ข่าวประชาสัมพันธ์

ข่าวสารและกิจกรรม

มิ.ย.

สคช. ร่วมดัน นักเรียนเอกชนนอกระบบ จัดการศึกษาส่งเสริมการเรียนรู้สู่วิถี New Normal

07.06.2565
3,370 View
นางสาวจุลลดา มีจุล รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ พร้อมด้วย ดร.พีรศักดิ์ รัตนะ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน นางพรศิวลักษณ์ ผิวสอาด ผู้อำนวยการกองแผนงานและสารสนเทศ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ผศ.ดร.วีณัฐ สกุลหอม คณะบดีคณะคุรุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และนายพรชัย พิศาลสิษฐ์กุล นายกสมาคมการศึกษาเอกชนนอกระบบ ร่วมงานแถลงข่าวการบูรณาการการจัดการศึกษา เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้สู่วิถีชีวิตใหม่ โดยมี ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการแถลงข่าว
 
ดร.กนกวรรณ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ ได้เล็งเห็นการศึกษาโรงเรียนเอกชนนอกระบบมาโดยตลอด ทั้งนี้โรงเรียนเอกชนนอกระบบมีจุดเด่น คือ ความคล่องตัว ยืดหยุ่น และมีการจัดการเรียนการสอนได้อย่างทันท่วงที สามารถสร้างงานสร้างอาชีพต่อยอดการพัฒนาทุกช่วงวัย ได้เลือกเรียนตามความถนัด โดยเฉพาะจัดการเรียนการสอนในรูปแบบเป็นคอร์สเรียนสั้นๆ สามารถสร้างคุณภาพการศึกษาที่สอดรับทิศทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่กำลังต้องการกำลังคนสมรรถนะสูงส่งเสริมสมรรถนะการแข่งขันที่ตอบตรงโจทย์ตลาดแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
นางสาวจุลลดา กล่าวว่า ที่ผ่านมา สถาบันฯ มีความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และสมาคมโรงเรียนเอกชนนอกระบบ อย่างต่อเนื่อง ในการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะที่มีความสอดคล้องตามมาตรฐานอาชีพ ในสาขาวิชาชีพต่างๆ อาทิ สาขาวิชาชีพธุรกิจเสริมสวย สาขาวิชาชีพบริการสุขภาพ สาขาวิชาชีพการท่องเที่ยว การโรงแรม ภัตตาคารและร้านอาหาร เพื่อใช้เป็นกลไกในการเชื่อมโยงระบบการเรียนรู้ของภาคการศึกษากับระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งเป็นการสร้างโอกาส ให้คนที่อยู่นอกระบบการศึกษา ได้รับการยอมรับในทักษะ ความรู้ และความสามารถ
 
นอกจากนี้ สคช. ยังมีระบบ E-Training ที่รองรับการพัฒนาตนเอง รวมถึงเปิดให้ภาคการศึกษาได้ใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะการทำงานแบบมืออาชีพ สอดรับกับชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal ที่ต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในการดำรงชีวิต การเรียน การทำงานอย่างแพร่หลาย ประชาชนทุกเพศทุกวัยสามารถเรียนรู้การใช้งานเทคโนโลยี ดิจิทัลผ่านระบบออนไลน์ต่างๆ ได้ รวมถึงมีการพัฒนาระบบแฟ้มสะสมผลงานอัจฉริยะ หรือ E-Portfolio เพื่อเป็นเครื่องมือที่ทุกคนสามารถใช้สะสมได้ทั้งผลงาน ผลการเรียน การฝึกอบรม ประสบการณ์การทำงาน และนำไปสู่การวิเคราะห์สมรรถนะที่มีอยู่ในตัวบุคคล อันจะนำไปสู่การ Up-Skill Re-Skill หรือทักษะใหม่ๆ ตลอดจนการเก็บสะสมการเรียนรู้ ทั้งในและนอกระบบ รวมไปถึงมีกลไกต่อยอดไปยัง Job Matching ที่จะทำให้ ผู้ประกอบการเลือกใช้แรงงานที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการ ส่วนหน่วยงานภาครัฐก็สามารถใช้เป็นฐานข้อมูลเชิงสถิติเพื่อนำมาวางแผนพัฒนากำลังคนของประเทศได้อย่างถูกต้องนำไปสู่การปฏิรูปแรงงานได้อย่างเป็นรูปธรรม
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