ข่าวประชาสัมพันธ์

  • สคช. หนุนสถานประกอบการด้านการผลิตและแปรรูปอาหาร รับรองคุณวุฒิคนทำงานการันตีเทียบเท่ามาตรฐานสากล

    19.07.2567
    261 View

    สคช. หนุนสถานประกอบการด้านการผลิตและแปรรูปอาหาร รับรองคุณวุฒิคนทำงานการันตีเทียบเท่ามาตรฐานสากล นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ พร้อมคณะ เข้าพบหารือกับคุณภาวินท์ สิงหละชาติ Assistant Director บริษัท เอ็ม เอ็ม พี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เพื่อเสนอแนวทางความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรด้วยการรับรองประสบการณ์การทำงานให้ได้รับคุณวุฒิวิชาชีพในระดับต่างๆ ที่สอดคล้องกับทักษะความชำนาญในอาชีพและมีความสอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพ ในสาขาวิชาชีพการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม สาขาการแปรรูปสัตว์น้ำ อาชีพผู้ปฏิบัติงานผลิต (การผลิตผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท), อาชีพผู้ปฏิบัติงานควบคุมและประกันคุณภาพ (การผลิตผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท และสมรรถนะสนับสนุนการทำงานการบริหารงานในสายการผลิต นางสาวจุลลดา กล่าวว่า สถาบันให้ความสำคัญในเรื่องทักษะที่เกิดขึ้นจากการสะสมประสบการณ์การทำงาน ว่าแต่ละคนย่อมมีทักษะในการทำงานนั้นๆ อยู่แล้ว จึงมุ่งหวังที่จะสนับสนุนให้เกิดกระบวนการรับรองประสบการณ์ ทักษะ ความรู้ ความสามารถดังกล่าว โดยมีผู้เชี่ยวชาญในอาชีพให้การรับรอง ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกคนได้มีจุดยืนในอาชีพของตนเอง นอกจากนี้สถานประกอบการนั้นๆ ยังสามารถนำข้อมูลไปวางแผนการพัฒนาบุคลากรในระดับต่างๆ ได้อีกด้วย บริษัท เอ็ม เอ็ม พี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นบริษัทที่ดำเนินงานด้านการผลิตอาหาร และอาหารสัตว์เลี้ยง ส่งออกทั้งในสหรัฐอเมริกา แคนาดา ในยุโรป สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และประเทศอื่นๆ มากกว่า 20 ปี รวมถึงผลิตสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงในประเทศไทยด้วย

  • "อนุทิน" ประธาน MOU 3 หน่วยงาน ส่งเสริม พัฒนาศักยภาพนักเรียน นักศึกษาและกำลังคนทุกช่วงวัย สร้างกำลังคนสมรรถนะสูงขับเคลื่อนประเทศ

