ข่าวประชาสัมพันธ์

ข่าวสารและกิจกรรม

ก.พ.

สคช. ผนึกกำลังเทคนิคนครราชสีมา ปั้นมืออาชีพติดตั้ง-ควบคุมระบบเสียง เสริมศักยภาพสร้างความเข้มแข็งอุตสาหกรรมบันเทิงไทยสู่เวทีโลก

18.02.2568
1,012 View

สคช. ผนึกกำลังเทคนิคนครราชสีมา ปั้นมืออาชีพติดตั้ง-ควบคุมระบบเสียง เสริมศักยภาพสร้างความเข้มแข็งอุตสาหกรรมบันเทิงไทยสู่เวทีโลก

ดร.ณฐา จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เปิด “โครงการพัฒนาทักษะการติดตั้งควบคุมระบบเสียงเพื่อยกระดับอุตสาหกรรม Soft Power ด้านดนตรี” โดยมี ดร.กรภัทร์ จุ้ยยิ้ม รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา ให้การต้อนรับ ณ วิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา

โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการมุ่งหวังเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมดนตรี โดยเฉพาะงานแสดงดนตรีสด กลุ่มช่างควบคุมติดตั้งระบบเสียง สู่การมีทักษะตามมาตรฐานอาชีพ จัดร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา ซึ่งเป็นศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (CVM) แผนกวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแสงและเสียง มีผู้เข้าร่วมอบรมทั้งสิ้น 110 คน จากสถานประกอบการด้านติดตั้งควบคุมระบบเสียง กว่า 50 แห่ง โดยตลอด 4 วันของการอบรม ผู้เข้าร่วมจะได้รับการฝึกฝนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติจาก ทีมวิทยากรแถวหน้า นำโดย คุณผดุง สีสุรีย์ หรือ อ.อุ้ย ซาวด์แมน วิศวกรเสียง ที่เคยฝากผลงานไว้ในเวทีระดับประเทศ อาทิ เทศกาลดนตรี Social This Campaign, 7 สีคอนเสิร์ต On Tour และ MBK Concert Party เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้เข้ารับการอบรมยังได้สะสมประวัติการฝึกอบรมในแพลตฟอร์ม EWE เพื่อนำไปใช้การันตีทักษะความสามารถและต่อยอดสู่การพัฒนาตนเองในด้านอื่นๆ อีกด้วย

ขณะเดียวกัน ดร.ณฐา ยังได้มอบหนังสือเห็นชอบหลักสูตรการฝึกอบรมตามมาตรฐานอาชีพ แก่ บริษัท นิวเจน เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด โดยคุณสุชาติ อินทร์พรหม หนึ่งในผู้ก่อตั้งคณะหมอลำอีสานนครศิลป์และผู้จัดรายการหมอลำไอดอล เพื่อขยายผลสู่ภาคอุตสาหกรรมและสถานประกอบการด้านอุตสาหกรรมบันเทิง นับเป็นอีกก้าวสำคัญของการพัฒนา Soft Power ไทย ให้เป็นอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งและยั่งยืน

ดร.ณฐา กล่าวในฐานะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ, รองประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร และอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยว ว่า "ดนตรีไทยและศิลปะการแสดงไม่ใช่แค่เรื่องของความบันเทิง แต่เป็น Soft Power ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ โครงการนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการพัฒนากำลังคนที่มีศักยภาพ สู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านระบบเสียงที่ได้มาตรฐานระดับสากล ซึ่งจะช่วยส่งเสริมงานแสดงดนตรีไทยให้มีคุณภาพ รวมถึงช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างแท้จริง” 

ขณะที่ คุณสุชาติ กล่าวว่า "หมอลำและดนตรีอีสาน เป็นเอกลักษณ์ที่สามารถสร้าง Soft Power ไทยให้ก้าวไกลได้ ทักษะช่างเสียงที่มีมาตรฐาน จะช่วยให้โชว์มีพลัง ดึงดูดผู้ชม และขยายโอกาสสู่ระดับสากล นี่คือก้าวสำคัญของการสร้างอุตสาหกรรมดนตรีที่แข็งแกร่งจากรากฐานของเราเอง”

โครงการนี้จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะก้าวไปสู่ระดับสากล และเป็นส่วนหนึ่งของ Soft Power ที่จะผลักดันดนตรีไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