ข่าวประชาสัมพันธ์

ข่าวสารและกิจกรรม

ม.ค.

สคช. หนุนทางรอด!! ในยุคโควิด-19

25.01.2564
664 View
  การกลับมาของ “โควิด-19” ระลอกใหม่ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าส่งผลกระทบในมิติทางเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศต่อเนื่อง ซึ่งต้องยอมรับว่าฉุดให้การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศดำดิ่งไปไม่น้อย 
รัฐบาลโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พยายามออกแบบทิศทางการขับเคลื่อนประเทศให้ล้อไปกับวิกฤตที่เกิดขึ้นให้ได้ ด้วยประเทศไทยเป็นประเทศที่เรารู้กันดีอยู่ว่า เราพึ่งพาตัวเองได้ ทุกคนต่างทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การบริหารงบประมาณรายจ่ายทุกอย่างต้องเป็นไปด้วยความประหยัด คุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับความจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน และที่แน่นอนการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับใช้ก็จะช่วยให้การดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งในแง่ธุรกิจ สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ไม่หยุดชะงัก 
ด้วยนโยบายของรัฐบาลนับเป็นหัวใจให้ทุกหน่วยงานต้องปรับตัว ระดมทุกความคิด ทุกสรรพกำลัง เพื่อให้เศรษฐกิจฐานรากสามารถเดินต่อไปได้ หรือแม้จะทำอย่างไร ที่จะช่วยพยุงเงินในกระเป๋าของประชาชนยังคงมีอยู่มีใช้ รวมไปถึงมีมากขึ้นในยุควิกฤตเศรษฐกิจเช่นนี้ 
สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. ในฐานะหน่วยงานภาครัฐภายใต้การกำกับของนายกรัฐมนตรี ที่ปัจจุบันมีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี ควบคุมดูแล ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ สานนโยบายเพื่อมาต่อยอดทางความคิด และการดำเนินงานทันที และล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการ สคช. โดยมี นายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการ สคช. เป็นประธานการประชุม และในฐานะที่เป็นกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ได้ระดมทุกความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทั้งในมิติแรงงาน อาชีพ เศรษฐกิจ สังคม เพื่อหามาตรการช่วยเหลือคนในอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ให้สามารถเข้าสู่สภาพคล่องให้ได้โดยเร็ว  
ด้าน ดร.นพดล  ปิยะตระภูมิ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวเสริมว่า  สคช. จะพลิกวิกฤติการระบาดของโรค อาศัยช่วงที่คนระมัดระวังตัวในการเดินทาง อยู่แต่บ้าน มาสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก ด้วยการพัฒนาทักษะ สมรรถนะในอาชีพ สามารถนำความรู้ไปสร้าง และพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งสร้างอาชีพทางรอดอาชีพที่ 2 อาชีพที่ 3 ได้ ภายใต้แนวคิด สคช. ช่วยไทย สร้างการเรียนรู้ สร้างโอกาส สร้างงาน สร้างอาชีพ ทั้งนี้ สคช. ได้ออกมาตรการแนวทางการช่วยเหลือ ได้แก่ 
มาตรการที่ 1 ประกาศลดค่าธรรมเนียมการประเมินสมรรถนะด้านการใช้อีคอมเมิร์ซ โดยค่าสมัครเข้ารับการประเมินมาตรฐานสมรรถนะ ปกติเก็บ 300 บาท แต่ลดเหลือ 150 บาท ค่าธรรมเนียมการประเมินมาตรฐานสมรรถนะ อีคอมเมิร์ซ ระดับ 1 ปกติเก็บค่าธรรมเนียมการประเมิน (สอบ) เป็นเงิน 400 บาท เหลือเก็บเพียง 150 บาท ระดับ 2 ปกติเก็บ 500 บาท แต่ สคช. จะสนับสนุนให้ 250 บาท เหลือเก็บค่าธรรมเนียมการสอบเพียง 250 บาท ทั้งนี้สงวนสิทธิ์คนละ 1 ครั้ง ต่อ 1 สิทธิ์ เบื้องต้นกำหนดงบประมาณสนับสนุนค่าธรรมเนียมการสอบ 1,000 คน นอกจากนี้ให้ลดค่าธรรมเนียมการประเมิน (สอบ) ตามมาตรฐานอาชีพต่างๆ จากเดิมเก็บ 500 บาท ลดเหลือเก็บเพียง 250 บาท เท่านั้น 
