ข่าวประชาสัมพันธ์

  • สคช. ร่วมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เปิดตัวมาตรฐานอาชีพสาขาพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์และงานระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม รองรับการใช้พลังงานของประเทศอย่างยั่งยืน

    02.04.2567
    801 View

    สคช. ร่วมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เปิดตัวมาตรฐานอาชีพสาขาพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์และงานระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม รองรับการใช้พลังงานของประเทศอย่างยั่งยืน 2 เมษายน 2567 ณ ห้องออดิทอเรียม สำนักงานใหญ่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ นำคณะผู้บริหารสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เข้าร่วมงานประชาสัมพันธ์มาตรฐานอาชีพ สาขาวิชาชีพพลังงานและพลังงานทดแทน สาขาพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ และสาขางานระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ซึ่งจัดโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ในฐานะองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ เพื่อเป็นเผยแพร่ข้อมูล และการประชาสัมพันธ์ให้เห็นความสำคัญของการให้การรับรองบุคลากร ในสาขาอาชีพดังกล่าว โดยมี นางสาวพนา สุภาวกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการพัฒนาองค์กร ทำการแทนรองผู้ว่าการบริหาร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวเปิดงาน ท่ามกลางตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ที่เกี่ยวข้องในสาขาพลังงานและพลังงานทดแทน นางสาวจุลลดา ได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อความสำคัญของมาตรฐานอาชีพ เพื่อยกระดับกำลังคนของประเทศโดยระบุว่า สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ มีการจัดทำมาตรฐานอาชีพสำหรับคนในอาชีพ ที่จะช่วยยกระดับสมรรถนะให้กับแรงงานที่หลุดจากภาคการศึกษาให้ได้รับการรับรองตามมาตรฐานอาชีพ ขณะที่ผู้ที่จะก้าวเข้าสู่โลกของการทำงาน ก็จะสามารถวัดได้ว่าเราอยู่ตรงไหนของอาชีพ อันจะนำไปสู่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สคช. เป็นหน่วยงานที่ให้คุณวุฒิกับคนในอาชีพ หรือปริญญาอาชีพ โดยมีกรอบคุณวุฒิกำหนดความสามารถไว้ 8 ระดับ เป็นกลไกสำคัญที่สามารถเชื่อมโลกของการศึกษา และโลกของอาชีพเข้าไว้ด้วยกัน ผ่านการสั่งสมประสบการณ์การเรียนรู้ตลอดเวลาในสายงาน ที่สามารถเทียบโอนการสั่งสมสมรรถนะไปสู่ภาคการศึกษาได้ ด้วยระบบการวัด การประเมิน เพื่อยืนยันว่ามีความรู้และทักษะเพียงพอที่จะกลับสู่ภาคการศึกษา หรือเพื่อก้าวไปสู่ระดับตำแหน่งงานที่สูงขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน มาตรฐานอาชีพ จากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้ถูกส่งต่อไปยังสถานศึกษา โดยเฉพาะ สถาบันอาชีวศึกษาทั่วประเทศ ไปปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกัน เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา ที่จบจากหลักสูตรที่ได้รับการรับรองหลักสูตรดังกล่าว ได้วุฒิการศึกษา และรับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพไปพร้อมกัน ขณะที่สถานประกอบการ ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ได้นำมาตรฐานอาชีพไปจัดทำเป็น In House Training เพื่อพัฒนาบุคลากรในสถานประกอบการ นำไปสู่การยกระดับตำแหน่งงานที่สูงขึ้นต่อไป นอกจากนี้ยังมีปาฐกถาพิเศษ จากนายฉัตรชัย มาวงศ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรมและก่อสร้างโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ Powering the Future : EGAT’s Pioneering Approach to Renewable Energy Intergration” และการเสวนาในหัวข้อ มาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพด้านพลังงานและพลังงานทดแทน เพื่อยกระดับกำลังคนด้านอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้า โดยมีนางสาวโอมิกา บุญกัน ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นตัวแทนสถาบัน ในการเสวนา พร้อมกับ ดร.รุ่งโรจน์ สงค์ประกอบ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระเจอเกล้าธนบุรี ดร.ไพโรจน์ ภานุกาญจน์ SVP-Innovation บริษัทกันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) และนายปัญญา พ่วงลา วิศวกรระดับ 11 ผู้ช่วยผู้ว่าการบำรุงรักษา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมในการเสวนา สำหรับ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ได้ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และผู้เชี่ยวชาญในอาชีพ จัดทำมาตรฐานอาชีพในสาขาวิชาชีพพลังงานและพลังงานทดแทน โดยในปี 2563 ได้ร่วมกันจัดทำมาตรฐานอาชีพ สาขางานระบบผลิตไฟฟ้า ต่อมาปี 2564 กฟผ. เป็นองค์กรรับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ ในสาขาดังกล่าว พร้อมขยายขอบข่ายการจัดทำมาตรฐานอาชีพ ในสาขาระบบส่งพลังงานไฟฟ้า และสาขางานผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ จนกระทั่งปี 2566 ได้เดินหน้าจัดทำมาตรฐานอาชีพในสาขาพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ อาชีพผู้ปฏิบัติงานเดินเครื่องและบำรุงรักษา โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ระดับ 4-5 ผู้ปฏิบัติงานบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้า โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และผู้ปฏิบัติงานบำรุงรักษา ระบบไฟฟ้าต่อเนื่องในระดับ 5 ขณะที่ในสาขางานระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ในอาชีพผู้ปฏิบัติงานบำรุงรักษา อุปกรณ์ไฟฟ้าของกังหันลม และอุปกรณ์ทางกลของกังหันลม ในระดับที่ 5 เพื่อรองรับการสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศต่อไป

  • สคช. ร่วมเผยแพร่แนวทางปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับกรอบคุณวุฒิวิชาชีพในงานสัมมนาร่วมกับ Japan University Accreditation Association และ Taiwan Assessment and Evaluation Association

