“อนุทิน” มอบ 6 นโยบาย ขับเคลื่อนการดำเนินงานสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ย้ำคุณวุฒิวิชาชีพต้องเป็นปริญญาอาชีพของประเทศไทย
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เข้าตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการดำเนินงานให้กับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ในฐานะเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้กำกับดูแล โดยมีนายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบัน พร้อมผู้บริหารและบุคลากรของสถาบันให้การต้อนรับ
นายอนุทิน กล่าวว่า สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญในการรับรองความรู้ ความสามารถ ให้กับคนทำงานในทุกมิติตั้งแต่คนหาเช้ากินค่ำ ไปจนถึงระดับ High skill และ Future skill ซึ่งหากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพสามารถดำเนินการได้ครอบคลุมทั้งในเชิงพื้นที่และตามนโยบายรัฐบาลจะช่วย “ลดภาระของประชาชนคนทำงาน” ลดเวลาการหางาน และลดค่าใช้จ่ายในห้องเรียน ตนในฐานะกำกับดูแลสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ให้ความสำคัญกับกระแสโลกที่เปลี่ยนไปในยุคสมัยที่ Skill นำ Degree จึงต้องขับเคลื่อนงานให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมในการสร้างโอกาส สร้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชน
นายอนุทิน กล่าวมอบนโยบาย เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานของ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ประกอบไปด้วย ส่งเสริมให้แรงใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานให้เร็วขึ้น เมื่อเข้าสู่สถานประกอบการ โดยได้รับการฝึกแล้ว ต้องได้รับการรับรองสมรรถนะ สามารถได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม ขณะที่แรงงานเดิมต้องได้รับการพัฒนา ยกระดับสมรรถนะ ผ่านการส่งเสริมให้เครือข่ายของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ทำการฝึก และประเมินคนทำงานทั้งในและนอกระบบด้วยมาตรฐานอาชีพ พร้อมเชื่อมโยงกับภาคการศึกษา ในการนำมาตรฐานอาชีพไปกำหนดเป็นหลักสูตร ฐานสมรรถนะ โดยความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อสร้างคนให้ตรงกับงาน ที่สำคัญคือให้คุณวุฒิวิชาชีพ ต้องเป็น “Degree” ด้านอาชีพ หรือเป็นปริญญาด้านอาชีพ ควรให้การรับรองความสามารถ และทักษะ โดยเฉพาะผู้ที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ไม่ได้รับปริญญา หรือประกาศนียบัตรต่าง ๆ แต่มีความสามารถ ความเชี่ยวชาญ ทำให้เกิดคุณค่า สร้างนวัตกรรม รวมถึงเพิ่มโอกาสในการนำใบรับรองนี้ไปใช้สมัครงานใช้ประกอบอาชีพที่สุจริต แทนการใช้ใบปริญญา
ขณะเดียวกันต้องร่วมผลักดันและขับเคลื่อนแพลตฟอร์ม E-Workforce Ecosystem : EWE ให้เป็น Big Data “ด้านกำลังคน” ของประเทศไทย ให้คนหางาน เจองาน ให้นายจ้าง เจอคนหางาน ตลอดจน “เข้าถึง” ช่องทางสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับคนทำงาน และได้รับการสนับสนุนในการพัฒนาทักษะ “อย่างเป็นระบบ” สามารถเก็บสั่งสมประสบการณ์และการเรียนรู้ผ่าน Competency Credit Bank System เชื่อมกลับไปสู่โลกของการศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในกลุ่มอาชีพอิสระ ที่มีจำนวนกว่า 20 ล้านคน และสุดท้ายคือการยกระดับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพสู่เวทีสากล ทำให้ระบบคุณวุฒิวิชาชีพของไทยมีจุดยืนในเวทีสากล พร้อมสร้างการยอมรับมาตรฐานอาชีพของต่างประเทศ เตรียมความพร้อมให้คนที่ต้องการไปทำงานต่างประเทศ หรือคนไทยที่เคยไปทำงานที่ต่างประเทศแล้วต้องการกลับมาที่ประเทศไทย โดยให้บูรณาการการทำงานร่วมกับ 4 กระทรวงหลักอย่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าที่สุดของประเทศไทย
โอกาสนี้นางสาวจุลลดา ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ยังได้กล่าวแนะนำถึงโครงสร้าง วัตถุประสงค์และบทบาทของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ให้แก่รองนายกรัฐมนตรี และคณะ พร้อมนำเสนอผลการดำเนินงานของสถาบันที่ผ่านมา อาทิ การจัดทำมาตรฐานอาชีพ การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ การนำมาตรฐานอาชีพไปพัฒนาบุคลากรในสถานประกอบการ การสนับสนุนการเรียนรู้ด้วยมาตรฐานอาชีพ การจัดทำฐานข้อมูลระบบคุณวุฒิวิชาชีพและข้อมูลกำลังแรงงาน เป็นต้น