ข่าวประชาสัมพันธ์

ข่าวสารและกิจกรรม

ส.ค.

สคช. ร่วม ศอ.บต. , ฑูตแรงงาน, กระทรวงการต่างประเทศ คล้องแขนเชฟมือ 1 งาน APEC สานพลังร่วมแก้ปัญหาแรงงานไทยในร้านอาหารต้มยำกุ้ง พร้อมร่วมมือด้านแรงงาน ระหว่าง กับพื้นที่ จชต. ผลักดันทุกมิติให้สองประเทศได้รับประโยชน์ร่วมกัน

16.08.2566
7,021 View
สคช. ร่วม ศอ.บต. , ฑูตแรงงาน, กระทรวงการต่างประเทศ คล้องแขนเชฟมือ 1 งาน APEC สานพลังร่วมแก้ปัญหาแรงงานไทยในร้านอาหารต้มยำกุ้ง พร้อมร่วมมือด้านแรงงาน ระหว่าง กับพื้นที่ จชต. ผลักดันทุกมิติให้สองประเทศได้รับประโยชน์ร่วมกัน
นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ นำทีม สคช. ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เชฟชุมพล แจ้งไพร สถาบันการอาหารไทย และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พบปะหารือภาคส่วนต่างๆ ในมาเลเซีย เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานต้มยำกุ้งในมาเลเซีย ซึ่งในปัจจุบันมีแรงงานไทยจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไปทำงานในประเทศมาเลเซียโดยมีทั้งแรงงานที่ถูกต้องและไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนใหญ่เข้าไปทำงานในร้านอาหาร "ต้มยำกุ้ง" มากกว่า 1.5 แสนคน ทั้งนี้ แรงงานต้มยำกุ้งเป็นเส้นเลือดใหญ่ทางเศรษฐกิจที่หล่อเลี้ยงครอบครัวและประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากการทำงานในประเทศมาเลเซียให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการทำงานประเภทเดียวกันในประเทศไทย ทำให้ชีวิตและความเป็นอยู่ของกลุ่มแรงงานดีขึ้น มีรายได้ส่งกลับให้ครอบครัว ซึ่งแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในประเทศมาเลเซีย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรงงานกึ่งฝีมือและไร้ฝีมือ (Semi-Skilled and Unskilled) ไม่มีความพร้อมในด้านเทคโนโลยีและไม่ปรับตัวต่อสถานการณ์ เคยชินกับการเดินทางในอดีต ไม่มีความรู้ความเข้าใจขั้นตอนการเดินทางตามกฎหมาย กลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ขาดการเข้าถึงสิทธิประโยชน์อย่างครอบคลุม
ทั้งนี้ รัฐบาลมาเลเซียได้ให้สิทธิพิเศษ (Privilege) แรงงานต้มยำกุ้งที่มาจากพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย เป็นกลุ่มแรงงานต่างชาติกลุ่มเดียว สามารถทำงานในร้านต้มยำกุ้งได้โดยยกเว้นไม่ต้องผ่านระบบ FWCMS ของมาเลเซีย (Foreign Workers Centralized Management System) ซึ่งแรงงานจากประเทศอื่นๆ ต้องเข้าสู่ระบบดังกล่าว ทำให้เป็นสิทธิพิเศษ ลดเวลาการรอวีซ่าก่อนเข้าไปทำงานในมาเลเซียได้ และไม่มีการจำกัดโควต้าในภาพรวม (แต่ละร้านได้โควต้าตามจำนวนเตาของร้าน) เป็นประเทศเดียวที่ได้รับสิทธิ์พิเศษ จาก 11 ประเทศ ที่มีแรงงานทำงานในประเทศมาเลเซีย
ในการเดินทางลงพื้นที่ประเทศมาเลเซีย ได้พบปะหารือกับกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร “ต้มยำกุ้ง” โดยพบกับ นายโจฮารี บินอาหมัด ประธานชมรม Ukhuwah (เป็นเครือข่ายต้มยำกุ้งเครือข่ายใหญ่) รวมไปถึง ผู้ประกอบการร้านอาหารต้มยำกุ้งในประเทศมาเลเซีย แรงงานไทยภายในร้านอาหาร พนักงานให้บริการอาหาร พ่อครัว-แม่ครัว งานธุรการและงานอื่นๆ เพื่อรับฟังปัญหา อาทิ ความเป็นอยู่ของคนไทยในร้านอาหารต้มยำกุ้ง ตลอดจนปรึกษาหารือร่วมกันเพื่อหาแนวทางการส่งเสริมอาชีพผ่านร้านอาหารต้มยำกุ้ง ในทุกรัฐของประเทศมาเลเซีย พร้อมทั้งหารือแนวทางการผลักดันธุรกิจร้านอาหารต้มยำกุ้งให้เป็นธุรกิจที่สำคัญตั้งแต่กระบวนการต้นทาง กลางทางและปลายทาง ให้เป็นต้นแบบการทำงานเรื่องครัวไทย สู่ครัวโลกอย่างแท้จริง รวมทั้ง การสนับสนุนการพัฒนาทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมกิจการร้านอาหารไทยในประเทศมาเลเซีย ทั้งในมิติการพัฒนาด้านทักษะแรงงาน และด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ได้มีการประชุมหารือร่วมกับสมาคมนักธุรกิจจีนมาเลเซีย เพื่อวางแผนการทำงานโดยตั้ง Working group เพื่อกำหนดแผนงานและประเด็นการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกันของประเทศไทยและมาเลเซียโดยเฉพาะพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีภูมิสังคมและวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับประเทศมาเลเซียใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ ด้านการศึกษาเเละสังคม เพื่อจัดทำความร่วมมือด้านการศึกษาเเละทางด้านทางวิชาการ ร่วมกันในระดับสถาบันการศึกษา กับสถาบันการศึกษา เเละระหว่างรัฐกับรัฐ เเละเอกชนกับภาคเอกชน บนกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) ซึ่งประเทศไทยและมาเลเซียได้พัฒนากรอบคุณวุฒิของแต่ละประเทศที่สามารถเทียบเคียงระหว่างกันได้ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาด้านทักษะแรงงาน ในหลักสูตรที่เป็นความต้องการ ของประเทศมาเลเซียเเละอาเซียน เช่น อุตสาหกรรมอาหารไทยฮาลาล การพัฒนานวัตกรรมการบริการสุขภาพ และด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อจัดทำความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนที่จะมีการเชื่อมโยงกันระหว่าง 2 ประเทศ ตั้งแต่ระดับฐานราก โครงการพื้นฐานที่เชื่อมโยงกัน รวมถึงการจัดงาน road show ของดีชายแดนใต้ในทุกรัฐของประเทศมาเลเซีย เพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าทางการเกษตรอีกด้วย
และได้มีประชุมร่วมกับอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประเทศมาเลเซีย และผู้แทนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนแรงงานไทย และกำหนดแนวทางการช่วยเหลือทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว เนื่องจากประเทศมาเลเซีย ได้เริ่มดำเนินมาตรการเข้มงวดการเข้าเมืองแก่ผู้ประกอบการ และประชาชนที่จะเข้ามาทำงานในประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นมาตรการเร่งด่วนที่ทางรัฐบาลไทย จะต้องรีบแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้แรงงานทุกคนสามารถเข้าทำงานในทุกรัฐของประเทศมาเลเซีย ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายโดยเร็ว โดยทาง ศอ.บต. ได้มีข้อเสนอเพื่อเป็นการจัดระเบียบแรงงานเพื่อให้สามารถเข้าสู่ระบบและสามารถได้รับการดูแลตามกฎหมาย โดยมีการหยิบยกปัญหาและจำแนกประเภทแรงงานและข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาทั้งระบบแบบ Set Zero พร้อมวางขั้นตอนและวิธีการแก้ไขปัญหาในภาพรวมและในแต่ละประเด็นให้มีความชัดเจน
ทั้งนี้ ในการแก้ไขปัญหาแรงงานต้มยำกุ้งในมาเลเซียแบบ Set Zero ในครั้งนี้ ศอ.บต. ได้เล็งเห็นบทบาทและภารกิจของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ในการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพให้แรงงานในที่ทำงานในร้านต้มยำกุ้ง ด้วยมาตรฐานอาชีพ ที่สถาบันฯ ได้จัดทำมาตรฐานอาชีพในอาชีพผู้ประกอบอาหารฮาลาล และอาชีพต่างๆ ในสาขาธุรกิจอาหาร เช่น พนักงานร้าน ซึ่งสามารถนำมาใช้พัฒนาสมรรถนะการทำงานของแรงงานในร้านต้มยำกุ้ง เป็นเครื่องยืนยันความสามารถของกำลังแรงงานไทยที่ทำงานในต่างประเทศ เปิดโอกาสความก้าวหน้าในการทำงาน และเป็นการสร้างให้เป็นต้นแบบการทำงานเรื่องครัวไทย สู่ครัวโลกอย่างแท้จริง และจะได้ให้สถาบันฯ มีส่วนร่วมแก้ปัญหาแรงงานไทยในร้านอาหารต้มยำกุ้งต่อไป
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