ข่าวประชาสัมพันธ์

ข่าวสารและกิจกรรม

มิ.ย.

สคช.ร่วมงานแถลงวิสัยทัศน์ “เตรียมทัพกำลังคน สร้างอุตสาหกรรมอนาคต” IGNITE THAILAND : Future Workforce for Future Industry

17.06.2567
3,083 View
นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เข้าร่วมงานแถลงวิสัยทัศน์ “เตรียมทัพกำลังคน สร้างอุตสาหกรรมอนาคต” IGNITE THAILAND : Future Workforce for Future Industry โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน และมี นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แถลงแนวทาง “การสร้างกำลังคนรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” โดยมีคณะรัฐมนตรี ผู้บริหารทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
โดยนายอนุทิน กล่าวว่า จากการที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไปเจรจาการค้า การลงทุน กับบริษัทต่างๆทั่วโลก นั้น เป็นการเชื้อเชิญอุตสาหกรรมใหม่ๆ ให้เข้ามาลงทุนซึ่งไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่เป็นการพัฒนาที่สำคัญ ที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรม เศรษฐกิจของประเทศให้ไปสู่อุตสาหกรรมไฮเทค (High Tech) ที่มีมูลค่าสูงขึ้น และนวัตกรรมต่างๆ กำลังถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ชั้นสูง เช่น อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ประเทศไทยเรามีพื้นฐานอยู่ในทุกๆ ด้าน และพร้อมที่จะต่อยอด ซึ่งนอกจากความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่รัฐบาลเร่งสร้างและเชื้อเชิญการลงทุนต่างๆ แล้ว การพัฒนาและเพิ่มทักษะของคน (Upskill / Reskill) ก็เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น จึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนพัฒนาทักษะตนเอง เตรียมความพร้อมในการทำงานในอุตสาหกรรมไฮเทค และช่วยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมไปด้วยกัน
ด้าน น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า กระทรวง อว. มีแผนงานในการสร้างและพัฒนากำลังคนที่ครอบคลุมในทุกระดับ ตั้งแต่กำลังคนที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม นักวิจัย รวมถึงการผลิตบัณฑิตในระดับปริญญาตรี โท เอก โดยในระยะ 5 ปีข้างหน้าตั้งเป้าผลิตกำลังคนด้านเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงไว้ที่ 80,000 คน ด้าน EV 150,000 คน และด้าน AI 50,000 คน ปัจจุบัน ได้เริ่มดำเนินการผลิตกำลังคนรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โครงการที่เป็น Quick Win เห็นผลแล้ว 3 โครงการ ได้แก่
1.การพัฒนาและเพิ่มทักษะ (Upskill/Reskill) เช่น โครงการ STEM PLUS หลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น สำหรับกำลังคนที่อยู่ในอุตสาหกรรม โดยมีแรงจูงใจให้บริษัทเอกชนที่ส่งบุคลากรมาเรียน สามารถนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมไปลดหย่อนภาษีได้ 250%
2.โครงการ Coop+ หรือ สหกิจศึกษาพลัส ที่นำนักศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์มาพัฒนาทักษะเพิ่มเติมและฝึกงานกับภาคอุตสาหกรรม หลังจบการศึกษาแล้วยังสามารถทำงานกับบริษัทได้ทันที
3.โครงการสหกิจศึกษาในต่างประเทศ โดยการส่งนักศึกษาไปฝึกงานในมหาวิทยาลัยหรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับด้านเซมิคอนดักเตอร์ ด้าน EV และด้าน AI ในต่างประเทศ เป็นต้น
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