ข่าวประชาสัมพันธ์

  • สคช. ลั่น!! มีมาตรฐานอาชีพด้านความปลอดภัยในการทำงานของผู้ขับขี่-ติดตั้งก๊าซรถยนต์อยู่แล้ว วอนให้ใช้ประโยชน์ หวังลดเหตุการณ์ซ้ำรอยไฟไหม้รถบัสนักเรียน

    04.10.2567
    31 View

    สคช. ลั่น!! มีมาตรฐานอาชีพด้านความปลอดภัยในการทำงานของผู้ขับขี่-ติดตั้งก๊าซรถยนต์อยู่แล้ว วอนให้ใช้ประโยชน์ หวังลดเหตุการณ์ซ้ำรอยไฟไหม้รถบัสนักเรียน นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวถึงกรณีอุบัติเหตุรถบัสนักเรียนไฟไหม้บริเวณใกล้ทางแยกต่างระดับอนุสรณ์สถาน ถนนวิภาวดีรังสิต ทำให้ครู-นักเรียนเสียชีวิต 23 ศพ บาดเจ็บ 3 ราย ย้ำว่าสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. ได้ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยในทุกอาชีพ และได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ สถานประกอบการ สมาคม สมาพันธ์ คนในอาชีพ จัดทำมาตรฐานอาชีพขึ้นมารองรับเพื่อให้การรับรองคุณภาพของคนทำงาน โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สคช. ก็มีมาตรฐานอาชีพ ในอาชีพผู้ขับขี่รถทัวร์โดยสาร, อาชีพช่างติดตั้งส่วนควบและอุปกรณ์ของรถยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติอัดเป็นเชื้อเพลิง และอาชีพช่างติดตั้งส่วนควบและอุปกรณ์ของรถยนต์ที่ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นเชื้อเพลิง แต่ยอมรับว่าผู้ประกอบการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน ยังไม่ให้ความสำคัญหรือนำไปใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง “เราเชื่อว่าหากผู้ประกอบการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนให้คนในอาชีพที่เกี่ยวกับการให้บริการรถสาธารณะ การติดตั้งก๊าซในรถต่างๆ ได้รับการอบรมที่ถูกต้องตามมาตรฐาน ได้รับการประเมิน และรับรองสมรรถนะการทำงาน ก็จะทำให้คนที่ใช้บริการเกิดความมั่นใจ หรืออุ่นใจมากยิ่งขึ้น แต่ยอมรับว่าภารกิจของสถาบันไม่ได้เป็นภาคบังคับ แต่เป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์ จึงต้องอาศัยกลไกจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ร่วมกันใช้ประโยชน์จากสิ่งหน่วยงานภาครัฐมีอยู่และทำอยู่ ก็จะช่วยลดอัตราการสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นได้” นางสาวจุลลดา กล่าว นางสาวจุลลดา ย้ำว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถสร้างกลไก ส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการติดตั้ง การซ่อมบำรุงระบบแก๊สที่ใช้กับรถยนต์ให้ผ่านกระบวนการอบรม และรับรอง (Certified) ตามมาตรฐานอาชีพ เพื่อให้รู้ว่าคนที่ทำงานด้านนี้มีคุณภาพตามมาตรฐานการทำงานในเรื่องนั้นๆ รวมถึงสถานประกอบการก็ควรส่งเสริมให้ลูกจ้าง เข้าสู่กลไก อบรม ประเมินเพิ่มเติมความรู้ ขับเคลื่อนให้เป็นระบบ ก็จะทำให้สังคมเกิดความปลอดภัยได้มากขึ้น คนใช้บริการก็จะมั่นใจมากขึ้นว่าใช้บริการจากผู้ให้บริการที่มีมาตรฐาน แม้อุบัติเหตุอาจจะเกิดขึ้นได้จากปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ รวมถึงจิตสำนึกของคนขับ แต่สมรรถนะการทำงานเป็นสิ่งสำคัญที่ยืนยันได้มากกว่าการทำได้ ทำเป็น จากนี้จึงต้องช่วยกันนำมาตรฐานอาชีพที่มีอยู่ไปใช้ให้เป็นรูปธรรมให้มากที่สุด ซึ่งหากสนใจมาตรฐานอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการทำงานสามารถติดต่อสอบถามกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้ทุกช่องทาง รวมทั้งผ่าน Call center 063-373-3926

  • สคช. หารือร่วมกับ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ เกี่ยวกับแนวทางและแผนการจัดสอบสมรรถนะสนับสนุนการทำงานด้านการใช้ดิจิทัล (Digital Literacy)