    18.07.2567
    297 View

    "อนุทิน" ประธาน MOU 3 หน่วยงาน ส่งเสริม พัฒนาศักยภาพนักเรียน นักศึกษาและกำลังคนทุกช่วงวัย สร้างกำลังคนสมรรถนะสูงขับเคลื่อนประเทศ วันนี้ (18 กรกฎาคม 2567) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ การส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพนักเรียน นักศึกษาและกำลังคนทุกช่วงวัย ระหว่าง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ในการนี้ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมเป็นสักขีพยาน และมีนายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และนางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมลงนาม และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ร่วมพิธี ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ชั้น 2 อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ นายอนุทิน เปิดเผยว่า ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่กำกับดูแล 4 กระทรวงหลัก ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากำลังคนของประเทศทั้งระบบในทุกช่วงวัย ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลเน้นการสร้างโอกาสและความก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพส่งเสริมการพัฒนาสมรรถนะให้กับนักเรียน นักศึกษา และกำลังคนทุกช่วงวัยผ่านการพัฒนาทักษะอาชีพ การฝึกอบรม ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ส่งเสริมการสะสมประสบการณ์ทางอาชีพทั้งในระหว่างเรียนและการทำงานเพื่อให้เป็นกำลังคนสมรรถนะสูง ทำให้เกิดความร่วมมือกันของทั้ง 3 ฝ่าย ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เพื่อบูรณาการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพนักเรียน นักศึกษา และกำลังคนทุกช่วงวัยในวันนี้ เป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์และยกระดับกำลังแรงงานของประเทศในทุกมิติ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน กล่าวในนามกระทรวงศึกษาธิการ ผมรู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับทุกท่าน รวมทั้งนำนโยบายของรัฐบาลมาขับเคลื่อน เพื่อร่วมกันยกระดับคุณภาพการศึกษาเต็มกำลังความสามารถอย่างเป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อกัน จึงได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ ระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ มีเป้าหมายร่วมกัน ในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาอาชีวศึกษา เพื่อพัฒนาสมรรถนะกำลังคนระดับเทคนิค มุ่งเน้นการผลิตและพัฒนากำลังคน ในสาขาที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีเป้าหมายการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต เน้นมีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn) ธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) ระดับอาชีวศึกษา ทำให้ผู้เรียนมีสมรรถนะ เป็นไปตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ รองรับวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศ (IGNITE THAILAND) จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง “ยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก” นายพิพัฒน์ กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงแรงงานมีนโยบายส่งเสริมความร่วมมือในการผลิตกำลังคนในภาคการศึกษา และภาคแรงงาน Up - Skill for More Earn เพื่อการมีงานทำรองรับเศรษฐกิจใหม่ รวมทั้งพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกำลังแรงงานรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งระบบ ซึ่งการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ถือว่า มีเป้าหมายและกลไกในการบูรณาการภารกิจร่วมกันของทั้งสามหน่วยงาน จะร่วมกันพัฒนาศักยภาพกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ทันต่ออุตสาหกรรม และเทคโนโลยีในอนาคต สนับสนุนให้มีจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน และศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถ สนับสนุนการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติไปจนถึงระดับนานาชาติ การเทียบโอนหน่วยกิตเข้าสู่ระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) เพื่อแรงงานจะได้วุฒิการศึกษาที่สูงขึ้น รวมทั้งสนับสนุนการเชื่อมโยงข้อมูลภายใต้แพลตฟอร์มอัจฉริยะในการบริหารจัดการข้อมูลด้านกำลังคน และการพัฒนาสมรรถนะเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทย (E-Workforce Ecosystem : EWE) เพื่อใช้ในการผลิตและพัฒนากำลังคนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยความร่วมมือในครั้งนี้ จะนำมาซึ่งเป้าหมายและกลไกในการบูรณาการภารกิจร่วมกัน เพื่อพัฒนาศักยภาพนักเรียน นักศึกษา และกำลังกำลังคนทุกช่วงวัย ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ทันต่ออุตสาหกรรมและเทคโนโลยีในอนาคต และสร้างความก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพ และจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถ การแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติไปจนถึงระดับนานาชาติ และการเทียบโอนหน่วยกิตเข้าสู่ระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) เพื่อให้แรงงานได้วุฒิการศึกษาที่สูงขึ้น มีงานทำ มีรายได้ที่สูงขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จะนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้า และประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศชาติต่อไป

  • สคช. ชวน อบจ.สุพรรณ ดูแลสุขภาพตัวเองอย่างมืออาชีพส่งต่อถึงชาวชุมชนเมืองขุนแผน

    17.07.2567
    367 View

    สคช. ชวน อบจ.สุพรรณ ดูแลสุขภาพตัวเองอย่างมืออาชีพส่งต่อถึงชาวชุมชนเมืองขุนแผน นางสาวณฐา จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมเปิดกิจกรรมและต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมการอบรม หลักสูตร “ผู้นำออกกำลังกายเพื่อสุขภาพชุมชน” โดยมี นายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวเปิดกิจกรรมการอบรม ณ สำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี นางสาวณฐา กล่าวถึงความสำคัญของบุคลากรโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม) ว่าเป็นคนที่เข้าถึงกลุ่มคนในชุมชนมากที่สุด รวมถึงต้องดูแลและเฝ้าระวังสุขภาพของคนชุมชน ทำให้ต้องพัฒนาตนเองอยู่เสมอ และ สคช.พร้อมให้ความร่วมมือในการต่อยอดเติมเต็มในพื้นที่สำหรับการพัฒนาศักยภาพคนด้านอื่น ๆ ต่อไปในอนาคตอีกด้วย ซึ่งการอบรมครั้งนี้จะเป็นการเพิ่มทักษะความรู้ ไม่ว่าจะเป็นการนำการออกกำลังกาย หรือการปฐมพยาบาลและการกู้ชีพ ที่สามารถนำไปปฏิบัติใช้กับคนในชุมชนได้จริง สุดท้ายผู้ผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพและหนังสือรับรองสมรรถนะ สาขาวิชาชีพการกีฬา สาขาการให้บริการทางด้านการกีฬา อาชีพผู้ปฏิบัติงานด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาและการออกกำลังกาย ระดับ 3

