ข่าวประชาสัมพันธ์

  • สคช. และ มจธ.ร่วมมือพัฒนาบุคลากรกลุ่มสมรรถนะสูง ด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ

    17.01.2567
    4,044 View

    สคช. และ มจธ.ร่วมมือพัฒนาบุคลากรกลุ่มสมรรถนะสูง ด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ นายนิธิวัชร์ ศิริปริยพงษ์ รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และคณะผู้บริหาร หารือแนวทางสร้างความร่วมมือในการพัฒนากำลังคนระหว่างสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดย รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ให้การต้อนรับ พร้อมด้วย รศ.ดร.สยาม เจริญเสียง รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายวิชาการ,ผศ.ดร.ภาณุทัต บุญประมุข รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้ ผศ.ดร.สันติ เจริญพรพัฒนา รองอธิการบดีฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์ และคณะ เพื่อสร้างความร่วมในการพัฒนากำลังคนให้มีทักษะวิชาชีพ ตอบโจทย์ความต้องการกำลังคนของประเทศและของโลกในบริบทของโลกที่เปลี่ยนไปและปูพื้นฐายของเด็กให้เพียงพอพร้อมที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงของอาชีพที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างมั่นคง โดยจะมีการบูรณาการทำงานร่วมกันในมิติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การส่งเสริมให้นักศึกษาทั้งที่กำลังศึกษาอยู่และที่จบไปแล้วได้รับคุณวุฒิวิชาชีพ การนำมาตรฐานอาชีพไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งร่วมกันพัฒนาอาชีพในอนาคต (Future skill) และ ร่วมกันเชื่อมโยงให้เกิดการบริหารจัดการฐานข้อมูลในระดับประเทศต่อไป

  • สคช. – ศาลเยาวชนและครอบครัว จังหวัดนนทบุรี เตรียมจุดประกาย พัฒนาทักษะอาชีพที่ใช่ ให้เยาวชนที่หลงผิด นำไปสู่การประกอบอาชีพในอนาคต

    12.01.2567
    4,401 View

    สคช. – ศาลเยาวชนและครอบครัว จังหวัดนนทบุรี เตรียมจุดประกาย พัฒนาทักษะอาชีพที่ใช่ ให้เยาวชนที่หลงผิด นำไปสู่การประกอบอาชีพในอนาคต นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ บรรยายพิเศษ ถึงแนวทางการปฏิบัติของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพและประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา ให้กับผู้พิพากษาสมทบกว่า 100 คน ในการประชุมผู้พิพากษาสมทบ ศาลเยาวชนและครอบครัว จังหวัดนนทบุรี โดยมีนายมนต์ชัย โพธิ์ทอง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัว จังหวัดนนทบุรี ให้การต้อนรับ สำหรับการบรรยายในครั้งนี้ เป็นการสร้างแนวทางการพัฒนาทักษะ ความรู้ และแนวทางการให้ประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ ให้เด็กและเยาวชนที่เคยก้าวพลาด ได้อบรมบ่มเพาะ เตรียมพร้อมสำหรับการประกอบอาชีพอย่างมีคุณภาพในอนาคต นางสาวจุลลดา กล่าวว่า สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. เป็นหน่วยงานที่เชื่อมโยงโลกของการศึกษากับโลกของอาชีพเข้าไว้ด้วยกัน เป็นหน่วยงานเดียวของประเทศที่สามารถออก Degree ทางอาชีพ ให้กับคนทำงานได้ และยังสามารถเทียบกลับไปยังภาคการศึกษาได้อีกด้วย ที่ผ่านมา สคช. ได้มีการทำงานร่วมกันกับกระทรวงยุติธรรมอย่างต่อเนื่อง พร้อมมีกลไกลสำคัญที่จะช่วยจุดประกายความหวังให้กับเด็กและเยาวชนที่เคยก้าวพลาด ให้มีโอกาสได้เรียนรู้ และพัฒนาทักษะเพื่อนำไปสู่การประกอบอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นชุดฝึกอบรมผ่านระบบ E-Training ที่มีกว่า 500 หลักสูตร ที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้แบบ Anywhere Anytime พร้อมกันนี้ สคช. ยังมีระบบ E-Portfolio บนแพลตฟอร์ม E-Workforce Ecosystem (EWE) ที่ส่งเสริมเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่เด็กและเยาวชนสามารถเข้าใช้งาน พร้อมเก็บสะสมหน่วยสมรรถนะผ่าน Digital Competency Credit Bank ได้ ขณะที่หลังจากนี้ก็จะมีการพัฒนาระบบแนะแนวอาชีพ และการค้นหาทักษะที่เหมาะสมให้กับเยาวชน ทั้งนี้ เห็นว่าการเปิดโอกาสให้มีอาชีพทางเลือกและเหมาะสม อาทิ ช่างสักคิ้ว ช่างแต่งหน้า ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ และการค้าขายออนไลน์ จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้กลุ่มเยาวชนที่เคยก้าวพลาด ได้สร้างโอกาสให้ตัวเองเกิดการเรียนรู้ และพัฒนาอาชีพที่ชอบและถนัด นำไปสู่การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ อีกทั้งยังสร้างโอกาสกลับสู่โลกของการศึกษาได้เมื่อต้องการต่อไป

  • อนุทิน ย้ำ 4 กระทรวง 1 องค์การมหาชน ในกำกับดูแล ต้องบูรณาการขับเคลื่อนพัฒนากำลังคนคุณภาพ รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมในอนาคต

    10.01.2567
    5,423 View

    อนุทิน ย้ำ 4 กระทรวง 1 องค์การมหาชน ในกำกับดูแล ต้องบูรณาการขับเคลื่อนพัฒนากำลังคนคุณภาพ รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมในอนาคต นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายแก่ข้าราชการกระทรวงแรงงาน และแถลงข่าวการผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพ พร้อมขยายผลความร่วมมือในการ Up Skill รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมในอนาคต ระหว่าง 4 กระทรวง และ 1 องค์การมหาชน คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงแรงงานแรงงาน และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) โดยมีนางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เข้าร่วม และนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต้อนรับ นายอนุทิน กล่าวว่า นโยบายสำคัญ คือมุ่งเน้นการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่าง 4 กระทรวง และหนึ่งองค์การมหาชน ที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแล ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักๆ ในการพัฒนากำลังคน เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ให้แรงงานไทยมีคุณภาพ รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมในอนาคต ทั้งนี้ เห็นว่าแนวทางการทำงานของกระทรวงแรงงาน และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ มีความเกี่ยวข้องกันโดยตรง จึงควรมีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการศึกษาเพียงอย่างเดียวไม่ได้ โดยสำหรับคนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา แต่มีความรู้ ความสามารถ และมีความเชี่ยวชาญเฉพาะ ซึ่งจะได้นำประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ จาก สคช. ที่เป็นการรับรองความรู้ และทักษะความสามารถนั้น ก็จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับสถานประกอบการที่จะเลือกจ้างกำลังแรงงานที่มีคุณภาพ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

  • สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมแสดงความยินดีในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 47 หนังสือพิมพ์มติชน

    09.01.2567
    5,457 View

    สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมแสดงความยินดีในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 47 หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 9 มกราคม 2566 ณ อาคารบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ นำคณะผู้บริหารสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. แสดงความยินดีเนื่องในวันคล้ายวันก่อตั้ง หนังสือพิมพ์มติชน ก้าวเข้าสู่ปีที่ 47 โดยมี นายนฤตย์ เสกธีระ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน ให้การต้อนรับและรับมอบช่อดอกไม้แสดงความยินดี นางสาววรชนาธิป กล่าวแสดงความยินดีและอวยพรให้หนังสือพิมพ์มติชน ยืนหยัดการทำหน้าที่สื่อมวลชนอย่างมีคุณภาพ สามารถเป็นสื่อที่ช่วยสะท้อนสังคมไทย ด้วยการนำเสนอข้อมูลที่ข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน พร้อมขอให้เป็นหนึ่งในกระบอกเสียงสำคัญ ในการสนับสนุนเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารของสถาบัน เพื่อเป็นการส่งเสริมให้กับผู้ที่อยู่ในอาชีพ ได้มีโอกาสเข้าสู่ระบบคุณวุฒิวิชาชีพต่อไป

  • รองนายกฯ อนุทิน ชี้ โลกอยู่ในยุค “กว่าจะเรียนจบ ความรู้ก็หมดอายุพอดี” สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ จะเป็นอีกทางเลือกที่จะสร้างโอกาสให้กำลังคนตอบโจทย์ทันต่อการลงทุนของตลาดแรงงาน

    09.01.2567
    6,411 View

    รองนายกฯ อนุทิน ชี้ โลกอยู่ในยุค “กว่าจะเรียนจบ ความรู้ก็หมดอายุพอดี” สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ จะเป็นอีกทางเลือกที่จะสร้างโอกาสให้กำลังคนตอบโจทย์ทันต่อการลงทุนของตลาดแรงงาน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะกำกับดูแลสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. กล่าวระหว่างมอบแนวทางการทำงานให้กับคณะผู้บริหารสถาบัน โดยมีนายนายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ พร้อมด้วยนางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบัน นำคณะผู้บริหารสถาบัน เข้าพบและรับมอบแนวทางการทำงานว่า สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญในการพัฒนากำลังคน ส่วนตัวรู้สึกดีใจที่ได้รับผิดชอบกำกับดูแล ซึ่งพร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการผลักดันให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานในกำกับก็จะเกิดประโยชน์ต่อกำลังคนของประเทศเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันนายอนุทิน ยังได้มอบสารถึงสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ใจความสำคัญว่า “ไม่มียุคสมัยใดที่พันธกิจของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ จะสอดคล้องกับความเป็นไปของโลกและตลาดแรงงานได้มากเท่ายุคนี้ ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนผู้คนเริ่มตั้งคำถามกับระบบการศึกษาและใบปริญญาจนมีการพูดกันว่า “กว่าจะเรียนจบ ความรู้ก็หมดอายุพอดี” และมีความต้องการแสวงหาความรู้นอกห้องเรียนไปจนถึง “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” มากขึ้น รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการยกระดับความสามารถของแรงงานไทยโดยเน้นการส่งเสริมและพัฒนาทักษะใหม่ๆ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดอย่างเป็นปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ และมีส่วนช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ มีภารกิจหลักในการให้การรับรองบุคคลด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อเปิดโอกาสให้กำลังแรงงานได้เข้าถึงการพัฒนาความรู้ ทักษะ ความสามารถในการประกอบอาชีพ และได้รับรองคุณวุฒิในระดับต่างๆ ควบคู่กันไป ด้วยภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไป ประเทศไทยกลายเป็นพื้นที่ที่จะดึงดูดการลงทุนได้ในระดับสูง โดยเฉพาะจากการเป็นศูนย์กลางเส้นทางการขนส่ง ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจและเพิ่มโอกาสการมีงานทำของประชากรไทยทุกภาคส่วน จึงต้องทำงานร่วมกันเพื่อเตรียมความพร้อมกำลังแรงงานให้มีคุณภาพตอบโจทย์การลงทุนของตลาดแรงงานสากล โดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ จะเป็นอีกทางเลือกและกลไกหลักที่จะสร้างโอกาสนั้นให้แก่ประชาชน

  • สคช.-กยท.-มอ. ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันยกระดับผู้ปฏิบัติงานด้านเพาะปลูกยางพารา 7 อาชีพ ด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ

    06.01.2567
    6,289 View

    สคช.-กยท.-มอ. ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันยกระดับผู้ปฏิบัติงานด้านเพาะปลูกยางพารา 7 อาชีพ ด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ พร้อมด้วย ผศ.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือระหว่างสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) กับการยางแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อร่วมกันพัฒนาผู้ปฏิบัติงานด้านเพาะปลูกยางพาราให้มีมาตรฐานอาชีพ โดยมี นายเพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยด้านปฏิบัติการ ศ.บัญชา สมบูรณ์สุข อาจารย์สาขานวัตกรรมการเกษตร และการจัดการ วิชาเอกพัฒนาการเกษตร คณะทรัพยากรธรรมชาติ และคณะผู้บริหารของทั้ง 3 ฝ่าย ร่วมเป็นสักขีพยาน นางสาวจุลลดา กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ มีหัวใจสำคัญคือ ทั้งสามฝ่ายมีเจตนารมณ์ที่จะร่วมมือกันส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานด้านเพาะปลูกยางพาราจำนวน 7 อาชีพ คือ อาชีพผู้ปฏิบัติงานด้านการจัดการปุ๋ยยางพารา อาชีพผู้ปฏิบัติงานด้านจัดทำแปลงต้นยางพาราพันธุ์ดี อาชีพผู้ปฏิบัติงานด้านเก็บเกี่ยวผลผลิตยางพารา อาชีพผู้ปฏิบัติงานด้านการปลูกสร้างสวนยางพารา อาชีพผู้ปฏิบัติงานด้านการแปรรูปผลผลิตยางพารา อาชีพผู้ปฏิบัติงานด้านระบบการจัดการสวนยางพาราอย่างยั่งยืน และอาชีพผู้ปฏิบัติงานด้านการตลาดผลผลิตยางพาราขั้นต้น ซึ่งเป็นไปตามที่กำหนดในมาตรฐานอาชีพ และคุณวุฒิวิชาชีพ มีความรู้ความสามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ สามารถลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มรายได้ ให้ผู้ปฏิบัติงานด้านเพาะปลูกยางพาราระดับครัวเรือนอย่างยั่งยืน สามารถจัดการสวนยางพาราได้อย่างมีมาตรฐาน และยกระดับการปฏิบัติงานสู่มาตรฐานสากล สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพันธุ์ไม้เศรษฐกิจของประเทศ ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากนี้ จะมีการเดินหน้าผลักดันให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติงานด้านเพาะปลูกยางพาราในสังกัดของ กยท. ทั่วประเทศจำนวนกว่า 1.7 ล้านคน เข้าร่วมในการฝึกอบรม พร้อมเข้าสู่การประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ สาขาวิชาชีพเกษตรกรรม สาขาเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ อาชีพผู้ปฏิบัติงานด้านเพาะปลูกยางพารา เพื่อยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงาน ให้ได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการสวนยางอย่างยั่งยืน อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และการยางแห่งประเทศไทย ได้นำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพเกษตรกรรม สาขาเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ อาชีพผู้ปฏิบัติงานด้านเพาะปลูกยางพารา ไปจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร (Smart Farmer) และร่วมพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อส่งเสริมเกษตรกรด้านยางพาราด้วยมาตรฐานอาชีพอย่างต่อเนื่อง พร้อมสร้างการยอมรับในระบบคุณวุฒิวิชาชีพ อันจะนำไปสู่การพัฒนาในอาชีพที่เกี่ยวข้องกับยางพารา ทั้งนี้ การบูรณาการความร่วมมือครั้งนี้ ยังเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปฏิบัติงานด้านเพาะปลูกยางพาราและผู้ประกอบการ ได้รับรู้ถึงประโยชน์ พร้อมสร้างการยอมรับในระบบคุณวุฒิวิชาชีพ อันจะนำไปสู่การพัฒนาในอาชีพอย่างยั่งยืน ขณะที่ภายหลังการลงนามความร่วมมือ ทั้งสามฝ่ายได้มีการหารือในประเด็นแนวทางการจัดทำมาตรฐานอาชีพ ในอุตสาหกรรมยางพารากลางน้ำ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์การส่งออกผลผลิตยางพาราไทย ซึ่งเป็นการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางขั้นกลางน้ำทั้งหมด มีบุคลากรที่เกี่ยวข้องกว่า 186,600 คน ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพและความสามารถของแรงงานในอุตสาหกรรมยางกลางน้ำ จึงต้องมีมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อให้กำลังคน มีความรู้ และทักษะ สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ทั้งนี้ แนวทางการจัดทำมาตรฐานอาชีพ สำหรับอุตสาหกรรมยางกลางน้ำทั้งระบบ ประกอบไปด้วย 7 กลุ่มอาชีพ อาทิ อาชีพผู้ปฏิบัติงานการผลิตยางแท่ง ผู้ปฏิบัติงานการผลิตน้ำยางข้น ผู้ปฏิบัติงานการผลิตยางแผ่นรมควัน (เป็นยางSTR และยางADS) ผู้ปฏิบัติงานการผลิตยางก้อนถ้วยและยางเครป ผู้ปฏิบัติงานการทดสอบคุณสมบัติยางกลางน้ำ ผู้ปฏิบัติงานการผลิตยางผสม และผู้ปฏิบัติงานด้านการตลาดอุตสาหกรรมยางกลางน้ำ จะเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้า และเป็นการเพิ่มรายได้ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศต่อไป

  • คณะผู้บริหารสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ร่วมลงนามถวายพระพร เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๖๗

    01.01.2567
    7,388 View

    คณะผู้บริหารสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ร่วมลงนามถวายพระพร เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๖๗ นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ พร้อมคณะผู้บริหารสถาบันฯ นำแจกันดอกไม้ไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี พร้อมลงนามถวายพระพร เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๖๗ ณ ศาลาสหทัยสมาคม พระบรมมหาราชวัง ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานปฏิทินหลวง พุทธศักราช ๒๕๖๗ แก่ผู้ที่มาลงนามถวายพระพร เนื่องในเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๖๗ ในวันจันทร์ ที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๗

  • สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมกลาโหม มอบของขวัญปีใหม่ในงาน “ปีใหม่ ทหารใหม่ โอกาสใหม่” ติดอาวุธทหารกองประจำการด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ

    27.12.2566
    7,494 View

    เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 นายนิธิวัชร์ ศิริปริยพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ให้เข้าร่วมในงาน “ปีใหม่ ทหารใหม่ โอกาสใหม่” ซึ่งจัดโดยกระทรวงกลาโหม ณ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม (ศรีสมาน) ซึ่งเป็นงานเปิดตัวโครงการรับสมัครทหารกองเกินเข้ารับราชการกองประจำการ โดยวิธีร้อง (กรณีพิเศษ) ด้วยระบบออนไลน์ ประจำปี 2567 โดยมีนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธานเปิดโครงการ นายสุทิน ระบุตอนหนึ่งว่า คุณวุฒิวิชาชีพ เป็นหัวใจสำคัญที่เปิดโอกาสให้ทหารที่ปลดประจำการสามารถนำความรู้ ทักษะ หลังได้รับการฝึกอบรมตามมาตรฐานอาชีพ ได้การรับรองด้วยประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ ก็สามารถนำไปต่อยอดได้ทั้งศึกษาต่อในสถาบันการศึกษา รวมถึงนำไปประกอบอาชีพได้ เพราะจากนี้ระหว่างที่อยู่ในรั้วทหาร 2 ปี เมื่อออกไปแล้วก็จะมีทักษะการทำงานที่ถนัด สามารถนำไปประกอบอาชีพอย่างยั่งยืนได้ ขณะที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพซึ่งมีความร่วมมือ กับกระทรวงกลาโหม ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้กับทหารกองประจำการ ด้วยการยกระดับความรู้ ความสามารถ และทักษะด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ เพิ่มโอกาสการมีงานทำหลังปลดประจำการ ได้ร่วมจัดนิทรรศการเพื่อให้ความรู้ด้านคุณวุฒิวิชาชีพแก่ทหารและประชาชนทั่วไป เพื่อส่งเสริมพัฒนากำลังคนให้แก่ทหารกองประจำการให้ได้รับการฝึกอบรมตามมาตรฐานอาชีพ และได้รับหนังสือรับรองสมรรถนะหรือประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้งานระบบแฟ้มสะสมงานอิเล็กทรอนิกส์ และเชื่อมโยงข้อมูลภายใต้แพลตฟอร์มอัจฉริยะในการบริหารจัดการข้อมูลด้านกำลังคนและการพัฒนาสมรรถนะเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทย (E-Workforce Ecosystem หรือ EWE) ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมการเรียนรู้รูปแบบใหม่โดยนำระบบการเรียนรู้สมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพอิเล็กทรอนิกส์ (E-Training) ซึ่งร้อยโท สมบัติ บัญชาเมฆ หรือ “บัวขาว บัญชาเมฆ” ยอดมวยไทยคนดังแห่งยุค ที่กลายเป็นนักธุรกิจที่ต่อยอดภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตความเป็นไทย ไม่ว่าจะเป็นค่ายมวย แกลลอรี่ และเจ้าของแบรนด์ผลิตภัณฑ์กีฬามวยไทยส่งออกไปยังต่างประเทศ ได้ให้ความสนใจการเรียนรู้ผ่านระบบ E-Training ของสถาบัน ในสาขาวิชาชีพการกีฬา สาขามวยไทย อาชีพครูมวยไทยเพื่อการแข่งขันและอาชีพ ระดับ 3, 4, 5 ด้วย

  • สคช. คว้ารางวัลดีเด่น Cybersecurity Supporting Awards 2023 จาก สกมช. ตอกย้ำบทบาทของหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ

    25.12.2566
    7,501 View

    สคช. คว้ารางวัลดีเด่น Cybersecurity Supporting Awards 2023 จาก สกมช. ตอกย้ำบทบาทของหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นตัวแทนสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ขึ้นรับรางวัลดีเด่น Cybersecurity Supporting Awards 2023 หน่วยงานสนับสนุนการดำเนินการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ ในการมอบรางวัล Prime Minister Awards: Thailand Cybersecurity Excellence Awards ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือ สกมช. เพื่อยกย่องหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และหน่วยงานที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์ ให้กับสังคมไทย โดยมีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานเปิดงานและมอบรางวัล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ปัจจุบันโลกเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ได้เข้ามาเป็นส่วนสำคัญของชีวิตอย่างปฏิเสธไม่ได้ ส่งผลต่อความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของรัฐ การที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เตรียมพร้อมรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ จะช่วยยกระดับขีดความสามารถทำให้ประเทศไทย เป็นประเทศที่น่าลงทุน เพิ่มโอกาสในการแข่งขันของประเทศไทยต่อไป นางสาววรชนาธิป กล่าวว่า ถือเป็นรางวัลแห่งความภาคภูมิใจ ซึ่งที่ผ่านมา สคช. ได้ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยทางด้านไซเบอร์เพื่อรองรับความก้าวหน้าทางดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง สคช. ได้มีฐานข้อมูลด้านกำลังคนขนาดใหญ่ ผ่านการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ สำหรับการเก็บรวบรวม ใช้ประมวลผล ด้วยระบบที่มีความมั่นคงปลอดภัย ซึ่งรางวัลในครั้งนี้จะเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า ทุกข้อมูลสำคัญของประชาชน จะถูกจัดเก็บไว้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ สคช. ยังได้ร่วมกับ สกมช. ในการพัฒนาบุคลากรด้าน Cyber Security ให้มีความรู้ความเข้าใจ และร่วมกันป้องกันภัยด้านไซเบอร์อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนากำลังคนให้สามารถทำงานรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้ในทุกรูปแบบ นำไปสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศต่อไป

  • ฟู้ดแพชชั่น เดินหน้าต่อ รุกสร้างมืออาชีพกลุ่มหัวหน้าครัว หัวหน้าบริการ สคช. การรันตีธุรกิจด้านอาหารได้มาตรฐานครบวงจรแห่งแรก