    01.04.2567
    725 View

    สคช. ร่วมเผยแพร่แนวทางปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับกรอบคุณวุฒิวิชาชีพในงานสัมมนาร่วมกับ Japan University Accreditation Association และ Taiwan Assessment and Evaluation Association สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เชิญ น.ส. จุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพไปบรรยายเกี่ยวกับกรอบคุณวุฒิวิชาชีพ และการพัฒนากำลังคนด้วยมาตรฐานอาชีพ ในฐานะแนวทางปฎิบัติที่ดีในงาน 2024 International Staff Exchange Program โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาจาก Japan University Accreditation Association และ Taiwan Assessment and Evaluation Association

  • TPQI – HRDK เตรียมขยายแนวทางความร่วมมือ ยกระดับแรงงานไทยที่ทำงานในสาธารณรัฐเกาหลี ด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ

    27.03.2567
    926 View

    TPQI – HRDK เตรียมขยายแนวทางความร่วมมือ ยกระดับแรงงานไทยที่ทำงานในสาธารณรัฐเกาหลี ด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. นำโดย นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และนายนิธิวัชร์ ศิริปริยพงศ์ รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ หารือร่วมกับ Mr. Lim Jaegeum Commissioner of the Environment and Labor Committee of the National Assembly และผู้อำนวยการ Human Resources Development Service of Korea (HRDK) สังกัดกระทรวงการจ้างงานและแรงงาน เพื่อหารือถึงแนวทางการขยายความร่วมมือระหว่างสองประเทศ และสร้างการยอมรับในประสบการณ์ และความสามารถของแรงงานไทย นางสาวจุลลดา กล่าวว่า สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และ HRDK ได้มีความร่วมมือในการพัฒนากำลังคนอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ของทั้งสองประเทศในกรอบ MOU on Mutual Recognition of Skills and Professional Qualifications โดยวางแผนสนับสนุนให้ผู้ที่ได้รับคุณวุฒิวิชาชีพ มีโอกาสเพิ่มขึ้นในการไปทำงานที่สาธารณรัฐเกาหลี โดยลดขั้นตอนการทดสอบหรือมีเงื่อนไขในการคัดเลือกเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตามสถาบัน คาดหวังว่าอยากให้สถานประกอบการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ของสาธารณรัฐเกาหลี ได้มีการออกเอกสารหลักฐานรับรองทักษะในการทำงานให้คนไทย เพื่อนำมาเทียบโอนประสบการณ์ และรับรองคุณวุฒิวิชาชีพในระดับที่สูงขึ้น รวมถึงได้งานที่ดีขึ้น ได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้นเมื่อกลับมาที่ประเทศไทย อันจะทำให้การทำงานร่วมกัน ในการส่งเสริมให้แรงงานไทยที่กลับจากสาธารณรัฐเกาหลีสามารถช่วยพัฒนาประเทศไทยได้ดียิ่งขึ้น โดยได้นำร่องในอาชีพช่างก่ออิฐและฉาบปูนไปแล้ว มีการเทียบมาตรฐานอาชีพ และ TPQI คิดว่า Certificate of Career ที่แรงงานไทยได้รับจาก HRDK และสัญญามาตรฐานการจ้างงานที่แรงงานไทยได้รับจากนายจ้างเกาหลีก็เป็นเอกสารส่วนหนึ่งที่นำมาเทียบโอนประสบการณ์ได้ นอกจากนี้ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ มีแนวทางการพัฒนาแรงงานให้มีทักษะที่พร้อมจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการเชื่อมโยงกับภาคการศึกษา อย่างเครือข่ายอาชีวศึกษาทั่วประเทศ ในการทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ จากมาตรฐานอาชีพในสาขาที่เกี่ยวข้อง ไปปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกัน ซึ่งจะทำให้นักเรียน นักศึกษา ที่จบการศึกษาในหลักสูตรฐานสมรรถนะนั้นๆ จะได้รับทั้งวุฒิทางการศึกษา และคุณวุฒิวิชาชีพไปพร้อมกัน ขณะเดียวกัน สถาบัน ได้มีการทำงานกับ Training Provider และหน่วยฝึกอบรมต่างๆ ที่มีการยึดโยงชุดฝึกอบรมตามมาตรฐานอาชีพของ สคช. เพื่อให้มั่นใจว่า ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมดังกล่าวนั้น สามารถทำงาน และตรงตามความต้องการของผู้ว่าจ้างได้จริง ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับกำลังคนในการก้าวสู่ตลาดแรงงานทั้งในประเทศไทยและสาธารณรัฐเกาหลีต่อไป

  • สคช. รวมพลังต้านโกง ประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ ตอกย้ำองค์กรโปร่งใสไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ (No Gift Policy)