  • สคช. ร่วมยินดี NBT ครบรอบ 36 ปี

    11.07.2567
    980 View

    สคช. ร่วมยินดี NBT ครบรอบ 36 ปี นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนา ครบรอบปีที่ 36 สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ณ อาคารศูนย์ปฏิบัติการแพร่ภาพออกอากาศ การกระจายเสียงวิทยุและการให้บริการข้อมูลข่าวสารภาครัฐ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ พร้อมคณะ, น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เดินทางเข้าร่วมแสดงความยินดี โดย น.ส.จิราพร สินธุไพร รมต.ประจำสำนักนายกฯ รวมถึงอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และผู้บริหารกรมประชาสัมพันธ์ ให้การต้อนรับ นายเศรษฐา กล่าวย้ำ ขอให้ภาครัฐช่วยกันพยายามกำกับดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เนื่องจากต้องยอมรับว่ายุคปัจจุบันการเผยแพร่กระจายข่าวมีความหลากหลาย กระจายเร็วซึ่งหลายเรื่องไม่ใช่เรื่องจริง ซึ่งเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง เพราะการบังคับใช้กฎหมายที่มีระเบียบวินัยจะทำได้อย่างรอบคอบต้องใช้เวลาพอสมควร ขณะที่ภาครัฐเองพยายามเดินหน้านโยบาย Soft Power และการเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศผ่านโครงการ IGNITE THAILAND ซึ่งมีหลายนโยบาย และปัจจุบันพยายามดำเนินการให้ลุล่วงโดยเร็ว ซึ่งจะยกขีดความสามารถการแข่งขันของ คนไทยทุกชุมชนทุกครอบครัวที่เราจะได้รับประโยชน์ ไม่ใช่กระจุกตัวแค่เมืองใหญ่ ซึ่งการขับเคลื่อนให้เห็นผล ทุกหน่วยงานต้องช่วยกัน เพื่อต่อยอดสร้างประโยชน์ รวมถึงช่วยกันสื่อสารนโยบาย โดยหาข้อมูลตัวอย่างจากทั้งในและนอกประเทศ นำมาวิเคราะห์ และทำเนื้อหาออกมาเพื่อสื่อสารกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง

  • สคช.ร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มและสิทธิภาพการปฏิบัติงานของบัณฑิตอาสาพัฒนามาตุภูมิ

    11.07.2567
    970 View

    นายนิธิวัชร์ ศิริปริยพงศ์ รองผู้อำนวยการ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มและสิทธิภาพการปฏิบัติงานของบัณฑิตอาสาพัฒนามาตุภูมิ ณ โรงแรม บีพี สมิหลา บีช จังหวัดสงขลา ซึ่งจัดขึ้นโดย ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พร้อมบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “คุณวุฒิวิชาชีพและการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการมีงานทำ” โดยได้แนะนำการใช้งาน E-Workforce Ecosystem platform (EWE) , การใช้งานแฟ้มสะสมผลงานอิเล็กทรอนิกส์ (e-Portfolio) ที่สามารถเก็บรวบรวมข้อมูล ประวัติการศึกษา ผลงาน ประสบการณ์การทำงาน การฝึกอบรมต่างๆ มีการแนะนำระบบแนะแนวการศึกษาและการเรียนรู้สู่อาชีพ Education and Career Guidance หรือ ECG เพื่อแนะแนวนักเรียน นักศึกษา คนทำงาน จากโลกการศึกษา ไปสู่โลกของอาชีพได้อย่างตรงเป้าหมาย ในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ยังได้พบปะกลุ่มบัณฑิตอาสาจังหวัดยะลาและจังหวัดนราธิวาส ที่ให้ความสนใจและลงทะเบียนเข้าใช้งาน EWE Platform จำนวนกว่า 800 คน ทั้งยังบอกด้วยว่าจะแนะนำการใช้งานแพลตฟอร์มนี้ แก่คนอื่นๆ ในพื้นที่ของตนเองต่อไป

  • ผอ.สคช.เผยผู้ที่ได้รับคุณวุฒิวิชาชีพของสคช. ต้องมีสมรรถนะสีเขียว Green Competency ภายใต้แนวคิด “การลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นหน้าที่ของทุกคน ทุกอาชีพต้องร่วมมือกัน เพื่อให้ประเทศไทยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)” ในปี 2025 และ Net Zero ในปี 2065-2070