มาตรการที่ 2   สนับสนุนค่าธรรมเนียมการประเมินสมรรถนะเต็มจำนวนในบางอาชีพ ได้แก่ การประเมินมาตรฐานสมรรถนะด้านการใช้ภาษาอังกฤษ (English Proficiency), การประเมินมาตรฐานสมรรถนะด้านการขับขี่ปลอดภัยและประหยัดพลังงาน โดยให้เก็บเฉพาะค่าสมัครสอบ แต่เก็บค่าสมัครเพียงครึ่งเดียวโดยค่าสมัครสอบ 300 บาท เก็บเพียง 150 บาท เท่านั้น 
นอกจากนี้ สถาบันฯ จะสนับสนุนค่าธรรมเนียมการประเมินตามมาตรฐานอาชีพให้กลุ่มผู้เปราะบางในสังคม ประกอบไปด้วย นักเรียน นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่หรือสำเร็จการศึกษาแล้วไม่เกิน 1 ปี และกลุ่มผู้ต้องขังใกล้พ้นโทษ นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มอาชีพที่เป็นผู้มีรายได้น้อยที่สถาบันฯ จะสนับสนุนค่าธรรมเนียมการประเมินมาตรฐานอาชีพเต็มจำนวน ได้แก่ อาชีพช่างทำผม อาชีพผู้ประกอบอาหารริมบาทวิถี อาชีพเกษตรกร ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยยกระดับภาคการเกษตรสู่เกษตรมูลค่าสูง ต่อยอดการสร้างแพลตฟอร์มตลาดดิจิทัล ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มตามแนวนโยบายของรัฐบาลด้วย
มาตรการที่ 3    การจัดอบรมออนไลน์ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญในการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคนในการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ นำร่อง 10 อาชีพ ที่ สคช. ได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในการจัดทำมาตรฐานอาชีพเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อาทิ เทคนิคการแต่งหน้า, เทคนิคการทำผม, ทำตลาดออนไลน์, เทคนิคเมนูง่ายๆ แต่อร่อยอย่างเชฟระดับโลก, เทคนิคการถ่ายภาพเพื่อการขาย, ตัดต่อ ทำคลิปง่ายๆ เพียงใช้โทรศัพท์มือถือ, เป็นนายหน้าอย่างมืออาชีพด้วยกูรูที่ได้การันตีมาตรฐานสากล ISO/IEC 17024, เทคนิคง่ายๆ ในการดูแล เข้าใจผู้สูงอายุ และเด็ก รวมทั้งเทคนิคง่ายๆ ในการใช้ประโยชน์จากพลังงานทดแทน ซึ่งจะมีการมอบใบประกาศให้ด้วยสำหรับผู้ที่ผ่านการอบรม   
สำหรับการจัดอบรมจะเปิดอบรม จะดำเนินการผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ที่มีทั้งเฟซบุ๊ก แฟนเพจ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เว็บไซต์ หรือช่องทางยูทูป ด้วยการลงทะเบียนผ่านระบบ E-Training ของสถาบันฯ ผู้ที่เข้าอบรมจะได้เทคนิคต่างๆ จากผู้เชี่ยวชาญในอาชีพ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์จริงได้ในชีวิตประจำวัน เสริมทักษะในอาชีพ รวมทั้งนำไปต่อยอดขยายผลให้กับธุรกิจ หรือในอาชีพของตัวเอง จนสามารถสร้างเป็นอาชีพทางรอดอาชีพที่ 2 อาชีพที่ 3 ได้ด้วย นับเป็นการสร้างโอกาส สร้างงาน สร้างรายได้ ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจทัล และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของแรงงาน (Life Long Learning) ตามแนวทางรัฐบาลอีกด้วย ทั้งนี้สามารถติดตามรายละเอียดการอบรม รวมทั้งประกาศการลด หรือยกเว้นค่าธรรมเนียมต่างๆ ได้จากในเว็บไซต์สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) www.tpqi.go.th
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