    21.12.2566
    7,742 View

    ฟู้ดแพชชั่น เดินหน้าต่อ รุกสร้างมืออาชีพกลุ่มหัวหน้าครัว หัวหน้าบริการ สคช. การรันตีธุรกิจด้านอาหารได้มาตรฐานครบวงจรแห่งแรก เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ มอบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ อาชีพพนักงานร้านระดับ 3 จำนวน 282 คน โดยมีตัวแทนจำนวน 6 คนจากกลุ่มหัวหน้าบริการ (Service Head) และหัวหน้าครัว (Kitchen Head) ที่กระจายอยู่ในร้านบาบีคิว พลาซ่า กว่า 150 สาขาทั่วประเทศของบริษัทฟู้ดแพชชั่น จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจด้านอาหารชั้นนำ โดยมีคุณนาทีรัตน์ บุญรัตน์ ประธานบริหารสายงาน-ทรัพยากรบุคคลและหน่วยพีเพิลคอนเน็ค บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด ได้กล่าวถึงที่มาของโครงการ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ มีภารกิจในการรับรองความรู้ ความสามารถของผู้ประกอบอาชีพ สู่ความเป็น “มืออาชีพตัวจริง” ด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ สร้างความภาคภูมิใจ สร้างความผูกพันของบุคลากรในองค์กร ทั้งยังเพิ่มความเชื่อมั่นของนายจ้าง ความเชื่อมั่นของผู้รับบริการ โดยสถาบันฯ มีความร่วมมืออย่างต่อเนื่องกับ บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด สร้างหลักสูตรการฝึกงานให้กับร้านบาบีคิว พลาซ่า ให้ได้สะสมความรู้ ทักษะ ความสามารถ จนนำไปสู่การได้รับคุณวุฒิวิชาชีพ มีการนำร่องรุ่นแรกจำนวน 22 คน ที่ได้รับคุณวุฒิวิชาชีพ ผู้ช่วยผู้จัดการร้านไปก่อนหน้านี้ นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวว่า “ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจ การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพในกลุ่มพนักงานหัวหน้าครัว (Kitchen Head) และหัวหน้าบริการ (Service Head) ให้ได้รับประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ อาชีพพนักงานร้าน คุณวุฒิวิชาชีพระดับ 3 นั้น เป็นการการันตีว่ามีสมรรถนะเป็นมืออาชีพตัวจริง สามารถบริการลูกค้าเกิดความพึงพอใจสูงสุด ทั้งยังเปิดโอกาสสร้างความก้าวหน้าในอาชีพซึ่งนอกจากความก้าวหน้าที่ บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด แล้ว ยังเพิ่มโอกาสในการศึกษาต่อสามารถเทียบโอนหน่วยกิต รวมทั้งสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน สินเชื่อจากสถาบันการเงินที่มีความร่วมมือกับสถาบันฯ อย่างเช่น ธนาคารออมสิน อีกด้วย คุณนาทีรัตน์ บุญรัตน์ ประธานบริหารสายงาน-ทรัพยากรบุคคลและหน่วยพีเพิลคอนเน็ค กล่าวว่า “สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นสถาบันที่รับรองความสามารถให้คนในหลากหลายอาชีพ นอกจากเรื่องคุณวุฒิการศึกษาแล้ว คุณวุฒิวิชาชีพเป็นการการันตีมืออาชีพตัวจริงสามารถเทียบเคียงคุณวุฒิทางการศึกษา วันนี้เป็นความสำเร็จในการรับรองของคุณวุฒิวิชาชีพ อาชีพพนักงานร้านระดับ 3 ซึ่งต่อไปเรากำลังจะรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ อาชีพผู้จัดการร้านระดับ 4, 5 ต่อไป ซึ่งเรามีความภูมิใจมากที่สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้ธุรกิจอาหารที่อื่นๆ มีความความต้องการที่จะรับรองบุคลากรในองค์กรเพื่อได้รับคุณวุฒิวิชาชีพ”

  • “สคช. ขอสวัสดีปีใหม่ 2567 และ งดให้ งดรับ” ของขวัญทุกเทศกาล

    21.12.2566
    6,509 View

    งดรับของขวัญ จากบุคคล หรือหน่วยงานภายนอก โดยขอรับความปรารถนาดี ผ่านบัตรอวยพร หรือสื่อออนไลน์

  • สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ หนุนอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมและงานพื้นบ้านท้องถิ่น ร่วมยกระดับกำลังคนด้าน Soft Power ให้การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพยอดฝีมือในงาน OTOP City 2023