    11.07.2567
    950 View

    ผอ.สคช.เผยผู้ที่ได้รับคุณวุฒิวิชาชีพของสคช. ต้องมีสมรรถนะสีเขียว Green Competency ภายใต้แนวคิด “การลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นหน้าที่ของทุกคน ทุกอาชีพต้องร่วมมือกัน เพื่อให้ประเทศไทยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)” ในปี 2025 และ Net Zero ในปี 2065-2070 นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ Workshop on Green Workforce Development Roadmap เพื่อจัดทำแผนงานยกระดับแนวทางของระบบการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษา (TVET : Technical Vocational Education and Training) พัฒนาทักษะสีเขียว ณ กะช่อง ฮิลล์ รีสอร์ท จังหวัดตรัง โดยมีหน่วยงานต่างๆ จากประเทศไทย ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา , กระทรวงศึกษาธิการ , สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ , กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม , กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ขณะที่ก็มีหน่วยงานและองค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วม ได้แก่ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) , UNESCO-UNEVOC , ศูนย์ยุโรปเพื่อการพัฒนาอาชีวศึกษา (CEDEFOP) , มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์ , สมาคมเยอรมันเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (GIZ) , ผู้เชี่ยวชาญ TVET นานาชาติ , มูลนิธิคีนันแห่งเอเชีย , โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเตรียมแรงงานไทยให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสีเขียว เป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการนัดแรก และจะตามมาด้วยการให้คำปรึกษาและการเยี่ยมชมการเรียนรู้ เพื่อแจ้งการพัฒนาแผนงานการพัฒนาแรงงานสีเขียวผ่าน TVET ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวว่าทุกๆ มาตรฐานอาชีพของสถาบันจะมีสมรรถนะที่ระบุว่า ทุกคนที่จะได้รับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ จะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทักษะสีเขียว (Green Skills) พร้อมนำเสนอต่อที่ประชุมในรายละเอียดมาตรฐานอาชีพและหน่วยสมรรถนะในกลุ่มที่เป็น Green Job ที่สถาบันดำเนินการแล้วทั้ง กลุ่มพลังงานทดแทน (โซลาร์เซลล์ พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานชีวภาพ พลังงานขยะ) และ กลุ่มมาตรฐานอาชีพที่มีสมรรถนะสีเขียว Green Competency เช่น เกษตร สิ่งแวดล้อม ยานยนต์ไฟฟ้า อนุรักษ์ศิลปหัตกรรมและงานพื้นบ้าน การจัดการพื้นที่สีเขียว ขนส่ง ไบโอพลาสติก และเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น สถาบันได้วางแผนการดำเนินงานให้ทุกอาชีพมีความรู้ / ทักษะที่เกี่ยวข้องกับการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยขับเคลื่อนผ่านมาตรฐานอาชีพให้มีสมรรถนะ Green Competency อย่างไรก็ตาม สถาบันยังคงมุ่งมั่นพัฒนามาตรฐานอาชีพให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบาย เพื่อพัฒนากำลังคนซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศให้บรรลุเป้าหมาย แผนหลักของประเทศไทยและนโยบายที่เกี่ยวข้องที่สอดคล้องกับการดูแลทางด้านสิ่งแวดล้อม

  • สคช. ผนึก อีอีซี พัฒนาทักษะอนาคตให้แรงงานและภาคการศึกษา เน้น Learn to Earn ผ่าน EWE Platform รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ

    08.07.2567
    1,074 View

    สคช. ผนึก อีอีซี พัฒนาทักษะอนาคตให้แรงงานและภาคการศึกษา เน้น Learn to Earn ผ่าน EWE Platform รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการการบริหารทุนมนุษย์เพื่อเข้าสู่ EEC Model ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “การเรียนรู้เพื่ออยู่รอด” พร้อมกล่าวเปิดงาน “Learn to Earn in Digital World through E-Workforce Ecosystem Platform” ณ โรงแรมดุสิตธานี พัทยา จ. ชลบุรี ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC โอกาสนี้ นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนได้ร่วมบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “ทุนมนุษย์และการสร้างเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล : อีอีซีโมเดล” โดยมีนายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ, นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ , คณะผู้บริหารหน่วยงานภาคีเครือข่าย เข้าร่วมงาน นางสาวจุลลดา ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวให้เห็นความสำคัญของ EWE แพลตฟอร์มว่าจะสามารถเชื่อมโยงข้อมูลด้านกำลังแรงงานของประเทศ ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตอบโจทย์ Learn To Earn ในสังคมปัจจุบัน โดยแพลตฟอร์มมีระบบ E-portfolio สามารถเก็บประวัติ ข้อมูลด้านการศึกษา ผลงาน ประสบการณ์ เก็บสั่งสมสมรรถนะการเรียนรู้ Competency Credit Bank ได้ นอกจากนี้ยังมีระบบระบบแนะแนวการศึกษาและการเรียนรู้สู่อาชีพ Education and Career Guidance หรือ ECG เพื่อแนะแนวนักเรียน นักศึกษา คนทำงาน จากโลกการศึกษา ไปสู่โลกของอาชีพได้อย่างตรงเป้าหมาย ซึ่งพื้นที่ EEC จะเป็นต้นแบบสำคัญในการใช้พัฒนากำลังคนในพื้นที่ด้วยการใช้ประโยชน์จาก EWE Platform ภายในงานยังมีการเสวนาจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในอีอีซี สภาอุตสาหกรรม และหอการค้าแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ “เมื่อ Skill Certificate สำคัญต่อโลกของการทำงานการพัฒนาสมรรถนะกำลังคนต้องเปลี่ยนไป” มีการเสนอมุมมองในการพัฒนาทักษะและสมรรถนะของคนในโลกยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การพัฒนาคนให้ได้รับการรับรองทักษะและสมรรถนะในอาชีพนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งพัฒนา โดยเฉพาะพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC จะสามารถเป็นโมเดลต้นแบบได้ ในช่วงบ่ายมีการเสวนาเป็นห้องย่อย 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสำหรับสถานศึกษา ซึ่งมีการพูดถึงการเชื่อมโยงภาคการศึกษากับคุณวุฒิวิชาชีพ และเสวนา ในหัวข้อ “การพัฒนาทักษะผู้เรียนด้วย E-Workforce Ecosystem Platform ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” กลุ่มสำหรับนักทรัพยากรบุคคล มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการการสร้างแรงจูงใจและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนในองค์กร และการบรรยายในหัวข้อ ”People Motivation“ โดยนายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย รวมถึงการเสวนาในหัวข้อ “ยกระดับกำลังคนด้วย Competency” และกลุ่มสุดท้ายสำหรับผู้บริหารสถานประกอบการ มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงการพัฒนาบุคลากรในสถานประกอบการด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ และ EWE Platform พร้อมกับการเสวนาในหัวข้อ “การทำงานร่วมกันระหว่าง สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) กับสถานประกอบการ” นอกจากนี้ยังมีการหารือความร่วมมือระหว่าง สคช. และสถานประกอบการต่าง ๆ อีกด้วย