    03.10.2567
    198 View

    นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ หารือร่วมกับ ดร.ทรายทอง พวกสันเทียะ และ ดร.วารุณี เลียววิวัฒน์ชัย รองผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ และคณะ เกี่ยวกับแนวทางและแผนการจัดสอบสมรรถนะสนับสนุนการทำงานด้านการใช้ดิจิทัล (Digital Literacy) ซึ่ง สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. ได้รับการรับรองเป็นองค์กรรับรองของสคช.ในขอบข่ายสมรรถนะสนับสนุนการทำงานด้านการใช้ดิจิทัล (Digital Literacy) เพื่อนำไปวางแผนที่จะจัดสอบในปีงบประมาณ 2568 ต่อไป โดยปัจจุบันมีผู้ที่ผ่านการทดสอบและอยู่ระหว่างขอรับหนังสือรับรองสมรรถนะ แบ่งเป็น DL1 จำนวน 282 คน และ DL2 จำนวน 204 คน รวมจำนวน 486 คน โอกาสนี้ นางสาวจุลลดา กล่าวว่า สคช.สนับสนุนและส่งเสริมให้ทุกองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคล และองค์กรให้บริการฝึกอบรม ภายใต้การรับรองของสถาบัน ได้ให้ผู้สมัครเข้าสู่การประเมินได้ลงทะเบียนการใช้งานผ่านแพลตฟอร์มอัจฉริยะ E-Workforce Ecosystem Platform หรือ (EWE) เพื่อที่จะได้สามารถเข้าใช้บริการ E-Certificate ได้อัตโนมัติ อีกทั้งยังสามารถเข้าไปฝึกพัฒนาตนเองให้มีสมรรถนะที่สูงขึ้น หรือสามารถพัฒนาตนเองในทักษะใหม่ๆ ได้อีกด้วย อีกทั้งปัจจุบัน สถาบันได้เชื่อมข้อมูลกับแอป “ทางรัฐ” เพื่อรองรับการใช้งานของผู้ที่ผ่านการประเมิน หรือผู้ที่สนใจที่จะเข้าสู่การประเมินสมรรถนะอีกช่องทางหนึ่งด้วย

  • สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ หารือ บริษัท ฟีลีเซีย (ไทยแลนด์) จำกัด เพื่อแนะนำสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการให้การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพแก่บุคลากรในสถานประกอบการ สาขาวิชาชีพอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า

    02.10.2567
    338 View

    วันที่ 2 ต.ค. 67 นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ พร้อมด้วย ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม ที่ปรึกษาคณะกรรมการสถาบัน และผู้บริหารสถาบันการอาชีวศึกษากรุงเทพมหานคร ผู้บริหารจากกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง เข้า พบ Miss Vibeke Lyssand Leirvag (Managing Director) และทีมงาน บริษัท ฟีลีเซีย (ไทยแลนด์) จำกัด เพื่อแนะนำสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการให้การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพแก่บุคลากรในสถานประกอบการ สาขาวิชาชีพอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า และ สาขาวิชาชีพบริการการศึกษาวิจัย และภาษา อาชีพครูฝึกในสถานประกอบการ ซึ่งบริษัท Felicia มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตเครื่องประดับ เป็นการผลิตที่ผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่กับประสบการณ์และฝีมือของช่างฝีมือชาวเอเชีย เพื่อผลิตชิ้นงานที่มีคุณค่าซึ่งเหมาะกับแบรนด์หรือแนวคิดตามความต้องการของลูกค้า

  • สคช. ร่วมกรมทหารสื่อสารที่ 1 ค่ายกำแพงเพชรอัครโยธิน จัดอบรมเพิ่มทักษะ ให้ทหารกองประจำการผลัด 2/2565 ได้เตรียมพร้อมต่อยอดชีวิตก่อนปลดประจำการ

    01.10.2567
    435 View

    สคช. ร่วมกรมทหารสื่อสารที่ 1 ค่ายกำแพงเพชรอัครโยธิน จัดอบรมเพิ่มทักษะ ให้ทหารกองประจำการผลัด 2/2565 ได้เตรียมพร้อมต่อยอดชีวิตก่อนปลดประจำการ นายนิธิวัชร์ ศิริปริยพงศ์ รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ พร้อมด้วย พันเอกไตรศักดิ์ ทุมเพชร รองผู้บังคับการกรมทหารสื่อสารที่ 1 กองทัพบก ร่วมมอบวุฒิบัตรการอบรมวิชาชีพ แก่ทหารกองประจำการ จำนวน 117 นาย ที่ผ่านการฝึกอบรมวิชาชีพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างกระทรวงกลาโหมและสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ทหารกองประจำการ มีโอกาสเพิ่มทักษะอาชีพ โดยมุ่งหวังให้สามารถนำไปต่อยอดการประกอบอาชีพหลังปลดประจำการได้ การฝึกอบรมวิชาชีพ จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 23-28 กันยายน 2567 ประกอบด้วย 3 หลักสูตร ได้แก่ 1.หลักสูตรฝึกอบรมช่างบำรุงรักษามอเตอร์ไซต์ ใช้เวลาอบรม 5 วัน , 2. หลักสูตรฝึกอบรมสมรรถนะสนับสนุนการทำงานด้านการใช้อีคอมเมิร์ซระดับ 2 ระดับการประยุกต์ ใช้เวลาอบรม 3 วัน และ 3.หลักสูตรฝึกอบรมอาชีพบาริสต้า ใช้เวลาอบรม 3 วัน จำนวน 2 รอบ ซึ่งได้รับความสนใจจากน้องๆทหารกองประจำการที่เลือกเข้ารับการฝึกอบรมตามความสนใจ และมีหลายคนที่มุ่งมั่นจะนำไปใช้ประกอบอาชีพหลังปลดประจำการด้วย นอกจากนี้ ทุกคนยังได้มีโอกาสเข้าใช้งานในแพลตฟอร์มอัจฉริยะด้านกำลังคน E-Workforce Ecosystem Platform ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยในการสะสมประวัติการทำงาน ผลงาน และประสบการณ์ มีช่องทางให้เข้าไปพัฒนาตนเองได้อีกในอนาคตผ่านหลักสูตรต่างๆ ในระบบ E-Training ทำให้สามารถติดตามความก้าวหน้าและทักษะที่ตนเองพัฒนาได้อีกด้วย

  • สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) โดยเชฟจากครัววันดี ในฐานะองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ ลงพื้นที่ร่วมกับเทศบาลตำบลอัมพวา จัดประเมินร้านสตรีทฟู้ดจำนวนกว่า 200 ร้าน เพื่อยกระดับมาตรฐานให้พ่อค้า แม่ค้าตลาดน้ำอัมพวา

    30.09.2567
    522 View

    สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) โดยเชฟจากครัววันดี ในฐานะองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ ลงพื้นที่ร่วมกับเทศบาลตำบลอัมพวา จัดประเมินร้านสตรีทฟู้ดจำนวนกว่า 200 ร้าน เพื่อยกระดับมาตรฐานให้พ่อค้า แม่ค้าตลาดน้ำอัมพวา หลังจากเกิดกรณีกระแสในโลกออนไลน์พ่อค้าขายลูกชิ้นทอดไม่แจ้งราคา วัตถุดิบเหมือนจะเสีย นายกฤต มีทวี รองนายกเทศมนตรีตำบลอัมพวา บอกว่าเป็นเรื่องที่ดีที่สถาบันมีการประเมินและให้การรับรองกับพ่อค้าแม่ค้าสตรีทฟู้ด เพราะจะช่วยส่งเสริมการปรุง การจัดเก็บวัตถุดิบอย่างมีมาตรฐาน ช่วยยกระดับให้ตลาดน้ำอัมพวาได้อีกทาง โดยเฉพาะทีมเชฟที่ลงพื้นที่ประเมินไม่เพียงแค่ตรวจสอบเท่านั้น แต่ช่วยให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการที่สามารถนำไปปรับปรุงพัฒนาการประกอบอาหารที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวได้ด้วย นอกจากนี้ยังเป็นการจูงใจให้คนที่ทำดีให้ได้รับรางวัล เพราะการรับรองความเป็นมืออาชีพ มีประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ ก็เป็นเสมือนรางวัลให้กับพ่อค้าแม่ค้าในพื้นที่ และอยากให้ผู้ประกอบการร้านอาหารตลาดน้ำอัมพวารักษามาตรฐานนี้ไว้เพื่อชื่อเสียง ภาพลักษณ์ที่ดีที่จะออกสู่สายตานักท่องเที่ยวทั่วโลก

  • สคช. ร่วมเฟ้นหาสุดยอดเชฟฮาลาลระดับช้างเผือกชายแดนใต้ และร่วมมอบใบประกาศนียบัตรการันตีสู่ความเป็นมืออาชีพ หนุนซอฟต์พาวเวอร์อาหารไทย (ฮาลาล)

    27.09.2567
    790 View

    สคช. ร่วมเฟ้นหาสุดยอดเชฟฮาลาลระดับช้างเผือกชายแดนใต้ และร่วมมอบใบประกาศนียบัตรการันตีสู่ความเป็นมืออาชีพ หนุนซอฟต์พาวเวอร์อาหารไทย (ฮาลาล) นายพิริยพงศ์ แจ้งเจนเวทย์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นผู้แทนสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมพิธีมอบใบประกาศนียบัตรผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรเชฟอาหารไทย (ฮาลาล) ระดับช้างเผือก ณ ห้องประชุมศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จำนวน 2 รุ่น รวม 40 คน โดยมีประกาศนียบัตรดังกล่าวเป็นการการรันตีความเป็นมืออาชีพด้านการเป็นเชฟอาหารไทยจาก 3 หน่วยงาน ได้แก่ ประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ อาชีพผู้ประกอบอาหารฮาลาล ระดับ 4 จาก สคช. , ประกาศนียบัตรจาก ศอ.บต. ร่วมกับสถาบันการอาหารไทย และประกาศนียบัตรจากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยมี พันตำรวจโทวรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการ ศอ.บต. เป็นประธานกล่าวเปิดงานและร่วมมอบใบประกาศนียบัตรของทั้ง 3 หน่วยงาน นอกจากนี้ ยังมีนายณัฐพงษ์ ธีรนันทพิชิต อาจารย์ใหญ่สถาบันการอาหารไทย พร้อมผู้แทนจากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน, มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา, สถาบันอาหารฮาลาล,มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เข้าร่วมเป็นสักขีพยานและแสดงความยินดีกับผู้สำเร็จหลักสูตรดังกล่าว โครงการนี้ไม่เพียงแต่พัฒนาทักษะอาชีพ แต่ยังเป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับคนในพื้นที่ ทั้งยังหวังว่าเชฟรุ่นใหม่เหล่านี้จะเป็นทูตวัฒนธรรมอาหารไทยฮาลาลสู่เวทีโลก การริเริ่มครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้อาหารเป็นสื่อกลางในการสร้างความเข้าใจและความร่วมมือระหว่างวัฒนธรรม ทั้งนี้ ในรุ่นที่ 3 ของหลักสูตรเชฟอาหารไทย (ฮาลาล) ระดับช้างเผือก สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) จะเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการภายใต้แผนงานบูรณาการการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โครงการยกระดับบุคลากรสู่อาชีพเชฟฮาลาลอาหารไทยชายแดนใต้ด้วยคุณวุฒิวิชาชีพอีกด้วย

