยวข้อง กลุ่ม BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เชื่อมโยงกับ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และอยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โดยมีสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ มาตรฐานอาชีพสาขาวิชาชีพสิ่งแวดล้อมและสารอันตราย สาขาวิชาชีพพลังงานและพลังงานทดแทน
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