  • มีลุ้น!! มาตรฐานอาชีพ “หมอลำ”

    04.07.2567
    1,067 View

    มีลุ้น!! มาตรฐานอาชีพ “หมอลำ” นายสุชาติ อินทร์พรหม ผู้อำนวยการสร้างรายการหมอลำไอดอล และเจ้าของวงหมอลำ อีสานนครศิลป์ เข้าพบหารือร่วมกับนางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ถึงแนวทางการจัดทำมาตรฐานอาชีพหมอลำ โดยเห็นว่าหมอลำเป็นศิลปะการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ถือกำเนิดในท้องถิ่นภูมิภาคอิสาน มีรูปแบบต้นกำเนิดจากการเล่าเรื่อง ตำนานวรรณกรรมพื้นบ้าน คติสอนใจทางศาสนา ซึ่งปัจจุบันมีการดัดแปลงประยุกต์ให้ทันสมัยและเป็นที่นิยมมากขึ้น เรียกได้ว่าเป็นศูนย์รวมและเป็นความภูมิใจของคนอิสาน แต่คนในวงการนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้มีการศึกษาสูงนัก หากได้รับการการันตีในอาชีพ ได้รับคุณวุฒิวิชาชีพซึ่งเป็นการรับรองจากหน่วยงานภาครัฐ ก็จะแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่อยู่ในวงการหมอลำมากกว่า 4,000 ชีวิต มีอาชีพที่เรียกว่า หมอลำ ทำให้พวกเขาเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่มีตัวตนในสังคม เบื้องต้นนางสาววรชนาธิป จะได้นำไปหารือถึงความเป็นไปได้ในการจัดทำมาตรฐานอาชีพหมอลำต่อไป เพราะหมอลำถือเป็นอีกหนึ่งศิลปะการแสดงที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ที่กำลังเป็นกระแสนิยมไม่เพียงแต่ในหมู่คนในพื้นที่ภาคอิสาน แต่ได้ขยายวงกว้างทั่วประเทศ ต่อเนื่องไปถึงธุรกิจรถแห่ที่สร้างรายได้ให้คนในอาชีพและเห็นควรได้รับการส่งเสริมผลักดันให้เกิดการรับรองอาชีพต่อไป

  • เริ่มแล้ว! การรับรอง “อาชีพนักเขียน” การันตีคุณภาพ ด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ ครั้งแรกในประเทศไทย

