ข่าวประชาสัมพันธ์

  • สคช. - อ.ต.ก. จับมือจัดทำมาตรฐานการคัดเลือกผลไม้ระดับพรีเมียม ถ่ายทอดสู่เกษตรกร ผู้ค้า ผู้จัดจำหน่าย ให้ผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพ คัดแยก และจัดจำหน่ายในราคาพรีเมียมทั่วไทย

    24.08.2563
    608 View

    สคช. - อ.ต.ก. จับมือจัดทำมาตรฐานการคัดเลือกผลไม้ระดับพรีเมียม ถ่ายทอดสู่เกษตรกร ผู้ค้า ผู้จัดจำหน่าย ให้ผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพ คัดแยก และจัดจำหน่ายในราคาพรีเมียมทั่วไทย นายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) กับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ในการพัฒนาผู้ประกอบอาชีพในเครือข่ายของ อ.ต.ก. โดยมีนางสุพัฒตรา ลิมประพันธ์ กรรมการสถาบันฯ นางสาวอำพันธ์ ธุววิทย์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน นายปณิธาน มีไชยโย รองผู้อำนวยการ อ.ต.ก. และคณะผู้บริหาร ร่วมเป็นสักขีพยาน โดยทั้ง 2 หน่วยงานจะร่วมกันสนับสนุนให้ผู้ประกอบอาชีพ ที่มีทั้งผู้ผลิต ผู้คัดแยก ผู้จัดจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตร ให้ได้เรียนรู้ เพิ่มสมรรถนะการทำงานให้ตรงตามมาตรฐานอาชีพ ร่วมกันถ่ายทอดความรู้การคัดเกรดผลไม้ระดับพรีเมียม ไปยังเกษตรกร ล้ง และผู้จำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าทางการเกษตรให้มากขึ้น นายนคร ย้ำว่าความร่วมมือที่เกิดขึ้น เป็นการช่วยยกระดับสินค้าทางการเกษตรของไทย จากเดิมเป็นที่รู้กันว่า สามารถหาซื้อสินค้าทางการเกษตร ผลไม้เกรดพรีเมียม ได้ที่ตลาด อ.ต.ก. แต่จากนี้ ผู้ผลิต ผู้จำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรระดับพรีเมียมของ อ.ต.ก. พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ ทักษะการคัดแยกผลผลิตทางการเกษตรให้คนในอาชีพได้เรียนรู้ ซึ่งจะทำให้ของที่ธรรมดา กลายเป็นของที่ไม่ธรรมดาขึ้นมาได้ เท่ากับเป็นการยกระดับให้คนในอาชีพด้วยการประเมินสมรรถนะ สามารถนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดสร้างงาน เพิ่มรายได้ และสามารถจำหน่ายสินค้าเกษตรพรีเมียมให้ผู้บริโภคเลือกซื้อได้ทั่วประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อการขยายตัวในระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย “สินค้าโดยเฉพาะผลไม้ถ้าได้มาตรฐาน ก็จะยิ่งมีมูลค่าเพิ่ม ผู้บริโภคก็ยินดีจ่ายเงินซื้อในราคาสูง เพราะคุณภาพสมกับราคา เรียกว่าผู้บริโภคได้ของดี มีคุณภาพ พ่อค้า แม่ค้า ก็ขายได้ราคา เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศก็จะเติบโตขึ้นด้วย” นายนคร กล่าว นายศุภฤกษ์ เอี่ยมลออ กรรมการองค์การตลาดเพื่อการเกษตร และรักษาการแทนในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) กล่าวว่า อ.ต.ก. และ สคช. จะช่วยกันส่งเสริมเกษตรกร สร้างตลาดคุณภาพ ให้กับผู้ผลิต ผู้คัดแยก ผู้จัดจำหน่าย ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเกษตรกร และผลผลิตที่มีคุณภาพ แต่แหล่งจำหน่ายที่มีคุณภาพก็สำคัญมากเช่นกัน ซึ่งความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ ที่สำคัญ อ.ต.ก. มีผู้จัดจำหน่ายคุณภาพ อย่าง เจ๊นิด เจ้าของร้านน้องนิด ระยอง ทุเรียนปลอดสาร ที่ขายทุเรียนสร้างรายได้มูลค่ากว่า 20 ล้านบาทต่อปี มีคุณจำรูญ นิลเต่า ประธานวิสาหกิจชุมชนผลิตผลไม้ปลอดภัย บ้านรางสีหมอก จ.ราชบุรี ที่เป็นหนึ่งในเกษตรกรโครงการ Best Of Ortorkor พร้อมจะถ่ายทอดความรู้ ทักษะการคัดแยก และวิธีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า โดยมีตลาด อ.ต.ก. ซึ่งเป็นตลาดที่ได้มาตรฐานติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ผู้ซื้อมีกำลังซื้อ และพร้อมซื้อสินค้าคุณภาพ เมื่อเราสามารถทำให้เกษตรกรผลิต คัดแยกของคุณภาพ ก็สามารถนำมาขายในตลาดคุณภาพได้ ก็จะช่วยเกษตรกรขายสินค้าได้ในราคาสูง และเป็นช่องทางต่อยอดเรื่องตลาดคุณภาพจำหน่ายสินค้าพรีเมียม กระจายไปยังทั่วประเทศอีกด้วย ทั้งนี้ภายหลังการลงนามความร่วมมือ นายนคร และคณะผู้บริหาร อ.ต.ก. ยังได้ลงพื้นที่ตลาด อ.ต.ก. พร้อมมอบป้ายมืออาชีพให้กับผู้ประกอบการที่ผ่านการประเมินสมรรถนะอาชีพผู้ประกอบการอาหารริมบาทวิถี (Street Food) จำนวน 8 รายด้วย ซึ่งก็ได้กระแสตอบเป็นอย่างดี และมีผู้ประกอบการในตลาดเตรียมเข้าประเมินสมรรถนะเพิ่มเติม เนื่องจากเป็นอีกช่องทางในการยกระดับให้กับผู้ประกอบการ Street Food ด้วย