  • สคช.ประชุมร่วมกับสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 4 วางแนวทางการจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ หวังให้นักศึกษาได้รับคุณวุฒิวิชาชีพและหนังสือรับรองสมรรถนะติดตัวก่อนเข้าสู่การประกอบอาชีพ

    27.09.2567
    816 View

    สคช.ประชุมร่วมกับสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 4 วางแนวทางการจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ หวังให้นักศึกษาได้รับคุณวุฒิวิชาชีพและหนังสือรับรองสมรรถนะติดตัวก่อนเข้าสู่การประกอบอาชีพ ณ ห้องไดมอนด์ 1 โรงแรม อวานี รัชดา กรุงเทพฯ ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม นายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษากรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นประธานเปิดการประชุม โดยมีนายนิธิวัชร์ ศิริปริยพงศ์ รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการประชุมร่วมกับสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 4 นำโดย ดร.อินดา แตงอ่อน ผู้อำนวยการสถาบัน พร้อมคณะ การประชุมครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และร่วมกันวางแนวทางการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ของสถาบันการอาชีวศึกษาด้วยมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ พร้อมทั้งมีการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ให้ความสอดคล้องตามมาตรฐานอาชีพ ตลอดจนแนวทางการได้รับประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ และหนังสือรับรองสมรรถนะของผู้เรียน  นอกจากนี้ ยังได้มีการแนะนำการใช้งานระบบบริการต่างๆ ภายใต้แพลตฟอร์มอัจฉริยะ E-Workforce Ecosystem Platform (EWE) ให้กับอาจารย์ในสังกัดสถาบันการอาชีวศึกษากรุงเทพมหานคร เพื่อนำไปถ่ายทอดและประชาสัมพันธ์ให้นักเรียน นักศึกษาของแต่ละวิทยาลัยเข้าไปใช้งาน ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาตนเองต่อไป

  • ดร.ณฐา จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เข้าร่วมพิธีเปิดงาน THAI SME-GP DAY 2024 มหกรรมรวมสินค้าและบริการจาก SME ที่มุ่งขยายโอกาสให้ SME เข้าถึงตลาดภาครัฐและเอกชน

    26.09.2567
    821 View

    ดร.ณฐา จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เข้าร่วมพิธีเปิดงาน THAI SME-GP DAY 2024 มหกรรมรวมสินค้าและบริการจาก SME ที่มุ่งขยายโอกาสให้ SME เข้าถึงตลาดภาครัฐและเอกชน โดยมีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธานกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นประธานในพิธีเปิด โดยมี ดร.ปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าววัตถุประสงค์ของการจัดงาน ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี อาคาร 5 นายประเสริฐ กล่าวว่า ตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมีมูลค่ากว่า 1.3-1.5 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งเปิดโอกาสให้ SME ไทยได้มีส่วนร่วมในการจัดหาสินค้าและบริการ รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุน SME ผ่านมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดความยุ่งยากและเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการจัดซื้อจัดจ้างให้กับผู้ประกอบการ SME ด้วย งาน THAI SME-GP DAY 2024 ยังมีการจัดโซนแสดงสินค้าและบริการที่หลากหลาย การบรรยายเกี่ยวกับตลาดภาครัฐการเตรียมพร้อมและการเสนอราคากับหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงการเสวนาเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ และการมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้หน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการเงินที่สนับสนุนการกขยายโอกาส SME สู่ตลาดภาครัฐ ซึ่งงานนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพ SME ไทยให้เข้มแข็งและเติบโตต่อไปอย่างมั่นคง พร้อมกับเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

