ข่าวประชาสัมพันธ์

  • สถานประกอบการก็มีมาตรฐานอาชีพของตัวเองได้

    03.11.2565
    7,077 View

    สถานประกอบการก็มีมาตรฐานอาชีพของตัวเองได้ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. เปิดให้สถานประกอบการสามารถยื่นคำขอให้ สคช. รับรองมาตรฐานอาชีพสำหรับสถานประกอบการได้แล้ว ซึ่งจะทำให้สถานประกอบการเข้ามามีบทบาทในการพัฒนากำลังแรงงานในสถานประกอบการของตัวเองได้ง่ายขึ้น เปิดช่องทางให้การจัดฝึกอบรมและการประเมินสำหรับสถานประกอบการทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับรูปแบบการดำเนินงาน ที่สำคัญเป็นการส่งเสริมให้กำลังแรงงานของตนเองได้รับคุณวุฒิวิชาชีพเป็นอีกคุณวุฒิหนึ่งในสังคมไทย นายสุรพล พลอยสุข ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวว่า สคช. ได้กำหนดข้อบังคับฯ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพและหนังสือรับรองสมรรถนะสำหรับสถานประกอบการ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 30 กันยายน พ.ศ.2565 โดยสถานประกอบการสามารถยื่นคำขอต่อ สคช. พร้อมรายละเอียดมาตรฐานอาชีพที่ต้องการรับรอง เพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบเอกสาร หลักฐานต่างๆ ทั้งรายการของมาตรฐานอาชีพ เอกสาร หลักฐาน รายละเอียดของมาตรฐานอาชีพที่ต้องการรับรอง รวมถึงการตรวจสอบรายละเอียดสมรรถนะตามมาตรฐานอาชีพในสถานประกอบการก่อนนำไปสู่การดำเนินการขออนุมัติและรับรองเพื่อประกาศใช้ตามลำดับ โดยมาตรฐานอาชีพที่ได้รับการรับรองสถานประกอบการนั้นๆ สามารถนำไปใช้จัดการฝึกอบรมหรือจัดการประเมินสมรรถนะตามาตรฐานอาชีพนั้นได้ และกำลังแรงงานงานที่ผ่านการฝึกอบรมและประเมินตามหน่วยสมรรถนะครบทุกหน่วยตามมาตรฐานอาชีพกำหนด ผู้นั้นมีสิทธิได้รับประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพซึ่งมีศักดิ์และสิทธิเทียบเท่าคุณวุฒิทางการศึกษา “ประโยชน์ที่สถานประกอบการจะได้ไม่เพียงได้กำลังแรงงานที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานอาชีพ แต่ยังเป็นกิจกรรมเพื่อสังคมที่สถานประกอบการดำเนินการเพื่อพัฒนากำลังแรงงานของตัวเอง และยังช่วยลดต้นทุนในการพัฒนากำลังคน ที่สำคัญคือการสร้างความก้าวหน้าในอาชีพ หรือ Career Path ให้กับกำลังแรงงานที่มีความรู้ ความสามารถ และทักษะในการทำงาน เท่ากับเป็นการยอมรับในคุณวุฒิวิชาชีพของประเทศไทยด้วย ซึ่งสถานประกอบการที่สนใจสามารถยื่นขอให้ สคช. เข้าไปให้การรับรองมาตรฐานอาชีพในสถานประกอบการของตัวเองได้โดยไม่จำกัดขนาดว่าเป็นสถานประกอบการขนาดเล็ก หรือขนาดใหญ่” นายสุรพล พลอยสุข กล่าว สำหรับสถานประกอบการที่สนใจขอหนังสือรับรองมาตรฐานอาชีพสำหรับสถานประกอบการสามารถศึกษารายละเอียดได้ผ่านทาง www.tpqi.go.th หรือโทรศัพท์สอบถามได้ที่ 063-373-3926

  • กทม. เอาด้วย!! เตรียมดันนักเรียนโรงเรียนฝึกอาชีพในสังกัด เข้าสู่ระบบคุณวุฒิวิชาชีพ

    02.11.2565
    6,139 View

    กทม. เอาด้วย!! เตรียมดันนักเรียนโรงเรียนฝึกอาชีพในสังกัด เข้าสู่ระบบคุณวุฒิวิชาชีพ นางสาวจุลลดา มีจุล รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ พร้อมด้วย นางสาวพรภัทรา ฉิมพลอย รักษาการผู้อำนวยการสำนักขับเคลื่อนภารกิจพิเศษและคณะ เข้าพบ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อหารือแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกัน หลังจากที่ กทม. ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ E-Workforce Ecosystem Platform EWE ไปเมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา ในงานคุณวุฒิวิชาชีพ คุณวุฒิของคนทำมาหากิน นางสาวจุลลดา ได้นำเสนอ 5 ประเด็น ในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ประกอบไปด้วย การเทียบเคียงหลักสูตรของโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร กับสมรรถนะตามมาตรฐานอาชีพของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เพื่อนำไปสู่การเก็บสะสมสมรรถนะใน Digital Competency Bank การให้หนังสือรับรองสมรรถนะ และการให้ประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ แก่ผู้ผ่านการฝึกอาชีพจากโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร ความร่วมมือในการส่งเสริมให้ครูผู้ฝึกของโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร ได้รับประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ การนำหลักสูตรของโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานครเข้าสู่ E-Workforce Ecosystem Platform การสนับสนุนให้มีการเข้าใช้ E-portfolio และการทำ Sandbox เสริมทักษะ สร้างงาน สร้างอาชีพ ให้แก่กลุ่มเยาวชน NEET (Not in Education, Employment or Training) ร่วมกันระหว่าง สคช. UNICEF และกทม. กับโครงการ 1 เขต 1 โรงเรียน และโครงการ 1 โรงเรียน 1 อาชีพ นายศานนท์ ให้การตอบรับการขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกันในครั้งนี้ อย่างเต็มที่ พร้อมนำร่องโครงการอบรมและประเมินสมรรถนะ digital literacy ให้อาสาสมัครเทคโนโลยี หรือ อสท. และครูคอมพิวเตอร์ของ โรงเรียนฝึกอาชีพ โดยตั้งเป้าหมาย 10,000 คน อีกทั้งการเชื่อมโยงหลักสูตรโรงเรียนฝึกอาชีพกับ EWE และสนับสนุนให้นักเรียนโรงเรียนฝึกอาชีพใช้ e-portfolio โดยจะประชาสัมพันธ์ในช่วงการปฐมนิเทศนักเรียนใหม่ ให้นักเรียนได้เข้าใจและเข้าถึงระบบ e-portfolio ตั้งแต่ต้นนำไปสู่การใช้ระบบให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับตนเองต่อไปในอนาคต ในส่วนของการเทียบเคียงหลักสูตรโรงเรียนฝึกอาชีพ กับมาตรฐานอาชีพ จะเร่งนำหลักสูตรของ กทม. ทั้งหมดที่มีดำเนินการเทียบเคียงกับมาตรฐานอาชีพ ให้เป็นไปตามแนวทางเดียวกันภายใต้หน่วยสมรรถนะตามาตรฐานอาชีพ เพื่อผลักดันให้นักเรียนโรงเรียนฝึกอาชีพ ได้รับประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพหลังเรียนจบ รวมถึงส่งเสริมให้มีการเก็บสะสมหน่วยสมรรถนะที่ฝึกอบรมไปแล้วใน digital competency bank โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ได้ฝึกอบรมจนจบ หลักสูตรได้เก็บสะสมหน่วยสมรรถนะได้ตลอดจนจบการศึกษาในหลักสูตรต่างๆ ตอบโจทย์การเรียนรู้ตลอด ชีวิตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ กทม. หวังว่าการขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกันในครั้งนี้ จะได้ร่วมกันสนับสนุนให้กลุ่มที่ทำงานเกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่น 500-600 คน ได้รับคุณวุฒิวิชาชีพเชิดชูเกียรติด้วยเช่นกัน รวมถึงการร่วมกันพัฒนาผู้ดูแลเด็ก และส่งเสริมการพัฒนาผู้สูงอายุให้เป็นครูฝึก ผู้สอน หรือหางานทำได้

