ข่าวประชาสัมพันธ์

ข่าวสารและกิจกรรม

ม.ค.

สคช.-กยท.-มอ. ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันยกระดับผู้ปฏิบัติงานด้านเพาะปลูกยางพารา 7 อาชีพ ด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ

06.01.2567
6,320 View

สคช.-กยท.-มอ. ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันยกระดับผู้ปฏิบัติงานด้านเพาะปลูกยางพารา 7 อาชีพ ด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ

นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ พร้อมด้วย ผศ.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือระหว่างสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) กับการยางแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อร่วมกันพัฒนาผู้ปฏิบัติงานด้านเพาะปลูกยางพาราให้มีมาตรฐานอาชีพ โดยมี นายเพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยด้านปฏิบัติการ ศ.บัญชา สมบูรณ์สุข อาจารย์สาขานวัตกรรมการเกษตร และการจัดการ วิชาเอกพัฒนาการเกษตร คณะทรัพยากรธรรมชาติ และคณะผู้บริหารของทั้ง 3 ฝ่าย ร่วมเป็นสักขีพยาน

นางสาวจุลลดา กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ มีหัวใจสำคัญคือ ทั้งสามฝ่ายมีเจตนารมณ์ที่จะร่วมมือกันส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานด้านเพาะปลูกยางพาราจำนวน 7 อาชีพ คือ อาชีพผู้ปฏิบัติงานด้านการจัดการปุ๋ยยางพารา อาชีพผู้ปฏิบัติงานด้านจัดทำแปลงต้นยางพาราพันธุ์ดี อาชีพผู้ปฏิบัติงานด้านเก็บเกี่ยวผลผลิตยางพารา อาชีพผู้ปฏิบัติงานด้านการปลูกสร้างสวนยางพารา อาชีพผู้ปฏิบัติงานด้านการแปรรูปผลผลิตยางพารา อาชีพผู้ปฏิบัติงานด้านระบบการจัดการสวนยางพาราอย่างยั่งยืน และอาชีพผู้ปฏิบัติงานด้านการตลาดผลผลิตยางพาราขั้นต้น ซึ่งเป็นไปตามที่กำหนดในมาตรฐานอาชีพ และคุณวุฒิวิชาชีพ มีความรู้ความสามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ สามารถลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มรายได้ ให้ผู้ปฏิบัติงานด้านเพาะปลูกยางพาราระดับครัวเรือนอย่างยั่งยืน สามารถจัดการสวนยางพาราได้อย่างมีมาตรฐาน และยกระดับการปฏิบัติงานสู่มาตรฐานสากล สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพันธุ์ไม้เศรษฐกิจของประเทศ 

ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากนี้ จะมีการเดินหน้าผลักดันให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติงานด้านเพาะปลูกยางพาราในสังกัดของ กยท. ทั่วประเทศจำนวนกว่า 1.7 ล้านคน เข้าร่วมในการฝึกอบรม พร้อมเข้าสู่การประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ สาขาวิชาชีพเกษตรกรรม สาขาเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ อาชีพผู้ปฏิบัติงานด้านเพาะปลูกยางพารา เพื่อยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงาน ให้ได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการสวนยางอย่างยั่งยืน

อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และการยางแห่งประเทศไทย ได้นำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพเกษตรกรรม สาขาเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ อาชีพผู้ปฏิบัติงานด้านเพาะปลูกยางพารา ไปจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร (Smart Farmer) และร่วมพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อส่งเสริมเกษตรกรด้านยางพาราด้วยมาตรฐานอาชีพอย่างต่อเนื่อง พร้อมสร้างการยอมรับในระบบคุณวุฒิวิชาชีพ อันจะนำไปสู่การพัฒนาในอาชีพที่เกี่ยวข้องกับยางพารา ทั้งนี้ การบูรณาการความร่วมมือครั้งนี้  ยังเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปฏิบัติงานด้านเพาะปลูกยางพาราและผู้ประกอบการ ได้รับรู้ถึงประโยชน์ พร้อมสร้างการยอมรับในระบบคุณวุฒิวิชาชีพ อันจะนำไปสู่การพัฒนาในอาชีพอย่างยั่งยืน

ขณะที่ภายหลังการลงนามความร่วมมือ ทั้งสามฝ่ายได้มีการหารือในประเด็นแนวทางการจัดทำมาตรฐานอาชีพ ในอุตสาหกรรมยางพารากลางน้ำ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์การส่งออกผลผลิตยางพาราไทย ซึ่งเป็นการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางขั้นกลางน้ำทั้งหมด มีบุคลากรที่เกี่ยวข้องกว่า 186,600 คน ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพและความสามารถของแรงงานในอุตสาหกรรมยางกลางน้ำ จึงต้องมีมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อให้กำลังคน มีความรู้ และทักษะ สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ทั้งนี้ แนวทางการจัดทำมาตรฐานอาชีพ สำหรับอุตสาหกรรมยางกลางน้ำทั้งระบบ ประกอบไปด้วย 7 กลุ่มอาชีพ อาทิ อาชีพผู้ปฏิบัติงานการผลิตยางแท่ง ผู้ปฏิบัติงานการผลิตน้ำยางข้น ผู้ปฏิบัติงานการผลิตยางแผ่นรมควัน (เป็นยางSTR และยางADS) ผู้ปฏิบัติงานการผลิตยางก้อนถ้วยและยางเครป ผู้ปฏิบัติงานการทดสอบคุณสมบัติยางกลางน้ำ ผู้ปฏิบัติงานการผลิตยางผสม และผู้ปฏิบัติงานด้านการตลาดอุตสาหกรรมยางกลางน้ำ จะเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้า และเป็นการเพิ่มรายได้ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศต่อไป

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