  • สคช.เชิญชวนนักทรัพยากรบุคคลองค์กรต่างๆ ร่วมนำแพลตฟอร์มอัจฉริยะด้านกำลังคน EWE Platform เสริมประสิทธิภาพ และเพิ่มช่องทางพัฒนาบุคลากรภายในองค์กร มุ่งสู่การเป็น Digital HR ในงาน Digital HR Forum2024

    26.09.2567
    849 View

    สคช.เชิญชวนนักทรัพยากรบุคคลองค์กรต่างๆ ร่วมนำแพลตฟอร์มอัจฉริยะด้านกำลังคน EWE Platform เสริมประสิทธิภาพ และเพิ่มช่องทางพัฒนาบุคลากรภายในองค์กร มุ่งสู่การเป็น Digital HR ในงาน Digital HR Forum2024 โดยงาน Digital HR Forum2024 เป็น 1 ใน 4 งาน ที่จัดขึ้น ในโครงการ September Series 2024 หัวข้อ “How Thailand Continues to Foster Its Digital Economy and Society” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 กันยายน 2567 ณ ห้อง Mayfair Ballroom โรงแรมเดอะเบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ โดยมีศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวเปิดงาน และปาฐกถาพิเศษ พร้อมระบุด้วยว่าเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ให้ก้าวทันและสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของ Digital Economy เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม สร้างความตระหนักและเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนทัศนคติว่าในโลกการทำงานและการพัฒนาบุคลากรยุคใหม่ ดิจิทัลเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทเรียกว่าปฏิวัติทั้ง workplace และ workforce อีกทั้งมุ่งหวังที่จะให้เวทีนี้ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการประยุกตฺใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีร่วมกัน ทั้งหน่วยานภาครัฐและเอกชน สมาคมสมาพันธ์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคการศึกษา ขณะเดียวกันปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กล่าวด้วยว่ากระทรวงดีอีจะร่วมกับสคช. ดำเนินการเกี่ยวกับการเก็บเครดิตแบงค์ และสนับสนุนการสร้างแพลตฟอร์มที่จะตอบโจทย์ Learn to Earn และการจัดทำฐานข้อมูลกำลังคนเพื่อนำมาพัฒนาและใช้ประโยชน์ในการพัฒนากำลังแรงงานของประเทศต่อไป ทางด้าน นายนิธิวัชร์ ศิริปริยพงศ์ รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้ร่วมขึ้นเวทีในการเชิญชวนนักทรัพยากรบุคคลจากหน่วยงานต่างๆ ภายใต้หัวข้อ “Unlock HR to Drive Business Performance in Any Context” โดยได้กล่าวเชิญชวนและแนะนำเครื่องมือซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอัจฉริยะที่ สคช.จัดทำขึ้นในชื่อ E-Workforce Ecosystem Platform ซึ่งมี 6 ระบบ ประกอบด้วย 1.ระบบ E-portfolio เป็นการจัดเก็บข้อมูลของบุคคลอย่างเป็นระบบ อาทิ ข้อมูลประวัติการศึกษา การอบรม ประสบการณ์ทำงาน ทักษะที่บุคคลมีไว้ในที่เดียว 2.ระบบ Learning and Career Guidance (LCG) มีแบบประเมินทักษะ ความถนัด ของตนเองว่าสามารถเลือกอาชีพ หรือทำงานตามความถนัดได้อย่างไร 3.ระบบ E-Coupon เป็นระบบสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับการ Up-skill Re-skill New-skill หรือต้องการพัฒนาตนเองสู่การมีอาชีพที่ 2 และ 3 ต่อไป 4. ระบบ Competency Credit Bank เป็นระบบการสะสมประสบการณ์เพื่อเชื่อมโยงภาคการศึกษา 5. ระบบ Job Matching ระหว่างคนหางานและผู้ประกอบการมีประสิทธิภาพ เกิดการจ้างงานทุกระดับอย่างเป็นธรรม ผู้ประกอบการได้แรงงานมีคุณภาพ มีทักษะฝีมือตรงตามความต้องการ และ 6. ระบบบริการข้อมูลด้านกำลังคน ที่จะสามารถเห็นภาพรวมกำลังแรงงานของทั้งประเทศ เพื่อการบริการจัดการได้อย่างเป็นรูปธรรม จะเห็นได้ว่า E-Workforce Ecosystem Platform เป็นระบบที่ช่วยในการสร้างโปรไฟล์ เพื่อรองรับการเพิ่มทักษะ การมีงานทำ การศึกษาต่อได้ และยังเป็นกลไกในการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning)

  • สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ จับมือ อีอีซี ร่วมเดินหน้าพัฒนากำลังคนด้วย EWE Platform

