ข่าวประชาสัมพันธ์

ข่าวสารและกิจกรรม

พ.ค.

สคช.หนุนสถานประกอบการในพื้นที่ EEC กว่า 25 แห่ง พัฒนาสมรรถนะบุคลากรในองค์กร ยกระดับแรงงานไทย สร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน

24.05.2567
517 View
สคช.หนุนสถานประกอบการในพื้นที่ EEC กว่า 25 แห่ง พัฒนาสมรรถนะบุคลากรในองค์กร ยกระดับแรงงานไทย สร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน
นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นประธานเปิดการสัมมนาเพิ่มประสิทธิภาพพนักงานด้วยการพัฒนาทักษะ Upskill Workforce for Increased Productivity พร้อมทั้ง มอบหนังสือเห็นชอบหลักสูตรฝึกอบรมในสถานประกอบการที่สอดคล้องตามมาตรฐานอาชีพ แก่สถานประกอบการจำนวน 5 แห่ง ได้แก่
1. บริษัท ออโต้ อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด สาขาวิชาชีพหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สาขาวิชาชีพบริการยานยนต์ สาขาวิชาชีพอุตสาหกรรมการผลิตแม่พิมพ์ และสาขาวิชาชีพผลิตชิ้นส่วนยานยนต์
2. บริษัท เอสเค เอ็นดีที แอนด์ อินสเป็คชั่น จำกัด สาขาวิชาชีพบริการอุตสาหกรรม สาขาธุรกิจทดสอบและตรวจสอบ
3. บริษัท มิตซุย สยาม คอมโพเน้นท์ส จำกัด สาขาวิชาชีพอุตสาหกรรมการผลิตแม่พิมพ์
4. บริษัท ปานะโอสถ จำกัด สาขาวิชาชีพบริการสุขภาพ สาขาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร
5. บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัดสาขาวิชาชีพผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ สาขายานยนต์ไฟฟ้า
จากนั้น ได้เสวนาแนวทางการนำมาตรฐานอาชีพ มาเชื่อมโยงกับหลักสูตรของสถานประกอบการ โดยมีวิทยากรรับเชิญจากสถานประกอบการ 2 แห่ง ที่ได้ร่วมพัฒนาหลักสูตรและได้นำไปใช้ประโยชน์แล้ว ได้แก่ คุณชัยยุทธ สวัสดี ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ จำกัด , คุณพิษณุ อุชุวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปานะโอสถ จำกัด และ คุณพิริยพงศ์ แจ้งเจนเวทย์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมในการเสวนา ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้บริหารสถานประกอบการในพื้นที่ EEC ทั้งประเภทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงได้รับความร่วมมือจากชมรมผู้บริหารแรงงานสัมพันธ์ภาคตะวันออก , ชมรมบริหารงานบุคคลอีสเทิร์นซีบอร์ด ระยอง , ชมรมบริหารทรัพยากรมนุษย์เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก ในการประสานงานสถานประกอบการในพื้นที่
ผอ.สคช. กล่าวว่า พื้นที่ EEC เป็นหมุดหมายสำคัญที่จะสามารถพัฒนากำลังแรงงานของประเทศได้อย่างรวดเร็ว ผ่านการนำหลักสูตรภายในของสถานประกอบการเอง มาเชื่อมโยงกับมาตรฐานอาชีพของสถาบัน เพื่อยกระดับแรงงานที่มีทักษะอยู่แล้ว ให้ต่อยอดสูงสมรรถนะที่สูงขึ้น จะเป็นการตอกย้ำสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้เห็นศักยภาพของแรงงานไทย
อย่างไรก็ดี สถาบันมีแนวทางในการส่งเสริมให้สถานประกอบการต่างๆ นำมาตรฐานอาชีพไปใช้ในการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมในสถานประกอบการ และส่งเสริมคุณภาพของการฝึกอบรมในสถานประกอบการผ่านการใช้ชุดฝึกอบรมตามมาตรฐานอาชีพ (TPQI E-Training Package) ซึ่งสถาบันได้เริ่มดำเนินการกับสถานประกอบการนำร่อง ตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปัจจุบัน มีสถานประกอบการที่นำมาตรฐานอาชีพของสถาบันไปพัฒนาเป็นหลักสูตรฝึกอบรมภายใน (In-House Training) แล้ว จำนวน 35 สถานประกอบการ รวมกว่า 100 หลักสูตร รองรับการพัฒนากำลังคนในกว่า 50 อาชีพ ทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร ภาคบริการ และภาคการท่องเที่ยว
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