  • สคช. หนุนรับรองสมรรถนะ-คุณวุฒิวิชาชีพ 3 กลุ่มเป้าหมาย ติวเข้มองค์กรรับรองฯ ทั่วประเทศร่วมกันสร้างคุณค่าให้ประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ

    01.11.2565
    7,265 View

    สคช. หนุนรับรองสมรรถนะ-คุณวุฒิวิชาชีพ 3 กลุ่มเป้าหมาย ติวเข้มองค์กรรับรองฯ ทั่วประเทศร่วมกันสร้างคุณค่าให้ประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. นำโดยนายสุรพล พลอยสุข ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และนางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันฯ พบตัวแทนองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพและสมรรถนะ ประจำปีงบประมาณ 2566 เพื่อมอบนโยบายและแนวทางการนโยบายการสนับสนุนการประเมิน แนวทางปฏิบัติตามประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับฯ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (ฉบับใหม่) พร้อมผลักดันให้เกิดการใช้ระบบ E-workforce Ecosystem Platform และ e-portfolio ซึ่งเป็นแฟลตฟอร์มการเชื่อมโยงการพัฒนากำลังแรงงานของประเทศ เพื่อให้มีแนวปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน โดยมีตัวแทนองค์กรที่มีหน้าที่รับรองฯ ทั่วประเทศ ร่วมรับฟังกว่า 400 คน นายสุรพล กล่าวว่า ในปี 2566 สคช. มีเป้าหมายหลัก คือต้องการให้ประชาชนเห็นคุณค่าของประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ และหนังสือรับรองสมรรถนะ ลดภาระค่าใช้จ่าย ด้วยการจัดให้มีทุนสนับสนุนเป็นค่าธรรมเนียมการประเมินมาตรฐานอาชีพและการประเมินสมรรถนะ พ.ศ. 2565” โดยบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ใน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่สามารถรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 อาทิ สาขาวิชาชีพบริการสุขภาพ โลจิสติกส์ เกษตรกรรม การท่องเที่ยว การโรงแรม ภัตตาคารและร้านอาหาร อุตสาหกรรมดิจิทัล ธุรกิจค้าปลีก หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ระบบขนส่งทางราง การเชื่อมอุตสาหกรรม บริการอุตสาหกรรม การบิน และพลังงานและพลังงานทดแทน กลุ่มที่ 2 เป็นสาขาวิชาชีพและอาชีพที่มาตรฐานดำเนินการแล้วเสร็จ ทั้งที่มีองค์กรรับรองฯ และกำลังเตรียมขึ้นทะเบียนองค์กรรับรองฯ ในปีงบประมาณ 2566 สาขาวิชาชีพที่ยังไม่เคยจัดการประเมินฯ และสาขาวิชาชีพอื่นๆ ที่จัดทำขึ้นตามความต้องการของคนในอาชีพ รวมไปถึงกลุ่มการประเมินสมรรรถนะ อย่างมาตรฐานสมรรถนะความสามารถด้านการใช้ดิจิทัล (Digital Literacy) ความสามารถด้านการใช้ภาษาอังกฤษ (English Proficiency) และมาตรฐานสมรรถนะทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce Competency สำหรับองค์กรที่มีหน้าที่รับรองฯ หน่วยประเมินสมรรถนะ หรือบุคคลที่สนใจขอรับการสนับสนุนการประเมิน สามารถดำเนินการตามขั้นตอน ตั้งแต่การยื่นแบบคำขอรับทุนมายังสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อให้คณะทำงานพิจารณาให้ทุนสนับสนุนเป็นค่าธรรมเนียมการประเมิน ก่อนเสนอความเห็นต่อผู้อํานวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อพิจารณาอนุมัติ จนกระทั่งมีการแจ้งผลการพิจารณา ทั้งนี้ เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการผลักดัน ให้คนในอาชีพที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลที่มีคุณภาพ มีความรู้ ความสามารถ และมีทักษะเพียงพอในการประกอบอาชีพต่อไป

  • “สคช. ร่วม IOM และ Homenet เติมทักษะ “E-Commerce for Career” ให้กับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เป็นครั้งแรก”