    27.03.2567
    810 View

    สคช. รวมพลังต้านโกง ประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ ตอกย้ำองค์กรโปร่งใสไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ (No Gift Policy) 27 มีนาคม 2567 ณ ลานกิจกรรม สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ นำโดย นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการ นายนิธิวัชร์ ศิริปริยพงศ์ รองผู้อำนวยการ นางสาวนฤมล พูลทรัพย์ ที่ปรึกษาสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ พร้อมใจกันสวมใส่เสื้อสีเหลือง ปักตราสัญลักษณ์เฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา ร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการคอร์รัปชันทุกรูปแบบ ผ่านกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรม ต่อต้านการทุจริต ประพฤติมิชอบ ไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ (No Gift Policy) ภายใต้หลักคุณธรรมและความโปร่งใส อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and transparency Assessment: ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 นายพิสิฐ กล่าวว่า ภาคธุรกิจ ภาคเอกชน ประชาสังคม และประชาชนของประเทศ กำลังจับตามองการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างจริงจัง เนื่องจากการทุจริตนับเป็นอาชญากรรมประเภทหนึ่ง ที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงทรัพยากร และโอกาสในการพัฒนาด้านต่าง โดยเฉพาะผู้นำขององค์กรต้องทำตัวให้เป็นแบบอย่างในเรื่องการละเว้นจากการทุจริตคอร์รัปชัน พร้อมแสดงความจริงใจ และปรับฐานความคิดในการไม่เพิกเฉยต่อการทุจริตในทุกระดับ ขณะเดียวกันรัฐบาลยังคงต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง และการใช้จ่ายงบประมาณตลอดจนการสร้างความเข้มแข็ง และความเป็นอิสระให้กับหน่วยงานตรวจสอบ กิจกรรมในวันนี้ จะเป็นการเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความรู้ ทัศนคติ ทางด้านคุณธรรม ให้กับผู้บริหาร และบุคลากรในองค์กร พร้อมร่วมแสดงพลังต่อต้านการทุจริต ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความโปร่งใสในการทำงานของ สคช. เพื่อให้สาธารณชนได้รับรู้และตรวจสอบได้ต่อไป นางสาวจุลลดา ได้ประกาศเจตจำนงสุจริตในการบริหารงาน ต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ และไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ พร้อมทั้งให้คำมั่นที่จะนำพาสถาบันดำเนินงานให้บรรลุผลสำเร็จตามพันธกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรม ความโปร่งใส รวมถึงการส่งเสริมการปลูกจิตสำนึก และสร้างการมีส่วนร่วมของบุคลากรในการป้องกันและต่อต้านการทุจริต 8 ข้อ ดังนี้ ด้านการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการยึดหลักมาตรฐาน และขั้นตอนอย่างเคร่งครัด รวมถึงการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดและเท่าเทียม ด้านการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิผล โดยคำนึงถึงภารกิจที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน ด้านการแก้ไขปัญหาต่อการทุจริต มีการทบทวนนโยบายป้องกันการทุจริตในหน่วยงานให้เป็นปัจจุบัน ด้วยการเฝ้าระวัง ตรวจสอบ และปรับปรุงการทำงาน ด้านการใช้จ่ายงบประมาณ ที่ต้องมีความคุ้มค่า โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีการใช้จ่ายงบประมาณอย่างคุ้มค่า ด้านการใช้อำนาจ โดยคำนึง 4 หลักสำคัญคือชอบด้วยกฎหมาย สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และพอเหมาะสมควรได้สัดส่วนพอดี ด้านการใช้ทรัพย์สินของทางราชการ ที่มีกระบวนการกำกับ ตรวจสอบได้ ด้านการเปิดเผยข้อมูล มีการเผยแพร่ข้อมูลพื้นฐานของสถาบัน อย่างครบถ้วน มีประสิทธิภาพ เพื่อแสดงถึงความโปร่งใสในการบริหารงานและการดำเนินงาน รวมถึงมีช่องทางที่หลากหลาย และนำเทคโนโลยีมาพัฒนาการสื่อสารให้มีคุณภาพ และข้อสุดท้ายคือการเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กร ค่านิยมสุจริตในการปฏิบัติงานอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนจากการปฏิบัติหน้าที่ โดยไม่รับ ไม่ให้ของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ (No Gift Policy) ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม พร้อมกันนี้คณะผู้บริหาร ยังร่วมกันลงนามประกาศเจตนารมณ์ และร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ประเทศไทยมีการบริหารราชการภายใต้หลักคุณธรรม และความโปร่งใส ซึ่งในปี 2566 สคช. ได้รับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ได้คะแนน 92.68 จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ซึ่งคะแนนจากการประเมินดังกล่าวจะนำไปสู่การยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต หรือ CPI ของประเทศ ทั้งนี้ในปี 2567 สคช. ยังคงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการต่อต้าน และป้องกันการทุจริต เพื่อเป็นองค์กรที่โปร่งใส ในการให้บริการคนในอาชีพต่อไป

  • สคช. ร่วม กยศ. หนุนผู้ขอรับเงินกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา ให้พัฒนาตนเองทำกิจกรรมจิตสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในระหว่างปีการศึกษา เพื่อขอกู้ยืมเงินในปีการศึกษาถัดไป เข้าถึงแหล่งทุน ต่อยอดสู่ทักษะอาชีพ

    26.03.2567
    712 View

    สคช. ร่วม กยศ. หนุนผู้ขอรับเงินกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา ให้พัฒนาตนเองทำกิจกรรมจิตสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในระหว่างปีการศึกษา เพื่อขอกู้ยืมเงินในปีการศึกษาถัดไป เข้าถึงแหล่งทุน ต่อยอดสู่ทักษะอาชีพ ที่ โรงแรมรามาการ์เดนส์ กรุงเทพ นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ มอบหมายให้นางสาวพรภัทรา ฉิมพลอย ผู้อำนวยการสำนักขับเคลื่อนภารกิจพิเศษ เป็นผู้แทนในการบรรยายเกี่ยวกับการใช้งานสื่อการเรียนการสอนออนไลน์ E-learning ของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ที่ประกอบด้วยหลักสูตรการฝึกอบรมตามมาตรฐานอาชีพ , มาตรฐานสมรรถนะสนับสนุนการทำงาน จำนวนกว่า 550 ชุดฝึก และการสร้าง E-Portfolio ภายใต้ E-workforce Ecosystem Platform หรือ EWE ให้กับผู้บริหารสถานศึกษา ระดับมัธยมศึกษา และผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา ทั่วประเทศ กว่า 400 แห่ง เพื่อนำไปต่อยอด ขยายผลแก่นักเรียนในสังกัด ด้าน นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กล่าวว่า กองทุนได้กำหนดคุณสมบัติให้ผู้กู้ต้องทำกิจกรรมจิตสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในระหว่างปีการศึกษา เพื่อขอกู้ยืมเงินในปีการศึกษาถัดไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขัดเกลาจิตใจให้มีความเมตตากรุณา มีความเสียสละและมีจิตสาธารณะ โดยกำหนดชั่วโมงสำหรับผู้ขอกู้ยืมเงิน แบ่งเป็น - กรณีเป็นผู้กู้ยืมเงินรายใหม่ ไม่กำหนดจำนวนชั่วโมง - กรณีเป็นผู้กู้ยืมเงินรายเก่าเปลี่ยนระดับการศึกษา ไม่กำหนดจำนวนชั่วโมง - กรณีเป็นผู้กู้ยืมเงินรายเก่าเลื่อนชั้นปีทุกระดับการศึกษา กำหนดจำนวนไม่น้อยกว่า 36 ชั่วโมง ทั้งนี้ ผู้กู้ยืมสามารถทำกิจกรรมจิตสาธารณะได้ โดยบันทึกการเข้าร่วมโครงการ/กิจกรรมที่ทำประโยชน์ต่อสังคมหรือสาธารณะ ในแบบฟอร์มตามที่กองทุนกำหนด และลงลายมือชื่อผู้รับรองการทำกิจกรรม ได้แก่ หัวหน้าหน่วยงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย และ ผู้บริหารสถานศึกษาหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย โดยใช้เป็นหลักฐานในการยื่นขอกู้ยืมในปีถัดไป โดยนอกจากการลงไปทำกิจกรรมเก็บชั่วโมงจิตสาธารณะในพื้นที่แล้ว ยังสามารถใช้ช่องทางการเรียนรู้ผ่านสื่อออนไลน์ของ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) https://e-training.tpqi.go.th/ เป็นช่องทางเก็บชั่วโมงจิตสาธารณะได้อีกด้วย ซึ่งในปี 2567 นี้ สถาบันมีหลักสูตรชุดฝึกอบรมที่เปิดตัวเพิ่มอีก 41 ชุดฝึก สามารถเลือกเรียนได้ฟรี https://e-training.tpqi.go.th/category/67