    24.09.2567
    755 View

    สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ จับมือ อีอีซี ร่วมเดินหน้าพัฒนากำลังคนด้วย EWE Platform นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ พร้อมด้วย ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จรดปากกาลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และสำนักงานนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อส่งเสริมและพัฒนากำลังคนผ่านระบบ E-Workforce Ecosystem ดร.จุฬา กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า EWE Platform ไม่เพียงช่วยให้แรงงานสามารถพัฒนาทักษะตนเองตามมาตรฐานอาชีพเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างโอกาสให้คนในชุมชนได้ Upskill และ Reskill ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและในหลากหลายสาขาอาชีพ โดยเฉพาะการพัฒนาในพื้นที่ชุมชนของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งสามารถช่วยผลักดันการนำ EWE Platform ไปใช้พัฒนากำลังคนกลุ่มแรงงานท้องถิ่น ผ่านการลงทะเบียน E-Portfolio เพื่อเชื่อมโยงคนทำงานกับสถานประกอบการ โดยผู้ที่ได้รับคุณวุฒิวิชาชีพจากการประเมินอย่างเป็นระบบจะสามารถเพิ่มอำนาจต่อรองค่าตอบแทนและยกระดับทักษะให้ตรงตามความต้องการของตลาด นางสาวจุลลดา เสริมว่า EWE Platform มีเป้าหมายที่จะเข้าไปรองรับผู้ใช้งานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทั้งนักเรียน นักศึกษา และผู้ประกอบอาชีพอิสระ พร้อมทั้งสนับสนุนผู้ที่หลุดออกจากระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบ รวมถึงการมุ่งมั่นในการสร้างมาตรฐานอาชีพที่ทันสมัยและสอดคล้องกับแนวโน้มอาชีพใหม่ๆ เช่น Green Business และการใช้ประโยชน์จาก Carbon Credit เพื่อให้กำลังคนในพื้นที่สามารถปรับตัวและพัฒนาทักษะได้ตลอดชีวิต ทั้งนี้ EWE Platform จะช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกแรงงานที่มีทักษะตรงความต้องการ ส่งผลให้การลงทุนในพื้นที่ EEC เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การลงนาม MOU นี้เป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนาศักยภาพแรงงานของประเทศไทย ให้มีคุณวุฒิวิชาชีพที่ได้รับการยอมรับสู่มาตรฐานระดับสากล ผ่านการใช้งานแพลตฟอร์มอัจฉริยะที่เน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิตและพัฒนาทักษะการทำงานให้กับแรงงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพิ่มความสามารถในการแข่งขันทั้งในและนอกประเทศในอนาคต

  • นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิชาชีพ เข้าร่วมในการประชุมยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ Inaugural Strategic Economic Dialogue ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการค้าครั้งแรกระหว่างไทยและออสเตรเลีย

    23.09.2567
    709 View

    นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิชาชีพ เข้าร่วมในการประชุมยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ Inaugural Strategic Economic Dialogue ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการค้าครั้งแรกระหว่างไทยและออสเตรเลีย นำโดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายทิม แอร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีด้านการค้าเครือรัฐออสเตรเลีย ซึ่งจัดขึ้น ณ โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ กรุงเทพ ในการหารือระหว่างไทยและออสเตรเลีย จะมีประเด็นด้านการค้าการลงทุน พร้อมทั้งต่อยอดและเสริมสร้างโอกาสความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าการลงทุน เสริมแกร่งผู้ประกอบการ รวมถึงจะได้มีการแลกเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับความร่วมมือในการพัฒนาพลังงานสะอาด เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเน้นถึงการพัฒนากรอบ Micro-credential Framework ในสาขาสำคัญ เช่น cyber security และการท่องเที่ยว อีกทั้งยังมีการพูดคุยเรื่อง mutual recognition หรือการรับรองคุณวุฒิการศึกษาและคุณวุฒิวิชาชีพร่วมกัน โดยเฉพาะในสาขาช่างเชื่อม ผู้ประกอบอาหารไทย ผู้ดูแลผู้สูงอายุ และนวดไทย เพื่อส่งเสริมมาตรฐานการทำงานและความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล

  • นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิชาชีพ ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ Development of a Green TVET Roadmap for Workforce Development ณ ประเทศเยอรมนี

    20.09.2567
    665 View

    นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิชาชีพ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ Development of a Green TVET Roadmap for Workforce Development ณ ประเทศเยอรมนี เป็นวันที่สี่ โดยร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อการฝึกอบรมครูและความร่วมมือในภาคอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียวและการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมอภิปรายจากหลากหลายหน่วยงาน ได้แก่ Algonquin College Canada, BILT Project manager, UNESCO-UNOVOC และ Hessian Institute for Continuing Vocational Education and Training ช่วงบ่ายเข้าร่วมรับฟังข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในการนำเสนอแนวทางการสร้างเครือข่าย โดยทีม UNEVOC พร้อมทั้งร่วมสรุปผลการประชุมเชิงปฏิบัติการ รวมถึงแนวทางการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง UNEVOC, UNESCO Bangkok, OVEC และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ต่อไปในอนาคต ในการร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ Development of a Green TVET Roadmap for Workforce Development ณ ประเทศเยอรมนี ครั้งนี้ จะเป็นแนวทางในการต่อยอดการดำเนินงานของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ในการแสวงหาความร่วมมือระดับนานาชาติเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันและการสร้างการรับรู้การใช้ประโยชน์ของระบบคุณวุฒิวิชาชีพ การสร้างโอกาสสำหรับคนทำงาน โดยเฉพาะในสาชาวิชาชีพที่สร้างให้เกิดเศรษฐกิจสีเขียวทั้งในประเทศไทยและระดับโลกต่อไป