    31.10.2565
    6,573 View

    “สคช. ร่วม IOM และ Homenet เติมทักษะ “E-Commerce for Career” ให้กับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เป็นครั้งแรก” นายพิริยพงศ์ แจ้งเจนเวทย์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมคุณวุฒิวิชาชีพ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นประธานเปิดการอบรม “E-Commerce for Career” ภายใต้ความร่วมมือกันระหว่าง สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) กับ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) และ Homenet เพื่อพัฒนาทักษะแรงงานข้ามชาติ กลุ่มอาชีพแม่บ้าน ให้มีความรู้ และทักษะด้านการตลาดออนไลน์เพื่ออาชีพ โดยมี คุณเจนจิรา ศรีดี เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ โดยมี ดร.บุญสม น้ำสมบูรณ์ จาก Homenet และผู้แทนจาก IOM เข้าร่วมงาน นายพิริยพงศ์ แจ้งเจนเวทย์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวถึงการจัดงานวันนี้ว่า การจัดการอบรมในวันนี้ เป็นการขยายผลการดำเนินงานร่วมกับองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ในการพัฒนาทักษะอาชีพในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะความรู้ทางด้านการตลาดออนไลน์เพื่ออาชีพ “E-Commerce for Career” ที่มีความจำเป็นสำหรับการประกอบอาชีพและการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน นับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการอบรมทักษะด้านนี้ให้กับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ กลุ่มอาชีพแม่บ้านสัญชาติพม่าให้ได้รับทักษะทางด้านการตลาดออนไลน์ ทั้งในเรื่องการตลาดยุคดิจิทัล เทรนด์การตลาด พฤติกรรมผู้บริโภค การสร้างออนไลน์คอนเทนต์ แพลตฟอร์มการตลาดออนไลน์ การจัดส่งสินค้า และการเลือกวิธีการชำระเงิน เป็นต้น โดยมีกลุ่มแรงงานอาชีพแม่บ้านสัญชาติพม่า จำนวน 50 คน ได้เข้าอบรมโดยความร่วมมือกับ มูลนิธิเพื่อพัฒนาแรงงานและอาชีพ (Homenet) โดยมีวิทยากรผู้เชียวชาญด้านการตลาดออนไลน์ “โค้ชมิ้ม” คุณเจนจิรา ศรีดี ประธานกรรมการ บริษัท ยัวร์ เอ็มเคที จำกัด มาอบรม “E-Commerce for Career” ทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติ รวมถึง เวิร์คชอป เพื่อให้แรงงานข้ามชาติ สามารถมีอาชีพที่ยั่งยืนสร้างรายได้ หลังจากกลับไปยังประเทศตนโดยใช้ แนวทางการตลาดออนไลน์ เป็นเครื่องมือในการสร้างรายได้ โดยเฉพาะในการใช้ โซเชียลมีเดียอย่าง Facebook สำหรับการขายและเพิ่มลูกค้า โดยที่มีหลักการสร้างคอนเทนต์ สร้างชื่อร้านให้น่าจดจำ ศึกษาและสังเกตพฤติกรรมผู้บริโภค กฎและข้อห้ามสำหรับการขายบน Facebook และการเลือกชำระเงินในหลายๆ ช่องทาง รวมทั้งยังมีการเสริมความรู้ทางด้านการขายสินค้าผ่านทาง ไลน์ อินสตราแกรม ฯลฯ โดยผู้เข้าอบรมได้ทำแบบทดสอบทั้งก่อนและหลังการอบรม ซึ่งมีผลที่พัฒนาความรู้ ความเข้าใจ ที่มีคะแนนเพิ่มขึ้น และได้รับวุฒิบัตรการอบรมทุกคน ทั้งนี้ ผู้เข้าอบรมต่างแสดงความรู้สึกขอบคุณผู้ร่วมจัดงานทุกหน่วยงานที่สร้างโอกาสและนำความรู้ด้านการตลาดออนไลน์เพื่อนำไปปรับใช้กับอาชีพ สร้างรายได้ โดยเฉพาะเมื่อกลับไปยังประเทศตนแล้ว สามารถนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้สร้างอาชีพต่อไปได้ โครงการความร่วมมือนี้ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีร่วมกับองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัยในสถานการณ์ปกติของกัมพูชา ลาว เมียนมา และไทย (Poverty reduction through Safe Migration, Skill Development and Enhance Job Placement in Cambodia, Lao PDR, Myanmar and Thailand (PROMISE) เน้นการส่งเสริมให้แรงงานต่างด้าว ได้รับการพัฒนาทักษะที่เหมาะสม โดยโครงการได้รับการสนับสนุน ด้านงบประมาณจาก Swiss Agency for Development and Cooperation (SDC) มีวัตถุประสงค์ในการสร้างความเข้มแข็งในการเชื่อมโยงแรงงานย้ายถิ่นฐานและลดความยากจนในประเทศไทย โดยการได้รับคุณวุฒิวิชาชีพที่จะเป็นประโยชน์ที่จะสามารถ เป็นเครื่องยืนยัความสามารในการทำงานที่ได้มาตรฐาน เป็นมืออาชีพในการทำงานอย่างแท้จริง

  • สคช.- Masci พร้อมผลักดันการรับรองคน ด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ

    26.10.2565
    9,995 View

    สคช.- Masci พร้อมผลักดันการรับรองคน ด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ นายจงรักษ์ โรจน์พลาเสถียร ผู้อำนวยการสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ พร้อมคณะผู้บริหาร เข้าพบ นายสุรพล พลอยสุข ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และนางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันฯ เพื่อหารือแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. และสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ อุตสาหกรรมพัฒนาฯ หรือ สรอ. (MASCI) ในฐานะที่ Masci เป็นสถาบันอิสระฯ ดำเนินงานด้านการให้บริการรับรองตามมาตรฐาน การทำงานตามหลักเกณฑ์สากล ISO/IEC 17020 ISO/IEC 17021-1 ISO 50003 และ ISO 14065 และมาตรฐานระบบอื่นๆ เพื่อเสริมประสิทธิภาพและคุณภาพอุตสาหกรรม เพิ่มขีดความสามารถด้านการรับรองให้ทัดเทียมกับสากล รวมถึงพัฒนาบุคลากรทั้งภาครัฐและเอกชนให้มีคุณสมบัติตามเกณฑ์มาตรฐานที่จะรองรับงานในระดับสากลได้ นายสุรพล มองว่าเป็นเรื่องที่ดีถ้าหากสถานประกอบแต่ละแห่ง จะให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาบุคลากรของตัวเองให้ได้มาตรฐานตามแนวทางที่ Masci ดำเนินการ และจะยิ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพให้สถานประกอบการ หากบุคลากรได้รับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งเป็นภารกิจหลักที่ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพที่ให้การรับรองคนด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ นอกจากจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการผลักดันให้กำลังคนเข้าสู่ตลาดแรงงานได้เร็วขึ้นแล้ว ยังเป็นการสร้างโอกาสให้กับบุคลากรในสถานประกอบการมีศักยภาพ สามารถทำงานตามมาตรฐานในระดับสากลอีกด้วย ขณะที่ทาง Masci เห็นตรงกันกับแนวทางการพัฒนากำลังคนของ สคช. และเห็นช่องทางในการทำงานร่วมกัน ที่ไม่เพียงจะให้การรับรองสถานประกอบการเท่านั้น แต่จะผลักดันให้เกิดการรับรองคนด้วยคุณวุฒิวิชาชีพร่วมด้วย

  • สคช. หารือ สมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย ถึงแนวทางการใช้ประโยชน์จากระบบคุณวุฒิวิชาชีพ

    20.10.2565
    11,097 View

    นางสาวจุลลดา มีจุล รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) นำทีมผู้บริหาร สคช. ,นางสาวโอมิกา บุญกัน รักษาการผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ และนายชนพล อินเที่ยง หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนามาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ พบปะหารือ นายสุเทพ วงศ์รื่น นายกสมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, นายชยานนท์ กฤตยาเชวง ที่ปรึกษาสมาคม นายศิขัณฑ์ พงษพิพัฒน์ อุปนายกสมาคมฯ และผศ.ไพบูลย์ ใจเด็ด อุปนายกสมาคมฯ ถึงแนวทางการใช้ประโยชน์จากระบบคุณวุฒิวิชาชีพ รวมถึงให้การยอมรับในประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ เบื้องต้นได้มีการหารือถึงการนำมาตรฐานอาชีพซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำ ในอาชีพผู้เลี้ยงสุกร ผู้เลี้ยงไก่ไข่-ไก่เนื้อ ผู้เลี้ยงโคนม-โคเนื้อ และอาชีพผู้เลี้ยงแพะ ได้เข้าสู่กระบวนการประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ และได้รับการรับรองประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ และทักษะในการทำงานในอาชีพดังกล่าวด้วยประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสการเข้าถึงการขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสัตวบาลประเภท ข. ตามพระราชบัญญัติ วิชาชีพการสัตวบาล พ.ศ. 2565 มาตรา 34 (2) ได้มากขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังได้หารือถึงการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมและเติมเต็มความรู้ ทักษะให้กับกำลังแรงงานด้านปศุสัตว์ ให้เป็นกำลังแรงงานคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

  • สคช.- IOM ร่วมกับ Homenet นำร่อง…เติมทักษะด้านความรู้ทางด้านการเงิน “Financial Literacy” กลุ่มแรงงานข้ามชาติ เพื่อการจัดการเงินที่ยั่งยืน