  • ชาวร้อยเอ็ดพร้อมต่อยอดสร้างอาชีพ หลังร่วมเปิดโลกอาชีพด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ

    22.03.2567
    731 View

    ชาวร้อยเอ็ดพร้อมต่อยอดสร้างอาชีพ หลังร่วมเปิดโลกอาชีพด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ นำทีมวิทยากรระดับแชมป์ประเทศไทย จัดกิจกรรมเปิดโลกคุณวุฒิวิชาชีพ อบรมฝึกทักษะทำมาหากินตามมาตรฐานอาชีพ ณ โรงเรียนพนมไพรวิทยาคาร จังหวัดร้อยเอ็ด ดัดแปลงวัตถุดิบพื้นถิ่นของขึ้นชื่อเมืองร้อยเอ็ดอย่างข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ วัตถุดิบจากโคกหนองนามาแปรรูปสมุนไพรสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมถึงอบรมพื้นฐานการทำกาแฟ เทคนิคการถ่ายรูปเพื่อการจำหน่ายสินค้า และเทคนิคการแต่งหน้าตามมาตรฐานอาชีพ เป็นการสร้างพื้นฐานต่อยอดให้เป็นอาชีพได้ ชาวพนมไพร ออกปากขอบคุณสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพที่ช่วยมาเปิดโลก สร้างแรงบันดาลใจในการต่อยอดจากพื้นฐานอาชีพเดิมให้สร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบท้องถิ่น และวัตถุดิบที่มีอยู่ในบ้านให้มาสร้างเป็นอาชีพได้ ซึ่งความรู้ที่ได้สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวันได้จริง ทั้งสร้างรายได้ และลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน แต่ยังพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชนอีกด้วย

  • สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมท้องถิ่นร้อยเอ็ด เปิดโลกคุณวุฒิวิชาชีพ เติมทักษะ ต่อยอดคุณภาพชีวิตคนเมืองข้าวหอม

    21.03.2567
    672 View

    สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมท้องถิ่นร้อยเอ็ด เปิดโลกคุณวุฒิวิชาชีพ เติมทักษะ ต่อยอดคุณภาพชีวิตคนเมืองข้าวหอม นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ นำทีมวิทยากรระดับแชมป์ประเทศไทย ร่วม ท้องถิ่นจังหวัดร้อยเอ็ด จัดกิจกรรมเปิดโลกคุณวุฒิวิชาชีพ อบรมฝึกทักษะทำมาหากินตามมาตรฐานอาชีพ ณ โรงเรียนจตุรพักตรพิมานรัชดาภิเษก จังหวัดร้อยเอ็ด ดัดแปลงวัตถุดิบพื้นถิ่นของขึ้นชื่อเมืองร้อยเอ็ดอย่างเข้าหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ วัตถุดิบจากโคกหนองนามาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น เมนูลาบข้าวจี่ สบู่ข้าวหอมมะลิ นอกจากนี้ยังสอนพื้นฐานการทำกาแฟ เทคนิคการถ่ายรูปเพื่อการจำหน่ายสินค้า และเทคนิคการแต่งหน้าตามมาตรฐานอาชีพ เป็นการสร้างพื้นฐานต่อยอดให้เป็นอาชีพได้ โดยท้องถิ่นจังหวัดร้อยเอ็ด มีความต้องการเสริมทักษะทางอาชีพให้กับชาวบ้าน สร้างผลิตภัณฑ์ต่อยอดวัตถุดิบพื้นถิ่น สร้างรายได้ในชุมชน ซึ่งได้กระแสตอบรับจากชาวชุมชนเป็นอย่างดี เนื่องจากขาดองค์ความรู้ในการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบในท้องถิ่น ซึ่งความรู้ที่ได้สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ลดค่าใช้จ่าย และสร้างรายได้ในครอบครัวได้

  • เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการ Colors of Buriram และการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทย และงานหัตกรรมชุมชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

    19.03.2567
    697 View

    เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการ Colors of Buriram และการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทย และงานหัตกรรมชุมชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 30 นิทรรศการ ตามโครงการพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงภูมิปัญญาชุมชนไทย ณ สนามหน้าที่ว่าการอำเภอนาโพธิ์ และมูลนิธิส่งเสริมศูนย์ศิลปาชีพพิเศษ บ้านนาโพธิ์ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (กลุ่มผ้าตุ้มทอง) ตำบลนาโพธิ์ อำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ข้าราชการ ประชาชน และคณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก เฝ้ารับเสด็จ จากนั้น ทรงเสด็จไปประทับ ณ ห้องทรงงาน พระราชทานพระวโรกาสให้กลุ่มผู้เฝ้ารับเสด็จขอพระราชทานคำแนะนำผลิตภัณฑ์ผ้าไทย และงานหัตกรรมชุมชนที่มีคุณค่าเพื่อส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่น อันจะทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนและเกิดการเพิ่มมูลค่าแก่ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นในตลาดทั้งในและต่างประเทศ เมื่อทรงงานเสร็จสิ้นแล้วพระองค์ท่านได้เสด็จไปทอดพระเนตรการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นจังหวัดบุรีรัมย์ ชุด "สี่เผ่าไทยบุรีรัมย์ น้อมจงรัก" เป็นการแสดงที่ถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมอารยธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ชาวบุรีรัมย์ ผสมผสานผ่านนาฏยลีลาการกระบวนการการทำผ้าไหม แสดงโดยนักเรียนโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาบุรีรัมย์ ในการนี้ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้ร่วมเป็นผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิในการให้ความรู้และคำปรึกษา คำแนะนำ เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นให้กับบุคคลในพื้นที่ เพื่อให้พร้อมสำหรับเตรียมการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพให้ บุคลากรในกลุ่มอาชีพศิลปะหัตถกรรม ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่อไป

  • สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมนั่งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย OFOS และคณะพัฒนาระบบและฐานข้อมูล เพื่อขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ พร้อมหนุนอบรม 1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย ได้ใบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ

    15.03.2567
    542 View

    สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมนั่งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย OFOS และคณะพัฒนาระบบและฐานข้อมูล เพื่อขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ พร้อมหนุนอบรม 1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย ได้ใบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และรองประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ซึ่งมีนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นประธานการประชุม โดยที่ประชุมเห็นชอบแนวทางขับเคลื่อนโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย เพื่อ Soft Power อาหารไทยอย่างยั่งยืน ซึ่งนำเสนอโดยเชฟชุมพล แจ้งไพร ประธานคณะอนุกรรมการฯ ด้านอาหาร ซึ่งมุ่งสร้างคน สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจเพื่อประเทศไทย มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยจัดให้มีการลงทะเบียนผู้ที่สนใจผ่านกองทุนหมู่บ้าน เข้าร่วมการอบรมเพิ่มทักษะทางด้านอาหารอย่างเข้มข้น ตั้งเป้าปีแรกมีผู้ได้รับการอบรมผ่านออนไซต์ 10,000 คน ซึ่งมีการประสานงานอาชีวศึกษา 70 แห่งทั่วประเทศรองรับการอบรม ส่วนระบบออนไลน์แบ่งเป็น 3 หลักสูตรใหญ่ คือหลักสูตรเพื่อการทำกินดี ทำขายได้ มีหลักสูตรการเรียนการสอนมากกว่า 500 หลักสูตร ขณะที่หลักสูตร MBA Chef ที่กลุ่มนี้จะเพิ่มทักษะความรู้ด้านการบริหาร และอีกหลักสูตรคือการเป็นเจ้าของร้านอาหาร ที่จะให้เจ้าของกิจการมาเป็นผู้สอนเทคนิคการทำร้านต่างๆ ทั้งนี้หลักสูตรการเรียนการสอนจะเทียบเคียงตามมาตรฐานอาชีพ โดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งจัดทำหลักสูตรอิงตามมาตรฐานสากล ผู้เรียนยังสามารถเก็บหน่วยสมรรถนะเพื่อสะสมการเรียนรู้และสามารถเทียบเคียงกับการศึกษาได้ในอนาคต ขณะผู้ที่เรียนออนไซต์ซึ่งมีความเข้มข้น ผ่านหลักสูตรของ THACCA ต้องผ่านการทดสอบและรับรองมาตรฐาน/ สมรรถนะตามที่หลักสูตรกำหนด โดยผู้อบรมจะได้รับประกาศนียบัตรจาก THACCA OFOS ได้รับประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ หนังสือรับรองว่าเป็นผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ และประกาศนียบัตรผู้ผ่านการอบรมจากกรมอนามัย พร้อมทั้งผลักดันสู่การมีงานทำให้ได้ไม่น้อยกว่า 5,000 คน และที่เหลือยังเป็นแรงงานทักษะฝีมือด้านการประกอบอาหารไทย ซึ่งนายสุรพงษ์ ระบุเป็นโครงการของอุตสาหกรรมด้านอาหารเป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ เพื่อผลักดันนโยบาย Soft Power อย่างแท้จริง ที่ประชุมยังมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ 6 คณะ ประกอบด้วยคณะอนุกรรมการจัดทำแผนพัฒนายุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ คณะอนุกรรมการจัดทำมาตรการและสิทธิประโยชน์ คณะอนุกรรมการกลั่นกรองและกำกับติดตามการดำเนินโครงการ คณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบและฐานข้อมูล และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย OFOS ซึ่งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ร่วมในคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย OFOS และคณะพัฒนาระบบและฐานข้อมูล มีหน้าที่ในการกำหนดแนวทางการรวบรวและจัดทำฐานข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการกำหนดนโยบายและการส่งเสริมพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ จัดทำฐานข้อมูลองค์ความรู้ด้านการตลาด ข่าวสารและข้อมูลเกี่ยวกับกระแสซอฟต์พาวเวอร์ภายในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนสำรวจและรวบรวมข้อมูลผู้บริโภค กำหนดแนวทางพัฒนาระบบหรือแพลตฟอร์มสำหรับการเชื่อมโยงข้อมูล ส่งเสริมการรวบรวม พัฒนา และจัดทำข้อมูลเชิงประจักษ์ เป็นต้น ขณะที่คณะขับเคลื่อนนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ทักษะซอฟต์พาวเวอร์ (OFOS) จะกำหนดแนวทางการพัฒนระบบลงทะเบียน OFOS เพื่อให้ประชาชนและผู้สนใจทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย โดยต้องมีการประเมินเพื่อวัดทักษะความสามารถและจัดหลักสูตรอบรมที่เหมาะสมได้มาตรฐาน ได้คุณภาพเป็นที่ยอมรับ และตรงตามความต้องการและศักยภาพของผู้ลงทะเบียน เพื่อกต่อยอดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และขยายโอกาสได้ในอนาคต ที่ประชุมยังเห็นชอบจัดตั้งอนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์สาขาต่างๆ ประจำจังหวัด และเห็นชอบแนวทางการจัดงาน Maha Songkran World Water Festival 2024 โดยเตรียมจัดขบวนพาเหรดสงกรานต์อย่างยิ่งใหญ่สะท้อนอัตลักษณ์วัฒนธรรมไทย ในวันที่ 11 – 15 เมษายน 2567 บริเวณถนนราชดําเนินกลางและท้องสนามหลวง โดยจะเริ่มกิจกรรมสงกรานต์ต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 1-21 เมษายน 2567 ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย

  • สคช. ร่วมยกระดับนักเคลื่อนย้ายผู้ป่วย รพ.นวเวช

    14.03.2567
    789 View

    สคช. ร่วมยกระดับนักเคลื่อนย้ายผู้ป่วย รพ.นวเวช นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ มอบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพและหนังสือรับรองสมรรถนะ ให้กับบุคลากร รพ.นวเวช ที่ได้สำเร็จการฝึกอบรมในอาชีพนักเคลื่อนย้ายผู้ป่วย คุณวุฒิวิชาชีพ ระดับ 3 จำนวน 4 คน และระดับ 4 จำนวน 11 คน รวม 15 คน เพื่อเป็นการแสดงความยินดีและสร้างความภาคภูมิใจให้แก่พนักงานของโรงพยาบาล ซึ่งในอาชีพนี้ มีองค์ความรู้เฉพาะด้าน ที่เป็นไปตามมาตรฐานอาชีพกำหนด จนเป็นที่เชื่อมั่นในความรู้ ทักษะ ในการปฏิบัติหน้าที่การให้บริการในการขนส่งหรือเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังบริเวณต่าง ๆ ของโรงพยาบาล รวมถึงสามารถจัดเตรียมและจัดเก็บอุปกรณ์เคลื่อนย้ายเบื้องต้น รวมทั้งสามารถออกแบบวางแผนเส้นทางที่ใช้ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยภายในโรงพยาบาลได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย การได้รับคุณวุฒิวิชาชีพ ยังเป็นการเปิดโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ ไม่เพียงแต่ก้าวหน้า เติบโตในโรงพยาบาลนวเวชเพียงอย่างเดียว แต่คุณวุฒิวิชาชีพยังเปิดโอกาสเทียบคุณวุฒิทางการศึกษา สามารถเทียบโอนหน่วยกิตผ่าน Competency Credit Bank System ได้อีกด้วย นอกจากนี้ ผู้อำนวยการสถาบัน ยังได้มอบหนังสือเห็นชอบหลักสูตรฝึกอบรม อาชีพนักเวชสารสนเทศทางรังสีวิทยา (Radiology Informatician) แก่โรงพยาบาลนวเวช ที่ได้ร่วมกับสถาบันพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมบุคลากรภายในให้มีสมรรถนะการทำงานที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพ ซึ่งถือว่าเป็นบันไดในการที่พัฒนาบุคลากรให้เป็นมืออาชีพที่มีมาตรฐานเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการของโรงพยาบาลต่อไป โอกาสเดียวกันนี้ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้แสดงความยินดีกับ ศาสตราจารย์นายแพทย์รื่นเริง ลีลานุกรม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนวเวช เนื่องในโอกาสที่ รพ.นวเวช ก่อตั้งครบ 3 ปี ด้วย

  • สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ มอบประกาศนียบัตร รับรองคุณวุฒิวิชาชีพควาญช้างครั้งแรก เนื่องในวันช้างไทย

    14.03.2567
    665 View

    สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ มอบประกาศนียบัตร รับรองคุณวุฒิวิชาชีพควาญช้างครั้งแรก เนื่องในวันช้างไทย นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และ นายชัชวาล ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง มอบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ ให้กับควาญช้าง 22 ราย ที่ผ่านการประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ สาขาวิชาชีพการท่องเที่ยว การโรงแรม ภัตตาคารและร้านอาหาร สาขาการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ อาชีพควาญช้าง ซึ่งสถาบัน ร่วมกับ สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ณ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง ได้เริ่มจัดการประเมินขึ้นครั้งแรกในปี 2566 และจัดพิธีมอบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพครั้งแรกเนื่องในโอกาสวันช้างไทย 13 มีนาคม 2567 นางสาวจุลลดา ได้แสดงความยินดีกับผู้ที่ผ่านการประเมินในการยกระดับคุณวุฒิวิชาชีพไปอีกขั้น และเชื่อว่าความรู้ ความสามารถควาญช้างไทยจะสามารถยกระดับขึ้นสูงได้อีผ และเป็นควาญช้างคุณภาพที่ตลาดต้องการ นสพ.ทวีโภค อังควานิช หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยฯ เปิดเผยว่าการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพให้กับควาญช้างไทยเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการหันมาให้ความสนใจสร้างมาตรฐานอาชีพควาญช้างซึ่งเป็นอาชีพที่ถ่ายทอดประเพณี วัฒธรรมที่เทคโนโลยีไม่สามารถแทนที่ได้ โดยเฉพาะควาญช้างนับเป็นผู้อนุรักษ์ช้างตัวจริงและเป็นผู้ที่ควรได้รับการสนับสนุนยกระดับคุณค่านี้เป็นอย่างยิ่ง และเนื่องในวันช้างไทย นางสาวจุลลดา ยังได้ร่วมในพิธีทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง พระสงฆ์ 16 รูป ร่วมกับช้าง ณ สันอ่างเก็บน้ำแม่สันตอนบน พร้อมร่วมเลี้ยงอาหารช้าง และร่วมพิธีมอบรางวัลควาญช้างดีเด่น โดยมีพลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน

  • สคช. ร่วมถกวงเสวนาผ่านไทยพีบีเอส เนื่องในวันช้างไทย พร้อมร่วมผลักดันดูแลสวัสดิภาพช้างให้ดีขึ้น พร้อมยกระดับควาญช้างให้ได้รับคุณวุฒิวิชาชีพ