  • ดร.ณฐา จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นประธานกล่าวแสดงความยินดีและมอบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรม และประเมินสมรรถนะบุคคล โครงการยกระดับสมรรถนะกําลังคนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยมาตรฐานอาชีพ สาขาวิชาชีพหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

    20.09.2567
    530 View

    ดร.ณฐา จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นประธานกล่าวแสดงความยินดีและมอบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรม และประเมินสมรรถนะบุคคล โครงการยกระดับสมรรถนะกําลังคนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยมาตรฐานอาชีพ สาขาวิชาชีพหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและสำนักงบประมาณ โดยสอดคล้องกับแผนแม่บททางด้านอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ในแผนย่อยด้านอุตสาหกรรมและบริการ เทคโนโลยีดิจิทัล ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ สาขาวิชาชีพหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อาชีพช่างแมคคาทรอนิกส์ ระดับ 3 อาชีพช่างควบคุมหุ่นยนต์ ระดับ 3 อาชีพช่างเทคนิคระบบหุ่นยนต์ ระดับ 4 และอาชีพนักบูรณาการระบบการผลิต ระดับ 5 รวมจำนวน 30 คน ณ โรงแรมอวานีขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สคช. มหาวิทยาลัยเทคโนลีราชมงคลอีสาน โดยนายเทวิล สกุลบุญยงค์ ผู้อำนวยการศูนย์รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ กล่าวสรุปผลการดำเนินงาน ว่า โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วยการพัฒนาสมรรถนะของผู้ประกอบการและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ผ่านการฝึกอบรมทั้งการ Re-skill และ Up-skill ตามมาตรฐานอาชีพ การส่งเสริมให้ได้รับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อเป็นการการันตีคุณภาพของกลุ่มบุคคลดังกล่าว ให้สามารถนำองค์ความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ที่ได้ภายใต้โครงการไปสู่การต่อยอดการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นช่างประกอบ ติดตั้ง ซ่อมบำรุงเครื่องจักรอุตสาหกรรม ช่างติดตั้งและซ่อมบำรุงหุ่นยนต์และระบบหุ่นยนต์ วิศวกรหรือที่ปรึกษาที่ออกแบบระบบควบคุมอัตโนมัติในโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงอาจารย์ ครู ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างบุคลากรที่มีทักษะสูง ตอบสนองต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต จากนั้น ภายหลังการมอบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ ได้มีการเสวนาแนวทางการพัฒนาบุคลากรด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และรับฟังแนวทางการผลักดันการนำประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยมี ดร.มะลิ จันทร์สุนทร ผู้อำนวยการสำนักรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ สคช. เป็นผู้ดำเนินการเสวนา พร้อมด้วยวิทยากร 3 ท่าน คือ นายเทวิล สกุลบุญยงค์ ผู้อำนวยการศูนย์รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ มทร.อีสาน ,นายปิยะบุตร ยิ้มแฟน วิศวกรโครงการบริษัท เอไอที เซอร์วิส จำกัด และนายกฤษฎา เกรียงศักดิ์พงศ์ ผู้จัดการแผนกโรงงานอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ศูนย์เทคโนโลยีการผลิตและหุ่นยนต์สถาบันไทย-เยอรมัน ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการและกลุ่มอุตสาหกรรม รวมถึงนักศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในอนาคตเข้ารับฟังกว่า 100 คน

  • สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) จัดกิจกรรม CSR "แบ่งปันเพื่อการเปลี่ยนแปลง" มอบอุปกรณ์การเรียนและจัดกิจกรรมพิเศษให้แก่นักเรียนในจังหวัดกระบี่

    19.09.2567
    438 View

    สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) จัดกิจกรรม CSR "แบ่งปันเพื่อการเปลี่ยนแปลง" มอบอุปกรณ์การเรียนและจัดกิจกรรมพิเศษให้แก่นักเรียนในจังหวัดกระบี่ นายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ พร้อมด้วยนายฌ็อง-โกลต ปวงเบิฟ (H.E. Jean-Claude Poimboeuf) เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย และภริยา ร่วมกิจกรรม CSR "แบ่งปันเพื่อการเปลี่ยนแปลง" ณ โรงเรียนบ้านควนเกาะจันทร์ ตำบลโคกยาง อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ซึ่งมีการส่งมอบคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ก อุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์กีฬา เพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนสำหรับนักเรียน โดยมีนายวัฒนา ศรีสุวรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียน และคณะครูโรงเรียนบ้านควนเกาะจันทร์ เป็นผู้รับมอบ นอกจากนี้ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ยังได้จัดกิจกรรมเสริมความรู้และทักษะให้แก่นักเรียน ร่วมกับสถานประกอบการท้องถิ่นในชุมชน โดยมีการสอนการใช้คอมพิวเตอร์เบื้องต้นและการตัดผมนักเรียน ซึ่งได้รับความสนใจจากนักเรียนและคณะครูเป็นอย่างมาก กิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ในการสนับสนุนการศึกษาและสร้างโอกาสให้แก่เยาวชนในพื้นที่ห่างไกลอีกด้วย

  • ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิชาชีพ ประชุมเชิงปฏิบัติการ Development of a Green TVET Roadmap for Workforce Development ณ ประเทศเยอรมนี เป็นวันที่สาม

    19.09.2567
    429 View

    นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิชาชีพ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ Development of a Green TVET Roadmap for Workforce Development ณ ประเทศเยอรมนี เป็นวันที่สาม โดยช่วงเช้าเดินทางร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางการฝึกอบรมพนักงานก่อนเข้าปฏิบัติงานจริงของโรงแรม Maritim ทั้งนี้มีการนำเสนอแนวทางการบริหารจัดการของโรงแรม สู่การเป็นธุรกิจสีเขียว (Green Business) ด้านต่าง ๆ อาทิ ระบบการบริหารจัดการขยะ การแยกประเภทของขยะ ทำให้สามารถ recycle และจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการห้องเก็บอาหารสดซึ่งสามารถประหยัดพลังงานได้เพิ่มขึ้นเมื่อควบคุมอุณหภูมิไว้ที่ 8-10 องศาเซลเซียส และการหมุนเวียนเก็บอาหารไม่เกิน 3 วัน เพื่อให้อาหารสดใหม่อยู่เสมอ การบริหารจัดพลังงานทดแทนโดยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ผลิตพลังงานขนาด 4 เมกะวัตต์สามารถใช้ได้อย่างเพียงพอภายในโรงแรม เป็นต้น ในช่วงบ่าย ร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ ณ German Federal Institute for Vocational Education and Training (BIBB) โดยมีหัวหน้าฝ่ายต่างประเทศของ BIBB ให้การต้อนรับ พร้อมด้วยสมาคมการจัดการน้ำ การจัดการขยะ และการจัดการน้ำเสีย (DWE) ประเทศเยอรมณี รวมถึงโครงการผู้นำด้านความยั่งยืนของ BIBB ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ แนวทางการฝึกอบรมในอาชีพนักเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม การพัฒนาวิชาชีพด้านสิ่งแวดล้อม วิชาชีพด้านเทคโนโลยีด้านน้ำ รวมถึงงานการโรงแรมและการท่องเที่ยว ของประเทศเยอรมณี ร่วมกับผู้เข้าประชุมอีกด้วย

  • นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิชาชีพ พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร ร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ Development of a Green TVET Roadmap for Workforce Development ณ ประเทศเยอรมนี เป็นวันที่สอง

    18.09.2567
    509 View

    นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิชาชีพ พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร ร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ Development of a Green TVET Roadmap for Workforce Development ณ ประเทศเยอรมนี เป็นวันที่สอง โดยช่วงเช้าได้เข้าเยี่ยมชมและศึกษากระบวนการฝึกอบรมเกษตรกรในประเทศเยอรมนี ณ หอการค้าเกษตร และวิทยาลัยการเกษตร North Rhine Westphalia and College of Agriculture ซึ่งมีอาจารย์ใหญ่ของวิทยาลัยให้การต้อนรับและนำเสนอกระบวนการฝึกอบรมสำหรับเกษตรกรในประเทศเยอรมนี นอกจากนี้คณะครูและนักเรียนของวิทยาลัยการเกษตร ยังนำเยี่ยมชมการบริหารจัดการและรายละเอียดส่วนต่าง ๆ ของฟาร์มอีกด้วย ในช่วงบ่าย ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และคณะผู้บริหาร เข้าเยี่ยมชมและศึกษาการนำทักษะสีเขียวและดิจิทัลไปบูรณาการการศึกษาและฝึกอบรมในสายอาชีพ ณ หอการค้าหัตถกรรมโคเบลนซ์ โดยฝ่ายอาชีวศึกษาของหอการค้าฯ มีการนำเสนอรายละเอียดและความคิดริเริ่มเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านการดำเนินกิจกรรมสู่การใช้ดิจิทัลและความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของตนเอง รวมถึงร่วมหารือเกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายเพื่อการบูรณาการทักษะเหล่านี้เข้าสู่ระบบการศึกษาในสายอาชีพต่อไป นอกจากนี้ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ยังนำเสนอเกี่ยวกับภารกิจการดำเนินงานในปัจจุบันของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) งานตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และระบบ EWE Platform ก่อนจะเข้าชมการดำเนินงานด้านงานเชื่อม งานช่างก่อสร้างถนน งานไม้ และงานโลหะ ของหอการค้าหัตถกรรมโคเบลนซ์