    18.10.2565
    12,220 View

    สคช.- IOM ร่วมกับ Homenet นำร่อง…เติมทักษะด้านความรู้ทางด้านการเงิน “Financial Literacy” กลุ่มแรงงานข้ามชาติ เพื่อการจัดการเงินที่ยั่งยืน นายพิริยพงศ์ แจ้งเจนเวทย์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมคุณวุฒิวิชาชีพ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นประธานเปิดการอบรม “Financial Literacy” ภายใต้ความร่วมมือกันระหว่าง สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (สคช.) กับ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) และ Homenet เพื่อร่วมกันพัฒนาทักษะแรงงานข้ามชาติ อาชีพแม่บ้านในโรงแรม (Housekeeper) พัฒนาความรู้ ความสามารถ และทักษะในการประกอบอาชีพ และการบริหารทางด้านการเงิน โดยมี คุณสุทธิคุณ ศิริอนันต์ เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ พร้อมด้วยทีมงานผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงินและโดยมี ดร.บุญสม น้ำสมบูรณ์ จาก Homenet และผู้แทนจาก IOM เข้าร่วมงาน นายพิริยพงศ์ แจ้งเจนเวทย์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวถึงการจัดอบรมในครั้งนี้ว่า เป็นการขยายผลการดำเนินงานร่วมกับองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ในการพัฒนาทักษะอาชีพให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติ ในการพัฒนาทักษะแรงงานข้ามชาติด้านความรู้ทางด้านการเงิน (Financial Literacy) ซึ่งนับว่าเป็นการนำร่องสำหรับ กลุ่มอาชีพแม่บ้าน ให้ได้รับทักษะทางด้านการเงิน ในด้านการสำรวจค่าใช้จ่ายตนเอง การบริหารออมเงินการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย การชำระหนี้นายหน้าอย่างถูกวิธี และช่องทางส่งเงินกลับต่างประเทศ นับว่าเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เสริมสร้างทักษะที่จำเป็นในการประกอบอาชีพให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติ โดยมีกลุ่มแรงงานข้ามชาติ อาชีพแม่บ้านสัญชาติเมียนมา จำนวน 50 คน ได้เข้ารับการอบรมโดยความร่วมมือกับ มูลนิธิเพื่อพัฒนาแรงงานและอาชีพ (Homenet) มีการให้ความรู้ทางการเงินสำหรับแรงงานข้ามชาติในหลากหลายมิติ โดยคุณสุทธิคุณ ศิริอนันต์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการจัดการทางการเงิน (Financial Literacy) มีการทดสอบความรู้เบื้องต้น (Pre-Test) ก่อนการอบรม การตรวจสุขภาพทางการเงินของแต่ละคนว่ามีสุขภาพทางการเงินอย่างไร ในระดับอ่อนแอ ระดับปานกลางหรือระดับดีมาก เพื่อสามารถรู้ว่าควรจะบริหารจัดการเงินส่วนบุคคลได้อย่างไร โดยพฤติกรรมในการใช้จ่ายของแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ ใช้จ่ายด้านอาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ รวมถึงการใช้จ่ายในด้านการเสี่ยงโชค และของใช้ส่วนบุคคล แหล่งที่แรงงานข้ามชาติไปใช้จ่ายมากที่สุด คือ ร้านขายของชำ ตลาดสด และตลาดนัด การจัดการอบรมมีการ Workshop ด้านการวางแผนทางการเงินระยะ 1 ปี 3 ปี หรือระยะยาว 5 ปี โดยปรับเปลี่ยนตามศักยภาพทางการเงินของแต่ละคน และเน้นในด้านการออมเงิน ที่จะต้องมีสัดส่วนการออมเงิน 1 ใน 4 ของรายได้ต่อเดือน เป็นหนี้ต่อเดือน 1 ใน 3 เป็นต้น ทั้งนี้ยังมีการให้แต่ละคนวางแผนทางการเงิน (Financial Planning) เพื่อจะได้รู้ว่าส่วนไหนเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ส่วนไหนเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ทั้งยังมีเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพื่อให้สามารถออมเงินได้ตามที่ต้องการ เช่น การวางแผนเก็บเงินไปเที่ยวต่างประเทศ เก็บเงินไว้ซื้อทอง เก็บไว้ให้ลูก หรือซ่อมแซมบ้าน เป็นต้น ทั้งนี้วิทยากรยังได้สอดแทรก “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทั้งนี้ ผู้เข้าอบรมยังได้ทำแบบทดสอบหลังจากการอบรม และได้รับใบวุฒิบัตรการอบรม โดยช่วงท้ายได้มีการสอบถามความรู้สึกของผู้เข้าอบรมแต่ละคน โดยรวมมีความรู้สึกขอบคุณคณะวิทยากร และผู้จัดการอบรมครั้งนี้ ที่ให้ความรู้ทางด้านการเงินอย่างถูกต้อง สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างดี ครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งแรกที่แรงงานข้ามชาติกลุ่มแม่บ้านได้เข้าอบรมความรู้ทางด้านการเงิน และทุกคนอยากให้มีการอบรมแบบนี้ในรุ่นต่อๆ ไปอีก โครงการความร่วมมือนี้ ที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมกับองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการบรรเทาความยากจนผ่านการพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัยในสถานการณ์ปกติของกัมพูชา ลาว เมียนมา และไทย (Poverty reduction through Safe Migration, Skill Development and Enhanced Job Placement in Cambodia, Lao PDR, Myanmar and Thailand (PROMISE)) เน้นการช่วยส่งเสริมให้แรงงานต่างด้าวได้รับการพัฒนาทักษะที่เหมาะสม และสร้างโอกาสในการเคลื่อนย้ายผ่านช่องทางที่ถูกกฎหมายต่อไป โดยโครงการได้รับการสนับสนุน ด้านงบประมาณจาก Swiss Agency for Development and Cooperation (SDC) มีวัตถุประสงค์ในการสร้างความเข้มแข็งในการเชื่อมโยงแรงงานย้ายถิ่นและการลดความยากจนในประเทศไทย การได้รับคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ที่จะสามารถเป็นเครื่องยืนยันความสามารถในการทำงานที่ได้มาตรฐาน เป็นมืออาชีพในการทำงานอย่างแท้จริง

  • สคช. ร่วมวงวุฒิสภา ถกแผนพัฒนาประชากรไทยเตรียมรองรับสังคมสูงวัย ย้ำ สคช. ร่วมสร้างกำลังคนมืออาชีพ พัฒนาสมรรถนะเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต

    18.10.2565
    12,925 View

    สคช. ร่วมวงวุฒิสภา ถกแผนพัฒนาประชากรไทยเตรียมรองรับสังคมสูงวัย ย้ำ สคช. ร่วมสร้างกำลังคนมืออาชีพ พัฒนาสมรรถนะเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต นางสาวจุลลดา มีจุล รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นผู้แทนสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เข้าร่วมการเสวนา "แผนพัฒนาประชากรไทยกับการเตรียมรองรับสังคมสูงวัย : การขับเคลื่อนแบบมีส่วนร่วมที่เป็นรูปธรรม" จัดโดย คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา โดยนายอำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา ประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามการปฏิรูปด้านสังคม กิจการผู้สูงอายุและสังคมสูงวัย เป็นประธานในการเสวนา และมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิชาการเข้าร่วมกว่า 60 คน เช่น สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมกิจการผู้สูงอายุ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กรมการปกครอง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ธนาคารแห่งประเทศไทย บริษัท ออโต้ อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด รวมถึงกลุ่มแรงงานเช่น สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมกระจกและเคมีภัณฑ์แห่งประเทศไทย สหพันธ์แรงงานปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์แห่งประเทศไทย การเสวนาในครั้งนี้ มุ่งหวังให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว และแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 ซึ่งทั้งสองแผนมีเนื้อหาสาระสำคัญที่เสริมการดำเนินงานเพื่อการรองรับสังคมสูงวัยของประเทศไทย รวมถึงได้ถกถึงข้อมูล ประสบการณ์ ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะการดำเนินงานที่เชื่อมโยงกับแผนดังกล่าวของแต่ละหน่วยงาน และสร้างความร่วมมือการขับเคลื่อนแผนในลักษณะแบบหุ้นส่วน (Governance by Partnerships) รวมถึงเชื่อมประสานการทำงานจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ที่ทำหน้าที่เชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Plan) ภาควิชาการ ที่ทำหน้าที่ศึกษาแนวทางการทำงาน (Content) ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและชุมชน ในการขับเคลื่อนการรองรับสังคมสูงวัยอย่างเป็นรูปธรรม ในการเสวนาดังกล่าว ได้กล่าวถึงบทบาทของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ในฐานะที่มีหน้าที่ในการประเมินและรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นการรองรับการสร้างทักษะการทำงานในโลกยุคปัจจุบันที่ต้องการระบบการเรียนรู้แบบใหม่ที่เหมาะกับทุกคน เป็นการเรียนรู้และยกระดับทักษะตลอดชีวิต โดยสถาบันฯ ได้ทำงานร่วมกับสถานประกอบการ ในการนำคุณวุฒิวิชาชีพไปพัฒนาทักษะกำลังแรงงานทั้งในสายงานหลัก และในการสร้างอาชีพเสริมรองรับสังคมสูงวัย นอกจากนี้ สถาบันฯ ได้ทำงานร่วมกับ UNICEF และ IOM ในการส่งเสริมให้ประชากรกลุ่มด้อยโอกาส ทั้งเยาวชนกลุ่ม NEET (Youth Not in Education, Employment, nor Training) และแรงงานข้ามชาติ ได้รับการพัฒนาทักษะในการทำงาน ได้รับคุณวุฒิวิชาชีพ ส่งเสริมให้มีทักษะที่สูงขึ้น เพิ่มโอกาสในการทำงานและรายได้ที่สูงขึ้นอีกด้วย ซึ่งมีข้อเสนอแนะจากวงเสวนาให้สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ พิจารณาเปิดโอกาสให้ผู้ไม่มีสัญชาติไทย หรือบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ได้เข้าถึงโอกาสเข้าสู่คุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อเพิ่มโอกาสการจ้างงานและความก้าวหน้าในอาชีพอีกด้วย

  • สคช. ร่วมแสดงความยินดี 21 ปี คมชัดลึก

    17.10.2565
    12,332 View

    สคช. ร่วมแสดงความยินดี 21 ปี คมชัดลึก นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นตัวแทนสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. ร่วมแสดงความยินดีเนื่องในโอกาส ครบรอบ 21 ปี คมชัดลึก โดยมี นายมารุต อรรถไกวัลวที ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และนายรณชัย หาญสุวานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ คมชัดลึก ออนไลน์ ให้การต้อนรับ ณ อาคารอินเตอร์ลิงค์ ทาวเวอร์ บางนา กรุงเทพมหานคร นางสาววรชนาธิป กล่าวว่า ถือเป็นโอกาสดีที่ สคช. ได้มาร่วมแสดงความยินดี เนื่องในโอกาสครบรอบปีที่ 21 คมชัดลึก และอวยพรให้เป็นสื่อมวลชน ที่นำเสนอข่าวสารที่มีคุณภาพ พร้อมส่งเสริมสังคมไทยเป็นสังคมแห่งความคิดสร้างสรรค์ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ในการนี้ บรรณาธิการบริหาร คมชัดลึก ได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ในการพัฒนากำลังแรงงานให้มีศักยภาพ พร้อมรับการรับรองด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ โดย คมชัดลึก จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสนับสนุนการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร เพื่อเป็นการส่งเสริม และเพิ่มโอกาสให้กับผู้ที่อยู่ในอาชีพได้มีการพัฒนาตนเองตามมาตรฐานอาชีพต่อไป

  • สคช.- IOM จับมือ โรงแรมเดอะสุโกศล เร่งยกระดับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ให้เป็น แม่บ้านในโรงแรมมืออาชีพ พร้อมให้บริการรองรับนักท่องเที่ยว