    14.03.2567
    674 View

    สคช. ร่วมถกวงเสวนาผ่านไทยพีบีเอส เนื่องในวันช้างไทย พร้อมร่วมผลักดันดูแลสวัสดิภาพช้างให้ดีขึ้น พร้อมยกระดับควาญช้างให้ได้รับคุณวุฒิวิชาชีพ ที่ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย(ส.ท.ท.) หรือ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส มูลนิธิช้างแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมเสวนาเนื่องในวันช้างไทย ซึ่งตรงกับวันที่ 13 มีนาคม ของทุกปีโอกาสนี้ นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้ร่วมในการเสวนา “ในรอบปีที่ผ่านมากับปัญหาช้างไทย” ซึ่ง มี ผู้แทนกรมปศุสัตว์ , คุณธีรภัทร ตรังปราการ นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย , รศ.น.สพ.ดร.ฉัตรโชติ ทิตาราม อาจารย์จากคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ผศ.สพ.ญ.ดร.สุภาเพ็ญ ศรีพิบูลย์ อาจารย์จากคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลับเกษตรศาสตร์ ร่วมในวงเสวนา นางสาววรชนาธิป กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความผูกพันกับช้างอย่างลึกซึ้ง ตามที่เรามักจะเคยเห็นตามร่องรอยหลักฐาน ที่แสดงให้เห็นถึงความผูกพัน ระหว่างคนกับช้าง ล้วนแล้วแต่เปี่ยมล้นไปด้วยความผูกพัน ความเชื่อ ความศรัทธา อีกทั้ง ช้าง ยังมีบทบาทสำคัญต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และวิถีชีวิตคนไทยมาช้านาน แน่นอนว่าสถานการณ์ช้าง ไม่ว่าจะเป็นช้างป่า หรือช้างบ้าน ที่เกิดขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา หลายหน่วยงานพยายามที่จะผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติช้าง ที่เราเชื่อว่าจะเป็นการคุ้มครอง และรักษาดูแลช้าง ให้ได้รับการเลี้ยงดูที่และมีการจัดสวัสดิภาพที่เหมาะสม ช้างเป็นเหมือนจุดเด่นของประเทศไทย ที่เมื่อนึกถึงช้าง ต้องไทยแลนด์ เช่นเดียวกับมวยไทย หรืออาหารไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยต้องให้ความสำคัญ และหากมองลึกลงไป จะเห็นว่า บุคคลที่มีส่วนสำคัญและอยู่ใกล้ชิดกับช้างมากที่สุด ที่เราเรียกกันว่า “ควาญช้าง” ถือว่าเป็นบุคคลที่สำคัญมากๆ เปรียบเสมือน “พ่อ” หรือ “ครู” ของช้าง เพราะมีหน้าที่ดูแลช้าง เป็นผู้ที่สั่งสอนและเลี้ยงดู เรียกว่าตลอด 24 ชั่วโมง ดังนั้น หากควาญช้างมีคุณภาพดี ก็จะส่งผลไปถึงการดูแลช้างที่ดีด้วย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยกระดับความสำคัญของควาญช้างด้วย ตั้งแต่ปี 2564 สถาบันฯ ได้จัดทำมาตรฐานอาชีพ ด้วยมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาบุคลากรควาญช้างและการรับรองสมรรถนะควาญช้างให้ได้ตามมาตรฐานอาชีพ โดยผู้ที่จะมีคุณสมบัติในการประกอบอาชีพนี้ต้องประกอบด้วย ความรู้ด้านทฤษฎี และมีทักษะในการดูแลเลี้ยงช้าง สามารถดูแลสุขอนามัยของช้าง มีทักษะในการทำความสะอาดช้าง สามารถตรวจสภาพทั่วไปของช้าง ผิวหนัง และร่องรอยบาดแผล หรือสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นกับช้าง การรักษาพยาบาลช้างเบื้องต้นได้ เราจึงมุ่งหวังว่าการที่ช้าง โดยเฉพาะช้างบ้าน จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ควาญช้างควรมีความรู้และมีทักษะในการดูแลสุขภาพช้าง สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้คนว่าควาญช้างสามารถดูแลช้างโดยปราศจากการปฏิบัติอย่างทารุณ นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างมาตรฐานอาชีพให้กับผู้ประกอบอาชีพควาญช้าง เป็นการสร้างอาชีพให้ผู้ที่สนใจอยากจะสืบทอดการเป็นควาญช้างจากรุ่นสู่รุ่น เป็นการช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในสายตานักท่องเที่ยว ที่สำคัญยังเป็นการช่วยอนุรักษ์ภูมิปัญญาควาญช้าง เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์วัฒนธรรมการเลี้ยงช้างไทยและเชิดชูควาญช้างไทย ด้าน นายธีรภัทร ตรังปราการ นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีช้างบ้านรวมกันทุกปางในประเทศไทยราวๆ 3,800 เชือก เท่ากับมีควาญช้างในจำนวนเท่าๆกัน จึงจะพยายามยกระดับควาญช้างให้ได้รับคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อสร้างมาตรฐานในการดูแลสวัสดิภาพช้างให้เหมาะสม และเชื่อมโยงให้สอดรับกับมาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้างต่อไป

  • ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายนิธิวัชร์ ศิริปริยพงศ์ รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ พร้อมผู้บริหารสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการบริหารทุนมนุษย์เพื่อเข้าสู่อีอีซีโมเดล ครั้งที่ 2/2567

    13.03.2567
    896 View

    ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายนิธิวัชร์ ศิริปริยพงศ์ รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ พร้อมผู้บริหารสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการบริหารทุนมนุษย์เพื่อเข้าสู่อีอีซีโมเดล ครั้งที่ 2/2567

  • "สคช. ร่วมหารือ ปปส. และเครือข่าย สร้างวินสีขาว วินมอเตอร์ไซค์มืออาชีพ ห่างไกลยาเสพติด"