    02.07.2567
    963 View

    เริ่มแล้ว! การรับรอง “อาชีพนักเขียน” การันตีคุณภาพ ด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ ครั้งแรกในประเทศไทย สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) จัดการประเมินเพื่อให้การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ อาชีพนักเขียน ครั้งแรกของประเทศไทยด้วยวิธีการเทียบโอนประสบการณ์ มีนักเขียนอาชีพ และนักเขียนอิสระ เข้าร่วมรับการประเมิน 7 ราย นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวว่านักเขียนเป็นหนึ่งในกระบวนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหนังสือ ซึ่งเป็น 1 ใน 11 อุตสาหกรรมขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ซึ่งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ คนในอาชีพ จัดทำมาตรฐานอาชีพในสาขาวิชาชีพธุรกิจหนังสือและสิ่งพิมพ์ อาชีพนักเขียน ซึ่งเป็นการส่งเสริม พัฒนาทักษะการเรียนรู้ของคนไทยที่มีความสนใจด้านการเขียนไปสู่การเป็นนักเขียนที่สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ จากการคาดการณ์โดยสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย นักเขียนสามารถสร้างรายได้เฉลี่ยหมุนเวียนขั้นต่ำ 330,000 บาทต่อเรื่อง หากมีการพัฒนาสร้างนักเขียนไม่ต่ำกว่าปีละ 1,000 คน คาดว่าจะก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมหนังสือ ไม่น้อยกว่า 42.9 ล้านบาท/ปี ประกอบกับปัจจุบันนักเขียนในประเทศไทยมาจากคนหลากหลายอาชีพ อาทิ สูติ-นรีแพทย์ ข้าราชการ อาจารย์มหาวิทยาลัย แต่มีทักษะการเขียน บางรายผันตัวเองมาเป็นนักเขียนที่สร้างรายได้หลัก บางรายเป็นนักเขียนอิสระเป็นอาชีพเสริม แต่ที่ผ่านมาไม่มีการรับรองมาตรฐานอาชีพนักเขียนมาก่อน ครั้งนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ช่วยยกระดับคุณภาพให้กับวงการนักเขียนในบ้านเรา พัฒนานักเขียนเข้าสู่อุตสาหกรรมหนังสืออย่างมีคุณภาพ นางนรีภพ จิรโพธิรัตน์ นายกสมาคมนักเขียน ในฐานะบรรณาธิการและนักเขียนนิตยสารสกุลไทย อีกหนึ่งตำนานนิตยสารชื่อดังของไทย บอกภายหลังการเข้ารับประเมินอาชีพนักเขียน ระดับ 6 ว่าต้องการยกระดับวิชาชีพนักเขียนของตนเอง แม้จะมีประสบการณ์การเป็นนักเขียนมากว่า 10 ปี มีผลงาน บทความ และงานเขียนอื่นๆ สะสมไว้เป็นจำนวนมาก แต่ไม่เคยได้การรับรองอาชีพมาก่อน การประเมินเพื่อรับคุณวุฒิวิชาชีพจึงเป็นการยกระดับอาชีพนักเขียนให้ตัวเอง เป็นการการันตีระดับความสามารถของนักเขียน ซึ่งเป็นประโยชน์กับนักเขียนให้สามารถขยายงานต่อไปได้ในอนาคต ด้านนายอมรศักดิ์ ศรีสุขกลาง ผู้จัดการศูนย์อาหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และยังเป็นนักร้อง นักเขียนอิสระ ได้เข้ารับการประเมินฯ นักเขียน ระดับ 5 บอกว่า การรับรองมาตรฐานอาชีพนักเขียนเป็นเรื่องสำคัญที่นักเขียนสามารถนำไปต่อยอดในวิชาชีพได้ โดยเฉพาะการว่าจ้างงานเขียนประเภทที่ต้องใช้ความรู้ ความสามารถ รวมถึงใช้ยื่นประกอบการจ้างงาน ทำให้นักเขียนสามารถยกระดับรายได้จากงานเขียนที่ได้รับการันตีคุณภาพ ผู้ว่าจ้างก็จะมีความเชื่อมั่นด้วยเช่นกัน จึงอยากเชิญชวนนักเขียนทั้งที่ทำเป็นอาชีพและเป็นงานอิสระให้เข้ารับการประเมิน โดยใช้ประสบการณ์ ผลงานของตัวเองมาใช้เทียบโอนประสบการณ์เพื่อการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ สำหรับนักเขียนที่สนใจเข้ารับการประเมินสมรรถนะในอาชีพ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) 063 373 3922

  • สคช. ร่วมจีไอที ดึงผู้เชี่ยวชาญประเมินสมรรถนะฯ นักวิเคราะห์เพชร ครั้งแรก การันตีมืออาชีพด้านอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า

    02.07.2567
    951 View

    สคช. ร่วมจีไอที ดึงผู้เชี่ยวชาญประเมินสมรรถนะฯ นักวิเคราะห์เพชร ครั้งแรก การันตีมืออาชีพด้านอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ในฐานะองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ สาขาวิชาชีพอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า จัดการประเมินสมรรถนะฯ อาชีพนักวิเคราะห์เพชร ระดับ 3 จำนวน 11 คน โดยเป็นการวัดความรู้และทักษะด้วยการสอบข้อเขียน และการปฏิบัติ เกี่ยวกับการใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์พื้นฐานตรวจสอบอัญมณี , การรับ-ส่ง และเคลื่อนย้ายอัญมณีที่ตรวจสอบ , การจัดแสงเพื่อจัดระดับคุณภาพเพชร , รายงานผลการตรวจสอบวิเคราะห์เพชร และรายงานผลการจัดระดับคุณภาพเพชร ซึ่งเป็นการประเมินครั้งแรกของอาชีพนักวิเคราะห์เพชร โดยผู้ที่เข้ารับการประเมิน จะต้องเป็นผู้ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีในหน่วยงาน องค์กรหรือสถานประกอบการต่างๆ ที่มีการรับรองประสบการณ์ในอาชีพอย่างน้อย 1 ปี และต้องผ่านการอบรมจากโรงเรียนหรือสถาบันอัญมณีศาสตร์ในหลักสูตรที่สอดคล้อง ไม่ต่ำกว่า 60 ชั่วโมง นอกจากนี้ ต้องมีความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษเบื้องต้น โดยเฉพาะศัพท์ทางด้านอัญมณี เช่น ชื่อชนิดและประเภทของเพชร ชื่อสมบัติของเพชร และชื่อเครื่องมือ เป็นต้น