    12.10.2565
    15,802 View

    สคช.- IOM จับมือ โรงแรมเดอะสุโกศล เร่งยกระดับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ให้เป็น แม่บ้านในโรงแรมมืออาชีพ พร้อมให้บริการรองรับนักท่องเที่ยว นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นประธานเปิดการอบรมเตรียมความพร้อมความรู้ในอาชีพก่อนการประเมินสมรรถนะฯ อาชีพแม่บ้านในโรงแรม ระดับ 1 ภายใต้ความร่วมมือกันระหว่าง สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (สคช.) กับ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) เพื่อร่วมกันพัฒนาทักษะแรงงานข้ามชาติ อาชีพแม่บ้านในโรงแรม (Housekeeper) ของโรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพมหานคร ให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะในการประกอบอาชีพ และได้รับการรับรองด้วยประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ โดยมี ผศ.วริษฐา แก่นสานสันติ อาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจการโรงแรม โรงเรียนการท่องเที่ยวและการบริการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ พร้อมด้วยนางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย และรองประธานกรรมการบริหาร กลุ่มโรงแรมเครือสุโกศล และผู้แทนจาก IOM ร่วมในงาน นางสาววรชนาธิป กล่าวว่า หลังมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวสถานประกอบการโรงแรม ที่พัก มีความต้องการจ้างแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะแผนกแม่บ้านและพนักงานทำความสะอาดมากขึ้น ส่งผลให้กำลังแรงงานของประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวที่จะมาถึง จะมีการเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก กลุ่มแรงงานข้ามชาติจะเป็นกำลังสำคัญ ที่จะส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมดำเนินไปอย่างราบรื่น ดังนั้น การเพิ่มความรู้ และทักษะที่จำเป็น จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ทำงานได้อย่างมีมาตรฐานที่สากลให้การยอมรับ ซึ่งการจัดอบรมในครั้งนี้ จะช่วยพัฒนาทักษะแรงงานข้ามชาติที่ทำงานอย่างถูกกฎหมายในประเทศไทย รวมถึงการเตรียมความพร้อมสู่การประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ ของสถาบันฯ อีกด้วย นายพิริยพงศ์ แจ้งเจนเวทย์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดอบรมว่า การจัดอบรมในครั้งนี้ เป็นการขยายผลการดำเนินงานร่วมกับองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ในการพัฒนาทักษะอาชีพให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติ ภายใต้แนวทางการทำงานเพื่อให้บริการตอบสนองความต้องการพัฒนายกระดับกำลังแรงงานในสถานประกอบการ (Service Provider) ซึ่งสถาบันฯ ได้ร่วมมือกับโรงแรมเดอะสุโกศล จัดการอบรมให้พนักงานผู้ปฏิบัติงานในโรงแรมที่เป็นแรงงานข้ามชาติในอาชีพแม่บ้านในโรงแรม (Housekeeper) ซึ่งถือเป็นกลุ่มแม่บ้านโรงแรมที่เป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติกลุ่มแรกจะได้รับความรู้ในทุกมิติที่เกี่ยวข้องในอาชีพ ตั้งแต่ การอ่านคำสั่งพื้นฐาน การทำตามคำสั่งภาษาอังกฤษ การปรับตัวการทำงานร่วมกับผู้อื่น การทำความสะอาดอุปกรณ์ การให้บริการแผนกซักรีด และการจัดเตรียมห้องพัก เป็นต้น ซึ่งสามารถใช้ต่อยอดแม่บ้านของโรงแรมเดอะสุโกศล สร้างโอกาสให้เกิดการพัฒนาให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ และช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เสริมสร้างศักยภาพในการประกอบอาชีพให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติ นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย และรองประธานกรรมการบริหาร กลุ่มโรงแรมเครือสุโกศล กล่าวว่า ห้องพักถือเป็นหน้าตาที่สำคัญของโรงแรม และพนักงานที่เป็นแม่บ้านโรงแรมเป็นทีมงานเบื้องหลังการดูแลความสะอาดเรียบร้อยของห้องพักในทุกๆ โรงแรมให้เป็นมาตรฐาน และการที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และ IOM มีโครงการที่สนับสนุนการพัฒนาทักษะของแรงงานข้ามชาติให้ได้รับการฝึกอบรมการทำงานตามมาตรฐานอาชีพและได้รับคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งในโรงแรมเดอะสุโกศลมีพนักงานผู้ปฏิบัติงานเป็นแรงงานข้ามชาติอยู่ร่วม 15 ชีวิตนั้น เป็นโอกาสอันดีที่เปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติที่ทำงานในสถานประกอบการอย่างถูกกฎหมายได้รับการพัฒนา มีคุณวุฒิวิชาชีพที่จะเปิดโอกาสความก้าวหน้าต่อไปได้ ต้องขอขอบคุณสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพที่ได้ริเริ่มการพัฒนาทักษะแรงงานข้ามชาติในธุรกิจโรงแรมในครั้งนี้ด้วย โครงการความร่วมมือนี้ ที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมกับองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการบรรเทาความยากจนผ่านการพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัยในสถานการณ์ปกติของกัมพูชา ลาว เมียนมา และไทย (Poverty reduction through Safe Migration, Skill Development and Enhanced Job Placement in Cambodia, Lao PDR, Myanmar and Thailand (PROMISE)) เน้นการช่วยส่งเสริมให้แรงงานต่างด้าวได้รับการพัฒนาทักษะที่เหมาะสม และสร้างโอกาสในการเคลื่อนย้ายผ่านช่องทางที่ถูกกฎหมายต่อไป โดยโครงการได้รับการสนับสนุน ด้านงบประมาณจาก Swiss Agency for Development and Cooperation (SDC) มีวัตถุประสงค์ในการสร้างความเข้มแข็งในการเชื่อมโยงแรงงานย้ายถิ่นและการลดความยากจนในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นความร่วมมือด้านการจ้างงานและการพัฒนาทักษะแรงงาน เข้าถึงการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งเป็นคุณวุฒิที่เป็นทางการที่มีความเทียบเท่ากับคุณวุฒิทางการศึกษา รวมถึงการจ้างงานและการคุ้มครองแรงงานที่มีจริยธรรม เพื่อสร้างโอกาสให้แรงงานต่างด้าวเข้าสู่การโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัยและการจ้างงานที่มีคุณค่า ได้รับการรับรองทักษะ ความรู้ ความสามารถในการทำงานที่สั่งสมเรียนรู้จากประสบการณ์ทำงานจริง ให้ได้รับเป็นการรับรองมาตรฐานอาชีพ และการได้รับคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ที่จะสามารถเป็นเครื่องยืนยันความสามารถในการทำงานที่ได้มาตรฐาน เป็นมืออาชีพในการทำงานอย่างแท้จริง

  • สคช. – กพร. สานพลังพัฒนากำลังแรงงานให้มีประสิทธิภาพ ด้วยการเชื่อมโยงมาตรฐานอาชีพกับมาตรฐานฝีมือแรงงาน และสร้างการยอมรับในระบบคุณวุฒิวิชาชีพ

    11.10.2565
    15,435 View

    สคช. – กพร. สานพลังพัฒนากำลังแรงงานให้มีประสิทธิภาพ ด้วยการเชื่อมโยงมาตรฐานอาชีพกับมาตรฐานฝีมือแรงงาน และสร้างการยอมรับในระบบคุณวุฒิวิชาชีพ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (สคช.) โดยนายสุรพล พลอยสุข ผู้อำนวยการ สคช. และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน (กพร.) โดยนายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สคช. และกพร. เพื่อร่วมกันบูรณาการการฝึกอบรม มาตรฐานฝีมือแรงงาน และมาตรฐานอาชีพเพื่อพัฒนากำลังแรงงาน โดยมีนายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการ สคช. เป็นประธานการลงนามฯ พร้อมด้วยผู้บริหาร สคช. และกพร. ร่วมเป็นสักขีพยาน นายสุรพล พลอยสุข ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวถึงความร่วมมือระหว่าง สคช. และกพร. ว่าทั้ง 2 หน่วยงานมีเป้าหมายเดียวกันคือพัฒนากำลังแรงงานของประเทศนำไปสู่การจ้างงานกำลังแรงงานที่มีคุณภาพ ผ่านการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดทำและเชื่อมโยงมาตรฐานอาชีพกับมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ รวมทั้งเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลเข้าด้วยกัน พร้อมผลักดันให้กำลังแรงงานที่ผ่านการฝึกอบรมหรือผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติได้การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งมีศักดิ์และสิทธิ์เทียบเท่าคุณวุฒิทางการศึกษา รวมถึงการผลักดันให้คุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติเป็นที่ยอมรับในระบบการจ้างงานทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งการยอมรับคุณค่าของประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ และทักษะการทำงานด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ นับเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในครัวเรือนได้เร็วขึ้น และเป็นการพัฒนากำลังแรงงานของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม นายประทีป กล่าวว่า เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่แรงงานก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน มีความจำเป็นต้องเร่งการพัฒนาคนให้มีฝีมือให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถรองรับเทคโนโลยี สร้างโอกาสทางการค้า การผลิต และการแสวงหาเส้นทางอาชีพใหม่ ๆ จึงจำเป็นต้องอาศัยหน่วยงานจากภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเครือข่ายในการพัฒนาฝีมือแรงงานให้กว้างขวาง และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ความร่วมมือในครั้งนี้ จึงเป็นการสร้างโอกาสความก้าวหน้าในการทำงานทั้งในประเทศและต่างประเทศตามแนวทางที่เป็นสากล รวมถึงเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนของประเทศด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพให้สอดรับกับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาคน ตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้ใช้กลไกประชารัฐในการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวสู่อนาคต สำหรับบทบาทของ สคช. ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ คือการพัฒนามาตรฐานสมรรถนะบุคลากรโดยการกำหนดหลักเกณฑ์ ในการได้รับหนังสือรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ สำหรับผู้ผ่านการฝึกอบรมหรือผู้ที่ได้รับหนังสือรับรองว่าเป็นผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ การสนับสนุนข้อมูลมาตรฐานอาชีพและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง การร่วมกันพิจารณาเลือกอาชีพนำร่อง เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ผ่านการฝึกอบรมหรือทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ได้รับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ รวมถึงการพัฒนาระบบและเชื่อมโยงข้อมูลภายใต้แพลตฟอร์มอัจฉริยะในการบริหารจัดการข้อมูลด้านกำลังคนและการพัฒนาสมรรถนะเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ของประเทศไทย ผ่านแพลตฟอร์ม E-Workforce Ecosystem: EWE ซึ่งประกอบด้วย ระบบ แฟ้มสะสมงานอิเล็กทรอนิกส์ (E-Portfolio) ระบบธนาคารหน่วยกิตดิจิทัล (Digital Credit Bank System) และระบบอื่น ๆ ตามที่ได้มีการตกลงร่วมกันต่อไป.