    12.03.2567
    1,013 View

    วันที่ 8 มีนาคม 2567 นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ พร้อมนายพิริยพงศ์ แจ้งเจนเวทย์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมคุณวุฒิวิชาชีพ พร้อมเจ้าหน้าที่สถาบันฯ เข้าร่วมประชุม คณะกรรมการที่ปรึกษา โครงการพัฒนาสุขภาวะ ความปลอดภัยในการทำงาน และภูมิคุ้มกันยาเสพติดในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้าง พื้นที่กรุงเทพมหานคร ณ ห้องประชุม Command Center สำนักงาน ป.ป.ส. ดินแดง โดยมี นายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นประธานการประชุม พร้อมเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และกลุ่มอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้าง อาทิ นางภรณี ภู่ประเสิรฐ ผู้อำนวยการสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ นายเฉลิม ช่างทองมะดัน นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย ผู้แทนสำนักอนามัย ผู้แทนสำนักเทศกิจ สังกัดกรุงเทพมหานคร เป็นต้น โดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกรุงเทพมหานคร (ป.ป.ส.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนส่งเสริมสุชภาพ (สสส.) มูลนิธิรักษ์ไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ดำเนินโครงการพัฒนาสุขภาวะความปลอดภัยในการทำงาน และภูมิคุ้มกันยาเสพติดในกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง พื้นที่กรุงเทพมหานคร สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้นำเสนอภารกิจของสถาบันฯ พร้อมแนะนำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพโลจิสติกส์ สาขาการจัดส่งอาหาร อาชีพผู้ให้บริการจัดส่งอาหารด้วยรถจักรยานยนต์ ระดับ 3-4 เป็นเครื่องมือในการพัฒนาอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้างในส่วนของ - ความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการ - ยกระดับและสร้างโอกาสในสังคม - สร้างความแข็งแกร่งให้กับชุมชน ปัจจุบันมีอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้างแจ้งในระบบ ประมาณ 86,000 คน ซึ่งหากมีมาตรฐานอาชีพ พร้อมมีสิทธิ์ประโยชน์ให้ ก็จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับอาชีพนี้ โดยเฉพาะการสร้างและให้รางวัลวินต้นแบบ ด้านจิตอาสาและช่วยเหลือสังคม พร้อมภูมิคุ้นกันด้านยาเสพติดในชุมชนอีกด้วย

  • สคช. ร่วมน้อมรำลึก "พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย"

    02.03.2567
    1,079 View

    นายนิธิวัชร์ ศิริปริยพงษ์ รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ พร้อมคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ร่วมถวายเครื่องราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย” โดยมีคณะผู้บริหาร ข้าราชการ ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน เข้าร่วมพิธีวางพานพุ่มสักการะ ภายในงาน ได้มีการจัดนิทรรศการที่เผยแพร่ข้อมูลภารกิจมาตรฐานฝีมือแรงงานที่จัดแสดงภายในงาน เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระปรีชาสามารถด้านงานช่าง ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ กระทั่งเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติแล้ว ก็ยังคงสนพระราชหฤทัยในงานช่างอย่างสม่ำเสมอ และทรงใช้ทักษะและความถนัด ในการสร้างสิ่งประดิษฐ์จำนวนมาก นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความเข้าใจให้ภาครัฐและเอกชน ได้ตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ซึ่งกำหนดให้วันที่ 2 มีนาคม ของทุกปี เป็น “วันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ”

  • สคช. ร่วมเวทีเสวนา เน้นย้ำให้สถานประกอบการ ร่วมผลักดันอุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมเรือธง Soft Power ของประเทศไทย

    06.03.2567
    1,092 View

    นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ในฐานะรองประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร คณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เข้าร่วมเสวนาในหัวข้อ Entrepreneur Opportunity ปั้นแบรนด์ไทยในตลาดโลก โอกาสของผู้ประกอบการ สะท้อนศักยภาพการแข่งขัน ร่วมกับนางปรียากร ศังขวณิช ผู้อำนวยการสำนักนักส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม และนายแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ (NRF) บริษัทผู้ผลิตจัดหาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปรุงรสอาหาร อาหารสำเร็จรูป เครื่องปรุงสำหรับประกอบอาหาร ในงาน NRF Vision Day 2024 “Asian Food Disruption” นางสาววรชนาธิป กล่าวในการเสวนาว่า จากการทำงานในฐานะรองประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า โอกาสสำคัญของผู้ประกอบการอาหารในประเทศไทยที่จะต้องช่วยกันส่งเสริมและสนับสนุนนโยบาย soft power นี้ร่วมกัน เพราะภาครัฐ เปิดประตูบานใหญ่พร้อมให้การสนับสนุนภาคเอกชนให้เป็นตัวแทน ในการร่วมผลักดันอุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมเรือธง Soft Power ที่จะนำพาประเทศให้มีรายได้มากขึ้น และมีศักยภาพในการแข่งขันในทุกมิติบนเวทีสากล ตั้งแต่กระบวนการพัฒนาสินค้า กระบวนผลิต การจัดทำมาตรฐานในการผลิตให้ได้มาตรฐาน และการเชื่อมโยงสู่ตลาด ซึ่งเป็นการทำงานแบบบูรณาการกันทุกภาคส่วน โดยเฉพาะหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งเชฟอาหารไทย ที่พร้อมเปิดโอกาสให้กับคนไทยมากกว่า 20 ล้านคน ได้มีโอกาสเรียนฟรี เพื่อเพิ่มทักษะ พัฒนา ต่อยอดคุณภาพชีวิตและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และเฟ้นหาสุดยอดเชฟอาหารไทยจาก 75,086 หมู่บ้าน มาต่อยอดฝึกฝนจนเป็นเชฟอาหารไทยมืออาชีพ ที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารไทยอย่างครบวงจร นี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลมีความตั้งใจทำให้เกิดขึ้น ซึ่งก็หวังว่าทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน ภาคประชาชน จะพร้อมเดินไปกับภาครัฐที่ตั้งใจจะผลักดันให้อุตสาหกรรมอาหาร เป็น soft power ของไทยอย่างเข้มแข็งไปด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ธุรกิจอาหารไทยยังเผชิญความท้าทายหลายประการ เช่น การแข่งขันที่รุนแรง การเปลี่ยนแปลงของเทรนด์อาหาร และความท้าทายด้านแรงงาน ดังนั้นแล้วอาหารไทยมีศักยภาพสูงที่จะเป็น Soft Power ที่สำคัญของประเทศ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เพื่อขับเคลื่อนอาหารไทยสู่อนาคตได้อย่างยั่งยืน