  • สคช.ร่วมถวายพระพรสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 3 มิถุนายน 2567

    01.06.2567
    814 View

    นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ พร้อมคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ร่วมถวายพระพรสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 3 มิถุนายน 2567 ณ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5

  • สคช. ลุยตลาดในพื้นที่ EEC มอบป้ายการันตีมืออาชีพผู้ประกอบอาหาร Street Food หนุน Soft Power

    01.07.2567
    629 View

    สคช. ลุยตลาดในพื้นที่ EEC มอบป้ายการันตีมืออาชีพผู้ประกอบอาหาร Street Food หนุน Soft Power นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และ นายนิธิวัชร์ ศิริปริยพงศ์ รองผู้อำนวยการสถาบัน พร้อมด้วย ทีมเชฟ จากครัวการบินไทย นำโดย เชฟเปี๊ยก วัชรพงศ์ เมฆผึ้ง และทีมเชฟจากสมาพันธ์เชฟประเทศไทย นำโดยเชฟเสาวกิจ ปรีเปรม ลงพื้นที่ประเมินสมรรถนะผู้ประกอบอาหารริมบาทวิถี ที่ตลาดนัดบางน้ำเปรี้ยว , ตลาดทรัพย์สิน (ท่าไข่) , ตลาดโต้รุ่งบางคล้า และได้มอบป้ายมืออาชีพ ให้กับผู้ที่ผ่านการประเมิน ณ ตลาดน้ำบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 200 คน นางสาวจุลลดา กล่าวว่า เสน่ห์ของอาหารสตรีทฟู้ด เป็น 1 ใน Soft Power ที่ขึ้นชื่อของไทย การเข้ามาให้การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ จึงเป็นการยกระดับให้กับผู้ประกอบอาหารริมบาทวิถี ที่การันตีว่าสามารถประกอบอาหาร ถูกสุขลักษณะ มีมาตรฐานตั้งแต่การเตรียมวัตถุดิบ การปรุง ไปจนถึงการเก็บล้างอุปกรณ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ถือเป็นหมุดหมายแรก ในพื้นที่ EEC ที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพนำร่องการันตีผู้ประกอบอาหารริมบาทวิถีมืออาชีพ โดยหลังจากนี้จะมีการขยายผลการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพไปยังอาชีพอื่นๆ เพื่อสร้างความมั่นใจและกระตุ้นการท่องเที่ยว หนุนนโยบาย Soft power ของรัฐบาล ขณะเดียวกัน ทีมสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพพร้อมเชฟมืออาชีพ ยังได้ลงพื้นที่ประเมินผู้ประกอบอาหารริมบาทวิถี ณ ตลาดท้ายรถนาคา จ.ภูเก็ต เป็นครั้งที่ 2 มีพ่อค้าแม่ค้าร่วมเข้ารับการประเมิน 56 คน ทั้งนี้ ผู้ที่ประกอบอาชีพสตรีทฟู้ด หากสนใจเข้ารับการประเมินสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ สำนักรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) โทร.063-373-3922

  • สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมในงาน THACCA SPLASH - Soft Power Forum 2024 ชูศักยภาพคนไทยด้วยพื้นฐานทางวัฒนธรรมสู่เวทีนานาชาติ

    28.06.2567
    835 View

    สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมในงาน THACCA SPLASH - Soft Power Forum 2024 ชูศักยภาพคนไทยด้วยพื้นฐานทางวัฒนธรรมสู่เวทีนานาชาติ นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมในพิธีเปิดงาน THACCA SPLASH - Soft Power Forum 2024 โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เป็นประธานพิธีเปิดงาน ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ขณะเดียวกันยังมี พร้อมนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ นายภูมิธรรม เวชชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง นายเศรษฐา ระบุว่า เป็นความมุ่งมั่นตั้งใจของรัฐบาลที่จะสร้างเวทีการรวมพลังของทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเรือธงของรัฐบาล ซึ่งเกิดจากความตั้งปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศด้วยการผลักดันยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ให้เป็นอุตสาหกรรมที่คนไทยทุกคนมีส่วนร่วมได้ ผ่านพื้นฐานทางวัฒนธรรม โดยรัฐบาลมุ่งพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เริ่มจากพัฒนาคนผ่านโครงการ 1 ครอบครัว 1 SoftPower หรือ OFOS กลางน้ำก็จะมีการออกกฎหมายตั้งหน่วยงาน THACCA ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางผลักดันอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ทั้ง 11 ด้าน มีเป้าหมายในการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ขั้นปลายน้ำ THACCA ก็จะเป็นผู้กำหนดแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน ประสานกับต่างประเทศ เพื่อนำ Soft Power ของไทย ไปเผยแพร่ในตลาดให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจุดประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ มุ่งปักหมุดใน 3 สร้าง คือ สร้างแรงบันดาลใจ สร้างเวทีแลกเปลี่ยนระดับนานาชาติ และสร้างการรับรู้ให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง รวมถึงเป็นเวทีแลกเปลี่ยนระดับนานาชาติเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม Soft Power ของไทยผ่านการเรียนรู้ case study ที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ โดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ได้เป็นส่วนหนึ่งร่วมในการขับเคลื่อนโครงการ OFOS เพื่อบ่มเพาะกำลังคนในอุตสาหกรรม ยกระดับเป็นแรงงานทักษะสูง และนำไปสู่การรับคุณวุฒิวิชาชีพผ่านโครงการด้วย