    20.12.2566
    6,938 View

    สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ หนุนอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมและงานพื้นบ้านท้องถิ่น ร่วมยกระดับกำลังคนด้าน Soft Power ให้การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพยอดฝีมือในงาน OTOP City 2023 20 ธันวาคม 2566 ณ แกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีมอบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ ให้กับผู้ประกอบการ OTOP ที่ผ่านการอบรมภายใต้โครงการ ผ้าไทยใส่ให้สนุก ในงาน OTOP City 2023 ที่ผ่านการประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ สาขาวิชาชีพอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรมและงานพื้นบ้าน ในสาขาผ้าทอ และสาขาเครื่องจักสาน รวมถึงสาขาวิชาชีพการออกแบบและสร้างสรรค์ สาขาออกแบบแฟชั่น จำนวน 19 คน จากการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญคณะทำงานผ้าไทยใส่ให้สนุก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับ สร้างโอกาส สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการชุมชนท้องถิ่น รวมถึงยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ของไทย สู่สายตาชาวโลก สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์งานฝีมือโดยคนไทยมืออาชีพ พร้อมส่งเสริม Soft Power ตามแนวนโยบายของรัฐบาล นายสุทธิพงษ์ ได้กล่าวแสดงความยินดี พร้อมระบุว่า จัดการประเมินโดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ซึ่งถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับ สร้างโอกาส สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับผู้ผลิต ผู้ประกอบการ รวมถึงยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ของไทยที่ได้มาตรฐาน จากคนคุณภาพให้ได้การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ สามารถสะท้อนไปถึงคุณภาพสินค้าและบริการ ที่มีคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ทำให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชน ให้มีความสามารถในการบริหารจัดการและพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน อันจะนำไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจฐานราก และการรับรองคุณวุฒิทางวิชาชีพ ซึ่งเทียบได้กับคุณวุฒิทางการศึกษา ยังเป็นการเพิ่มโอกาสทางสังคมให้กับผู้ที่ขาดโอกาส แต่มีฝีมือให้ได้รับการยอมรับ มีโอกาสเติบโตในเส้นทางอาชีพด้วย นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้มอบป้ายมืออาชีพให้กับผู้ที่ผ่านการประเมินฯ ทั้ง 19 คน ณ อาคารชาเลนเจอร์ พร้อมกล่าวว่า ที่ผ่านมาสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพได้มีการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพในสาขาวิชาชีพการออกแบบและสร้างสรรค์ และสาขาวิชาชีพอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรมและงานพื้นบ้านมาแล้วกว่า 100 คน แต่โครงการนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนากำลังคนด้าน soft power ในชุมชนและท้องถิ่น โดยการอบรมต่อยอดจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งหลายพื้นที่มีผู้ที่มีฝีมือไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ OTOP และงานออกแบบต่างๆ ก่อให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ส่งเสริมคุณค่า soft power ของไทย คนเหล่านี้ควรได้รับการยกย่อง และส่งเสริมพัฒนาคุณภาพนำไปสู่การแข็งขันในตลาดต่างประเทศได้ อย่างงานจักสานผลิตภัณฑ์สานหวาย และไม้ไผ่ จ.สิงห์บุรี ด้วยทักษะงานฝีมือที่ปราณีตสามารถนำไม้ไผ่มูลค่าลำละ 100 บาท มาผลิตกระเป๋าสร้างรายได้สูงถึง 4 แสนบาท แต่ขาดผู้สืบทอด จึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญและสถาบันพร้อมให้การสนับสนุนอันจะนำไปสู่การส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ได้ร่วมอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านท้องถิ่นไทยให้ยังอยู่ และยังสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนด้วย สำหรับผู้ที่ได้รับประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ ทั้ง 19 คน เป็นผู้ประกอบการจาก จังหวัดชัยภูมิ สิงห์บุรี สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช อุตรดิตถ์ และกาฬสินธุ์ ประกอบไปด้วย สาขาวิชาชีพการออกแบบและสร้างสรรค์ สาขาออกแบบแฟชั่น อาชีพนักออกแบบแฟชั่นเสื้อผ้า ระดับ 5 สาขาวิชาชีพอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรมและงานพื้นบ้าน สาขาเครื่องจักสาน อาชีพผู้ผลิตเครื่องจักสานสำหรับงานอนุรักษ์ ระดับ 5 ผู้ผลิตเครื่องจักสานร่วมสมัย ระดับ 6 รวมถึงสาขาผ้าทอ สาขาผ้าทอ อาชีพผู้ผลิตผ้าทอเทคนิคพื้นฐาน ระดับ 5 อาชีพผู้ผลิตผ้าทอเทคนิคขิด เทคนิคยก เทคนิคจก เทคนิคผสมผสาน เทคนิคมัดหมี่ และเทคนิคยกดอก ในระดับ 6 ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องเริ่มตั้งแต่การมีทักษะความรู้พื้นฐาน ทั้งการการเตรียมวัสดุอุปกรณ์ และเครื่องมือสำหรับการผลิดและ ออกแบบ ความเข้าใจต่อเรื่องสัดส่วน สี พื้นผิว รูปร่าง การประยุกต์ ดัดแปลง ผสมผสานเทคนิค การตรวจสอบงาน ไปจนถึงสามารถแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้อง โดยใช้เทคนิควิธีการที่ถูกต้องตามมาตรฐานได้อย่างมืออาชีพ

  • สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ผนึก 3 กระทรวง กลาโหม-อว.-ศึกษาธิการ ติดอาวุธทหารกองประจำการ ยกระดับความรู้ ความสามารถ และทักษะด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ เพิ่มโอกาสการมีงานทำหลังปลดประจำการ

    19.12.2566
    6,778 View

    สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ผนึก 3 กระทรวง กลาโหม-อว.-ศึกษาธิการ ติดอาวุธทหารกองประจำการ ยกระดับความรู้ ความสามารถ และทักษะด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ เพิ่มโอกาสการมีงานทำหลังปลดประจำการ 19 ธันวาคม 2566 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ เรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้กับทหารกองประจำการ ระหว่างสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. กระทรวงกลาโหม กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยมีนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมเป็นสักขีพยาน นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งเป็นผู้ลงนามร่วมกับ พลเอกสนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวง อว. ระบุว่า ความร่วมมือในครั้งนี้มีความมุ่งหวังให้ทหารกองประจำการได้รับการพัฒนาความรู้ ความสามารถ และทักษะในการปฏิบัติงาน โดยใช้นวัตกรรมการเรียนรู้รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ในการพัฒนาตนเองตามความสมัครใจ สามารถเก็บสะสมหน่วยสมรรถนะการเรียนรู้จัดเก็บในแฟ้มสะสมผลงานอิเล็กทรอนิกส์ (E-Portfolio) และนำไปสู่การได้รับหนังสือรับรองสมรรถนะหรือประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพต่อไป นอกจากนี้ยังจะได้มีการพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ให้ทหารกองประจำการอย่างมีประสิทธิภาพ เสมือนการติดอาวุธทางทักษะในการปฏิบัติงานตามมาตรฐานอาชีพ เป็นการสร้างโอกาสในการทำงาน สร้างรายได้หลังปลดประจำการ รวมถึงเพิ่มโอกาสในการเข้าสู่ระบบการศึกษาได้เมื่อต้องการ นายสุทิน กล่าวว่า การลงนามในวันนี้ ถือเป็นการเดินหน้าปรับค่านิยมของสังคม 2 ฝ่าย คือประชาชนที่มองว่า 2 ปี ของการเป็นทหารกองประจำการ เป็นการสูญเสียโอกาส ให้กลายเป็น 2 ปี ของการเพิ่มศักยภาพของชีวิต ขณะที่ฝ่ายกองทัพ จากการฝึกเยาวชนเพื่อรบ ให้เปลี่ยนเป็นภาพของเยาวชนที่ได้รับการพัฒนา โดยครูฝึกที่มีศักยภาพ สิ่งสำคัญในความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะช่วยให้กลุ่มทหารกองประจำการ ได้รับการฝึกอบรมตามมาตรฐานอาชีพ ได้การรับรองด้วยประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งจะถือเป็นใบนำทางให้ทหารที่ปลดประจำการได้นำไปประกอบอาชีพ หรือต่อยอดไปศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาต่อไปได้ สำหรับสาระสำคัญความร่วมมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้กับทหารกองประจำการนั้น เป็นการเปิดโอกาสให้ทหารกองประจำการสามารถใช้เวลาระหว่างประจำการในขณะที่ว่างเว้นจากภารกิจให้สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาและการพัฒนาทักษะวิชาชีพได้ตามความสมัครใจ โดยกระทรวงกลาโหมจะจัดสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการเรียนรู้ อาทิ ศูนย์การศึกษาในค่ายทหารต่าง ๆ และเครือข่ายการเรียนรู้โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งจัดให้มีผู้จัดการการเรียนรู้คอยให้คำแนะนำ ขณะที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ จะดำเนินการส่งเสริม พัฒนากำลังคนให้แก่ทหารกองประจำการให้ได้รับการฝึกอบรมตามมาตรฐานอาชีพ และได้รับหนังสือรับรองสมรรถนะหรือประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้งานระบบแฟ้มสะสมงานอิเล็กทรอนิกส์ และเชื่อมโยงข้อมูลภายใต้แพลตฟอร์มอัจฉริยะในการบริหารจัดการข้อมูลด้านกำลังคนและการพัฒนาสมรรถนะเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทย (E-Workforce Ecosystem หรือ EWE) ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมการเรียนรู้รูปแบบใหม่โดยนำระบบการเรียนรู้สมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพอิเล็กทรอนิกส์ (E-Training) เพื่อการพัฒนาความรู้ ความสามารถและทักษะในการปฏิบัติงานตามมาตรฐานอาชีพ โดยกระทรวงศึกษาธิการ และ อว. จะเป็นหน่วยจัดการศึกษา หรือหลักสูตรฝึกอบรมทั้งระยะสั้นและต่อเนื่องให้กับทหารกองประจำการ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการเปิดโอกาสให้ชายไทยที่เสียสละเข้ารับราชการทหารกองประจำการที่นอกจากจะทำหน้าที่รับใช้ชาติแล้ว ยังสามารถใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ด้วยการพัฒนาความรู้ และทักษะในการประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นต้นทุนของทรัพยากรทุนมนุษย์ที่มีศักยภาพต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติต่อไป

  • สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เดินเครื่องเชิงรุก หนุนนโยบาย Soft Power ให้การรับรองกำลังคนที่มีฝีมือรักษาศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ ผ่านงาน OTOP City 2023

    18.12.2566
    7,880 View

    สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เดินเครื่องเชิงรุก หนุนนโยบาย Soft Power ให้การรับรองกำลังคนที่มีฝีมือรักษาศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ ผ่านงาน OTOP City 2023 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตรวจเยี่ยมการประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ ในสาขาวิชาชีพอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรมและงานพื้นบ้าน สาขาผ้าทอ และสาขาเครื่องจักสาน รวมถึงสาขาวิชาชีพการออกแบบและสร้างสรรค์ สาขาออกแบบแฟชั่น ซึ่งนางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ นำทีมสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. และผู้เชี่ยวชาญจากคณะทำงานผ้าไทยใส่ให้สนุก เข้าให้การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพถึงในงาน OTOP City 2023 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับ สร้างโอกาส สร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับผู้ผลิต ผู้ประกอบการ รวมถึงยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ของไทยที่ได้มาตรฐานผลิตจากคนคุณภาพที่ได้การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ อันจะส่งผลให้เกิดชื่อเสียง และดึงดูดความสนใจ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์งานฝีมือโดยคนไทยส่งเสริม Soft Power ตามแนวนโยบายรัฐบาล นางสาวจุลลดา กล่าวว่า สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เดินเครื่องเชิงรุกจัดการประเมินให้กับผู้ผลิตสินค้าหัตถกรรมพื้นบ้าน ผ้าทอ เครื่องจักสาน และออกแบบแฟชั่น รวมจำนวน 19 คน จากท้องถิ่นชุมชน ถึงในงาน OTOP City และเป็นครั้งแรกที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพได้จัดการประเมินเองโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากคณะทำงานผ้าไทยใส่ให้สนุก เข้าร่วมการประเมิน มีส่วนสำคัญในการพัฒนาคนด้าน soft power ในชุมชนและท้องถิ่น เพื่ออบรมต่อยอดจากรุ่นสู่รุ่น พร้อมส่งเสริมให้ได้รับรองคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งในหลายพื้นที่มีผู้ที่มีฝีมือ ในการสืบสานงานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นไทย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์โอท็อป และงานออกแบบต่างๆ สร้างให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อการส่งเสริมคุณค่า soft power ตามแนวนโยบายรัฐบาล ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการยกระดับคุณภาพกำลังคนในอาชีพไม่ว่าจะเป็น อาชีพทอผ้า ออกแบบแฟชั่นเสื้อผ้า และจักสาน ให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมีมาตรฐานและได้การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ จากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเท่านั้น แต่ยังเป็นการสืบสาน ส่งต่อศิลปวัฒนธรรมที่สวยงามจากรุ่นต่อรุ่น สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในชุมชน ให้เป็นที่ประจักษ์ในระดับสากลต่อไป

  • สคช. ร่วมเวทีเสวนาวันผู้ย้ายถิ่นสากล เติมเต็มช่องว่างความเท่าเทียม ให้กลุ่มแม่บ้านหรือลูกจ้างทำงานบ้าน ด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ

    17.12.2566
    6,867 View

    สคช. ร่วมเวทีเสวนาวันผู้ย้ายถิ่นสากล เติมเต็มช่องว่างความเท่าเทียม ให้กลุ่มแม่บ้านหรือลูกจ้างทำงานบ้าน ด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมเวทีเสวนาเนื่องในวันผู้ย้ายถิ่นสากล (International Migrants Day) ปี 2566 จัดโดยคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และภาคีเครือข่าย ร่วมกับกองคุ้มครองแรงงานนอกระบบ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการคุ้มครองลูกจ้าง ที่ทำงานบ้านได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่าเทียมกับลูกจ้างในอาชีพอื่นๆ โดยมี นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงาน พร้อมปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “กระทรวงแรงงานกับการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน สุขภาวะที่เท่าเทียม” ท่ามกลางผู้บริหารหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับแรงงาน กลุ่มแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติที่ทำอาชีพคนทำงานบ้าน เข้าร่วมในงาน ในการนี้นางสาววรชนาธิป ได้ร่วมเวทีเสวนาในหัวข้อ “ลูกจ้างทำงานบ้าน : คุ้มครอง ส่งเสริม พัฒนา บาทบาทความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ในสังคมไทย” กับผู้แทนปลัดกระทรวงแรงงาน นางสิริวัน ร่มฉัตรทอง เลขาธิการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย นายกอบ เสือพยัคฆ์ อดีตประกันสังคมจังหวัดขอนแก่น นายประทีป โมวพรหมานุช เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน และนาวสาวภัคชนก พัฒนถาบุตร ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ เพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) โดย ดร.กฤษฎิ์ กาญจนกิตติ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินรายการ นางสาววรชนาธิป กล่าวในการเสวนาว่า จากข้อมูลในประเทศไทยมีกำลังแรงงานที่ประกอบอาชีพแม่บ้าน หรือทำงานบ้านอยู่ประมาณ 317,224 คน โดยกว่า 203,000 คน เป็นคนไทย ชนกลุ่มน้อยที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยอีกกว่า 5,000 คน และอีกกว่า 109,071 คน เป็นแรงงานข้ามชาติจากประเทศเมียนมา ลาว และกัมพูชา ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ และการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง และอาจไม่สามารถเข้าถึงการคุ้มครองทางสังคมและสิทธิขั้นพื้นฐานได้ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของกำลังแรงงานกลุ่มนี้ จึงได้มีการดำเนินการในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำมาตรฐานอาชีพผู้สรรหาแรงงานข้ามชาติ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมถึงให้ความสำคัญกับจริยธรรม ความรับผิดชอบต่อสังคม และความเห็นอกเห็นใจเกี่ยวกับการทำงานของแรงงานข้ามชาติอีกด้วย นอกจากนี้ สคช. ยังได้ร่วมกับ IOM เพิ่มเติมความรู้ให้กับแรงงานข้ามชาติ มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การจัดอบรมเพิ่มทักษะให้กับช่างก่ออิฐ ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า อาชีพแม่บ้านในโรงแรม (Housekeeper) และอาชีพแม่บ้าน เพื่อให้ได้รับการรับรองจากระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งจะเป็นหนึ่งกลไกสำคัญในการช่วยส่งเสริมให้แรงงานต่างด้าวได้รับการพัฒนาทักษะที่เหมาะสม สร้างโอกาสในการเคลื่อนย้ายผ่านช่องทางที่ถูกกฎหมาย และสามารถนำไปใช้ประกอบการทำงาน ภายหลังกลับไปยังภูมิลำเนาได้ต่อไป

  • สคช. ร่วมเวทีเสวนา ปลุกโอกาสกำลังแรงงานของประเทศ หลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19

    15.12.2566
    7,668 View

    สคช. ร่วมเวทีเสวนา ปลุกโอกาสกำลังแรงงานของประเทศ หลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมเวทีสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษาแผนงานวิจัยการวางแผนและพัฒนากำลังแรงงานหลังวิกฤตโควิด-19 ซึ่งจัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย หรือ TDRI เพื่อนำเสนอผลการศึกษาโครงการวิจัยการวางแผนและพัฒนากำลังแรงงาน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาด ทั้งต่อตลาดแรงงาน เศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงสิ่งที่ส่งผลต่อการจ้างงานและการเข้าถึงระบบสาธารณสุขของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ โดยมี ดร.ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร หัวหน้าทีมวิเคราะห์ตลาดแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เป็นผู้นำเสนอผลการวิจัย ในการนี้ นางสาวจุลลดา ได้ร่วมเวทีเสวนาในหัวข้อ “ปลุกโอกาสหลังวิกฤตโควิด-19 สร้างแรงงานเท่าทันการเปลี่ยนแปลง” รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ดร.หลุยส์ คริสธานินทร์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ และ Professor Joshua D.Hawley Center for Human Resource Research, Ohio State University, USA โดยมี ดร.นครินทร์ อมเรศ ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างองค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ นางสาวจุลลดา กล่าวในการเสวนาว่า สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. ทำหน้าที่เชื่อมโลกของ Demand side และ Supply side เข้าด้วยกัน โดยมองกำลังแรงงานออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มแรงงานใหม่ ที่กำลังจะจบการศึกษา โดยได้มีการทำงานร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มาตลอด โดยพบว่านักศึกษาใช้เวลาอยู่ในระบบการเรียนมากเกินไป จะทำอย่างไรให้เกิดการเรียนฝึกงานในสถานประกอบการ แล้วเก็บประสบการณ์การเรียนรู้ในเชิงอาชีพได้ สคช. จะเป็นกลไกสำคัญ ที่ทำให้คนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา สามารถเก็บสะสมความรู้แล้วกลับเข้ามาในระบบของการศึกษาได้เมื่อต้องการ ซึ่งเมื่อมีกำลังคนเข้าสู่ตลอดแรงงานอย่างรวดเร็ว จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ส่วนอีกหนึ่งกลุ่ม ที่เป็นกำลังแรงงานเดิม มีการทำงานในหน่วยงาน สถานประกอบการ และผู้ประกอบอาชีพอิสระ จะต้องมีการปรับตัวเพื่อให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งการนำดิจิทัล ในการทำงาน รวมถึงการพัฒนา Soft Skill ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้กำลังแรงงานมีการปรับตัว ผ่านระบบการเรียนรู้ที่สามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว โดย สคช. มีระบบ E-Training ที่มีหลักสูตรการฝึกอบรมมากกว่า 500 หลักสูตร อาทิ บาริสต้า ผู้ดูแลผู้สูงอายุ E-Commerce และ Smart Farmer เป็นต้นซึ่งมีผู้เข้าใช้งานเป็นจำนวนมากในช่วงที่เกิดการล็อกดาวน์ ไม่เพียงตอบโจทย์การเรียนรู้ Anytime Anywhere แต่ยังนำไปสู่การสร้างอาชีพสำรองรองรับในช่วงเกิดวิกฤตได้ ขณะเดียวกันก็มี E-Workforce Ecosystem Platform (EWE) แพลตฟอร์มสำคัญที่ขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งมีการเชื่อมโยงข้อมูลด้านกำลังแรงงานกับอีกกว่า 50 หน่วยงานระดับประเทศมาแล้ว