  • สคช. – เอไอเอส หารือแนวทางการพัฒนาบุคลากรรูปแบบใหม่ รองรับยุคดิจิทัล

    10.10.2565
    16,152 View

    สคช. – เอไอเอส หารือแนวทางการพัฒนาบุคลากรรูปแบบใหม่ รองรับยุคดิจิทัล นายสุรพล พลอยสุข ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ พร้อมด้วย นางสาววรชนาธิป จันทนู นางสาวจุลลดา มีจุล รองผู้อำนวยการฯ และนางสาวนฤมล พูลทรัพย์ ที่ปรึกษาสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ พบนางสาวกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล กลุ่ม AIS และ Intouch จำกัด (มหาชน) และ ดร.สุพจน์ ศรีนุตพงษ์ Acting Head of AIS Academy เพื่อหารือแนวทางการเชื่อมโยงข้อมูล และพัฒนาองค์กรร่วมกันระหว่าง สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และกลุ่มบริษัทในเครือ AIS และ Intouch พร้อมเยี่ยมชม CO-WORKING SPACE ที่ช่วยเพิ่มบรรยากาศในการทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานมากขึ้น นายสุรพล ได้ให้ข้อมูลถึงการพัฒนาระบบ E-Workforce Ecosystem Platform หรือ EWE แพลตฟอร์มอัจฉริยะในการบริหารจัดการข้อมูลด้านกำลังคนและการพัฒนาสมรรถนะเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วย ระบบแฟ้มสะสมงานอิเล็กทรอนิกส์ (E-Portfolio) ระบบธนาคารหน่วยกิตดิจิทัล (Digital Competency Bank) ระบบคูปอง อิเล็กทรอนิกส์เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต (E-Coupon) การแนะแนวอาชีพและค้นห้าทักษะ (Career Guidance & Skill Check) รวมถึงระบบอื่น ๆ ที่จะสามารถเชื่อมโยงหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรของ AIS มาในระบบ EWE เพื่อพัฒนากำลังแรงงานร่วมกันได้ นอกจากนี้ยังให้ความสนใจในการจัดทำประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะรองรับความเปลี่ยนแปลงในยุคของดิจิทัลได้ นางสาวกานติมา ได้ให้ข้อมูลถึงรูปแบบ และแนวทางการบริหารคนในรูปแบบใหม่ ที่เปลี่ยนจากระบบฝึกอบรม เป็นการเปิด Academy สร้างระบบการเรียนรู้ ผ่าน E–Learning System เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้กับพนักงานในองค์กร ให้มีความพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และสามารถทำงานได้อย่างราบรื่น ซึ่งหลังจากนี้จะได้มีการหารือ ถึงแนวทางการพัฒนาบุคลากรร่วมกันต่อไป

  • สคช. ร่วมแสดงความยินดี 20 ปี วันสถาปนาสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

    07.10.2565
    17,558 View

    สคช. ร่วมแสดงความยินดี 20 ปี วันสถาปนาสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ วันที่ 7 ตุลาคม 2565 นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นตัวแทนสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. ร่วมแสดงความยินดี เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี วันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ กระทรวงการคลัง โดยมีนางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ให้การต้อนรับ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการบริหารหนี้สาธารณะให้มีต้นทุนที่เหมาะสม พร้อมพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทยให้เป็นศูนย์กลางในภูมิภาคเอเชีย มีการบริหารจัดการและประเมินผลโครงการเงินกู้ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีการพัฒนาบุคลากร ระบบบริหารจัดการ ระบบข้อมูลและเทคโนโลยี พร้อมพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางข้อมูลที่ปรึกษา ทั้งนี้ ในอนาคตได้มีกำหนดก้าวต่อไปขององค์กร ตามแนวทาง BCG Economy Model โดยมุ่งระดมทุนเพื่อความยั่งยืน บูรณาการฐานข้อมูลหนี้สาธารณะ รวมถึงพันธบัตรแบบไร้ใบตราสารผ่านเทคโนโลยี Blockchain ต่อไป

  • สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ - ทีมดีแทคเน็ตทำกิน หารือการพัฒนาคน เพื่อคนทำมาหากิน

    05.10.2565
    16,360 View

    สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ - ทีมดีแทคเน็ตทำกิน หารือการพัฒนาคน เพื่อคนทำมาหากิน คุณอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน ดีแทค พร้อมคณะเข้าพูดคุยหารือแนวทางการทำงานร่วมกับ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) นำโดยนายพิริยพงศ์ แจ้งเจนเวทย์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมคุณวุฒิวิชาชีพ โดยทีมดีแทคเน็ตทำกินให้ความสนใจในการเทียบเคียงสมรรถนะ E-commerce Literacy ที่ทีมดีแทคเน็ตทำกินมีกระบวนการฝึกอบรมความรู้ต่างๆ รองรับการติดปีกความรู้การทำธุรกิจในยุคดิจิทัลให้กับกลุ่มเป้าหมายที่มีทั้งผู้ประกอบอาชีพ หมู่บ้านท่องเที่ยวชุมชน กลุ่มเปราะบาง กลุ่มบุคคลทั่วไป และกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย โดยมองเห็นคุณค่าและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหากผู้ที่ผ่านการอบรมหรือเข้าสู่การประเมินตามมาตรฐานอาชีพในอนาคตจะได้รับคุณวุฒิวิชาชีพจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพด้วย ซึ่งจะได้มีการหารือรายละเอียดความร่วมมือกันต่อไป

  • “สคช. ร่วม AAT ขยายผลสร้างเครือข่ายสถานประกอบการเพื่อมืออาชีพ … เน้นยกระดับแรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ”