  • สคช.ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา หรือได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้ตามศักยภาพ (Thailand Zero Dropout)

    28.06.2567
    801 View

    นายนิธิวัชร์ ศิริปริยพงศ์ รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นผู้แทน ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา หรือได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้ตามศักยภาพ (Thailand Zero Dropout) ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย , กระทรวงศึกษาธิการ ,กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม , กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ , กระทรวงสาธารณสุข , กระทรวงแรงงาน , กระทรวงยุติธรรม กรุงเทพมหานคร , สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ , และ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ณ หอประชุมคุรุสภา โดยมีพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นกล่าวมอบนโยบายและร่วมเป็นสักขีพยาน โดยสถาบันจะร่วม ส่งเสริม สนับสนุน ให้ความช่วยเหลือเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาหรือเด็กตกหล่น ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา หรือการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ หรือการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นในรูปแบบอื่น เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีทักษะ ความรู้ ความสามารถในการประกอบอาชีพตามความถนัดและมีศักยภาพที่จะพึ่งพาตนเองในการดำรงชีวิตได้ ตลอดจนเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ และระบบคุ้มครองทางสังคมในทุกมิติ

  • สคช. ร่วมแสดงความยินดี เนื่องในโอกาสคล้ายวันสถาปนาสำนักนายกรัฐมนตรี ครบรอบ 92 ปี

    28.06.2567
    723 View

    สคช. ร่วมแสดงความยินดี เนื่องในโอกาสคล้ายวันสถาปนาสำนักนายกรัฐมนตรี ครบรอบ 92 ปี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อความเป็นสิริมงคล เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาสำนักนายกรัฐมนตรี ครบรอบปีที่ 92 ในโอกาสนี้ นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้เป็นตัวแทนสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. เข้าร่วมแสดงความยินดี เนื่องในโอกาสคล้ายวันสถาปนาสำนักนายกรัฐมนตรี ครบรอบ 92 ปี ในวันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน 2567 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

  • สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 6/2567

    28.06.2567
    706 View

    นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 6/2567 โดยมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เป็นประธานการประชุม ซึ่งได้มีการรายงานความคืบหน้าการขับเคลื่อนนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ OFOS ซึ่งได้มีการ Workshop ไปเมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีความพร้อมในการพัฒนาหลักสูตร OFOS ของอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ทั้ง 11 ด้าน สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการภาคเอกชน นำไปสู่การจับคู่งาน หรือ Job Matching ได้ รวมถึงมีแนวทางการพัฒนามาตรฐานหลักสูตรและระบบซอฟต์พาวเวอร์คลังหน่วยกิต (National Soft Power Credit Bank) ในการสร้างหลักสูตร OFOS ที่มีคุณภาพต่อไป ซึ่งจะเปิดลงทะเบียนครั้งแรกในงาน THACCA SPLASH วันที่ 28 มิ.ย.นี้ ในที่ประชุมยังได้รายงานความพร้อมการจัดงาน THACCA SPLASH : Soft Power Forum งานฟอรัมระดับนานาชาติด้านซอฟต์พาวเวอร์ครั้งแรกของประเทศไทย ระหว่างวันที่ 28 – 30 มิ.ย. 67 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งเป็นงานที่จะนำเสนอซอฟต์พาวเวอร์ระดับนานาชาติที่รวบรวมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ 11 สาขา อาทิ เฟสติวัล, ท่องเที่ยว, อาหาร, ออกแบบ, ศิลปะ, ภาพยนตร์, เพลง, หนังสือ, เกม, แฟชั่น, และกีฬา ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยภายในงานได้จัดเตรียมหลากหลายโซนให้ผู้เข้าร่วมงานสามารถเข้าชมและร่วมสนุกไปกับนิทรรศการ เวที และพื้นที่กิจกรรมต่าง ๆ เพื่ออัปเดตเทรนด์ เรียนรู้ และสร้างแรงบันดาลใจ พร้อมส่งเสริมให้อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไทยก้าวสู่ระดับโลก