    03.10.2565
    16,447 View

    “สคช. ร่วม AAT ขยายผลสร้างเครือข่ายสถานประกอบการเพื่อมืออาชีพ … เน้นยกระดับแรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ” นายสุรพล พลอยสุข ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) พร้อมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สถาบันฯ ได้ร่วมประชุมหารือร่วมกับ บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (AAT) และเจ้าหน้าที่บริหารงานบุคคลของบริษัทต่างๆ ที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ กว่า 36 บริษัท เพื่อชี้แจงแนวทางการยกระดับกำลังแรงงานด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ โดยมีนายสถิรยุทธ แสงสุวรรณ รองประธานบริษัท ฝ่ายทรัพยากรบุคคล AAT และประธานชมรม HR ในพื้นที่ เข้าร่วมประชุม สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. ได้มีความร่วมมือกับบริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (AAT) ในการส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรของ AAT ให้มีความรู้ ความสามารถและทักษะในการปฏิบัติงานอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานอาชีพ นำไปสู่การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพและรับประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างความก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพ รวมถึงพัฒนาอาชีพเสริมให้แก่พนักงานของ AAT นั้น ทาง AAT จึงได้ขยายผลสู่การพัฒนาบริษัทในเครือข่ายโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนของ AAT จำนวน 36 ราย เพื่อร่วมพัฒนาบุคลากรของสถานประกอบการให้มีมาตรฐานและนำไปสู่การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาสมรรถนะด้านช่างเทคนิคในสายการผลิต และสมรรถนะการบริหารในสายการผลิต ซึ่งสถาบันฯ อ้างอิงจากมาตรฐาน Production Meister ของ JMA Management Center Inc. ประเทศญี่ปุ่น โดยมีกลุ่มสถานประกอบการที่เข้าร่วมการประชุม เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมปลายน้ำในกระบวนการผลิตยานยนต์ ได้แก่ ผู้ประกอบยานยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ดังนี้ 1. ผู้ผลิตชิ้นส่วนลำดับที่ 1 (First tier, Tier l) คือ ผู้จัดหาหรือผู้ผลิตชิ้นส่วนประเภท อุปกรณ์และจัดส่งให้แก่โรงงานประกอบยานยนต์โดยตรง เช่น เครื่องยนต์ เบรก ล้อรถยนต์ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น 2. ผลิตชิ้นส่วนลำดับที่ 2 (Second tier, Tier ll) คือ ผู้จัดหาหรือผู้ผลิตชิ้นส่วนย่อย (Individual part) เพื่อจัดส่งให้แก่ผู้ผลิตชิ้นส่วนลำดับที่ 1 เช่น ผลิตภัณฑ์เครื่องจักรกลและโลหะการ พลาสติก ยาง เหล็ก อิเล็กทรอนิกส์ แก้ว และกระจก เป็นต้น 3. ผลิตชิ้นส่วนลำดับที่ 3 (Third tier, Tier lll) คือ ผู้จัดหาและผู้ผลิตวัตถุดิบเพื่อจัดส่ง ให้แก่ผู้จัดหาวัตถุดิบในลำดับที่ 1 และ 2 นายสุรพล กล่าวว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมต้องการกำลังแรงงาน ในคุณวุฒิวิชาชีพ ระดับ 4, 5 และ 6 เป็นหลัก โดยสถาบันฯ ได้มีการวางแนวทางการยกระดับกำลังแรงงาน เน้นการทำงานที่ได้ประสบการณ์และได้รับรองคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่ง AAT นับว่าเป็นต้นแบบ 100% สำหรับการพัฒนาแรงงานในสถานประกอบการสู่คุณวุฒิวิชาชีพ การยกระดับกำลังแรงงานใน โครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน นับเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอย่างยิ่ง นายสถิรยุทธ กล่าวว่า “ความร่วมมือกับ สคช. สามารถนำมาเป็นประโยชน์กับเครือข่ายโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนของ AAT ได้ 3 ส่วนด้วยกัน คือ สร้างเครือข่ายโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนของ AAT ให้มีมาตรฐานอาชีพ การที่ สคช. สนับสนุนทุกกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการยกระดับมาตรฐานอาชีพ และกลุ่มสร้างเครือข่ายโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนสามารถเรียนรู้รูปแบบการได้รับมาตรฐานอาชีพจาก AAT ได้ คุณเจียม วิเศษสมบัติ รองผู้จัดการแผนก สถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ประชุมหารือถึงการจัดการอบรมและประเมินสมรรถนะด้านการบริหารในสายการผลิต กับฝ่ายทรัพยากรบุคคลของเครือข่ายโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนของ AAT ทั้ง 36 ราย อีกด้วย ซึ่งจากการหารือการจัดการอบรมและประเมินสมรรถนะดังกล่าว เป็นที่สนใจของสถานประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอย่างยิ่ง โดยผู้แทนจาก บริษัท จี-เทคคุโตะ อีสเทิร์น จำกัด ได้แสดงความเห็นว่าเป็นมาตรฐานที่สูงและปัจจุบันบริษัท ใช้เพื่อพัฒนาพนักงานชาวญี่ปุ่นอยู่ ซึ่งถ้าแรงงานไทยได้มีโอกาสเข้าอบรมหลักสูตรดังกล่าวจะถือว่ามีประโยชน์เป็นอย่างมาก การพัฒนากำลังแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมกับ AAT ขยายผลสู่ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในครั้งนี้ เป็นการทำงานภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ที่สถาบันฯ ได้รับการสนับสนุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เพื่อให้แรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับการผลักดันไปสู่ยานยนต์สมัยใหม่ เป็นการยกระดับกำลังแรงงานที่ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการและรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคตตามนโยบายรัฐบาลอีกด้วย

  • สคช. การันตี 200 ช่างทำเล็บ ช่างสักคิ้ว และช่างทำผม ด้วยประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ พร้อมย้ำช่างเสริมสวยยุคใหม่ ต้องไม่ตกเทรนด์

    28.09.2565
    16,591 View

    สคช. การันตี 200 ช่างทำเล็บ ช่างสักคิ้ว และช่างทำผม ด้วยประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ พร้อมย้ำช่างเสริมสวยยุคใหม่ ต้องไม่ตกเทรนด์ นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นประธานมอบใบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ ให้กับผู้ผ่านการประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ ในสาขาวิชาชีพธุรกิจเสริมสวยและเสริมสร้างสุขภาพร่างกาย อาชีพช่างสักคิ้ว ช่างทำเล็บ ระดับ 3-4 และอาชีพช่างทำผมบุรุษ-สตรี ระดับ 4 กว่า 200 คน จากโรงเรียนเสริมสวยและออกแบบทรงผมนานาชาติณรงค์ องค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ ที่ได้รับ ISO/IEC 17024 รายแรกของประเทศ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้ยอมรับในระดับสากล โดยมีอาจารย์สมเพชร ศรีชัยโย ให้การต้อนรับ นางสาววรชนาธิป กล่าวว่า ช่างทำเล็บ ช่างทำผม และช่างสักคิ้ว ที่ผ่านการรับรองได้รับใบประกาศนียบัตรฯ ในวันนี้ จะเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจในการประกอบอาชีพ เพราะแม้บางคนไม่มีคุณวุฒิการศึกษา ก็จะมีคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งเป็นคุณวุฒิของคนทำมาหากิน มีศักดิ์และสิทธิ์เทียบเท่าคุณวุฒิทางการศึกษา มาช่วยรับรองความเป็นมืออาชีพได้ ทั้งนี้ ไม่เพียงการเป็นช่างเสริมสวย ตามมาตรฐานอาชีพเท่านั้น แต่ทุกคนจะต้องปรับตัวให้ก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลง ทั้งการอัปเดตเทรนด์แฟชั่น การเพิ่มเติมความรู้ในการนำเทคโนโลยี และการใช้โซเชียล มีเดีย มาเป็นช่องทางในการประกอบอาชีพ เพื่อช่วยต่อยอด สร้างโอกาส และรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นต่อไป นางสาวญาปกากร สุภาพันธ์ ผู้ผ่านการประเมินเป็นช่างสักคิ้ว จากร้าน Vogue ย่านประชานิเวศน์ ที่มีจุดเริ่มต้นจากธุรกิจร้านเสริมสวย กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจและดีใจมาที่มีหน่วยงานอย่างสถาบันฯ มาให้การรับรองฯ เพราะจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าว่าจะได้รับการบริการที่มีคุณภาพ ทั้งนี้เห็นว่า ในหลายประเทศให้ความสำคัญกับช่างเสริมสวยมากขึ้น จึงมีการตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะพัฒนาฝีมือตัวเองด้านการสักคิ้ว และการใช้ช่องทางโซเชียล มีเดีย เพื่อเป็นการต่อยอดและสร้างโอกาสในอาชีพได้อีกด้วย