  • รองเอ๋ วรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ จูงมือ เชฟเสาวกิจ ปรีเปรม อุปนายกสมาคมเชฟประเทศไทย ลงพื้นที่ MBK Center

    24.08.2563
    548 View

    รองเอ๋ วรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ จูงมือ เชฟเสาวกิจ ปรีเปรม อุปนายกสมาคมเชฟประเทศไทย ลงพื้นที่ MBK Center ประชันคุณหนุ่ย จักรเพชร กุนทอง คนข่าว (GMM25) ขายข้าวซอย (เวียงตาก) ที่ปรับตัวให้ทันสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 หาอาชีพที่ 2 ในการสร้างรายได้ หวังให้เป็นทางรอดไม่ใช่แค่ทางเลือก ขณะที่รองเอ๋ ย้ำชัดพร้อมเติมเต็มให้ทุกอาชีพอยู่รอด มีรายได้อย่างยั่งยืน ด้วยการนำมาตรฐานอาชีพมาเติมเต็มศักยภาพ เปิดอบรม และแนะช่องทางการทำตลาด อย่างคุณหนุ่ย ก็ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพตัวอย่างที่รู้ตัวก่อน move on ไว จึงได้เปรียบกว่า ขณะที่เชฟเสาวกิจ ออกปาก ข้าวซอยเวียงตาก ของคุณหนุ่ย ทั้งอร่อย วัตถุดิบสดใหม่ สะอาด ปลอดภัย ตรงตามมาตรฐานสมรรถนะ แบบนี้ยกให้เป็นมืออาชีพเลยครับผม!!

  • สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) จับมือศูนย์คุณธรรม ร่วมเจตนารมณ์ในการพัฒนาและส่งเสริมให้มืออาชีพ เป็นคนมีมาตรฐานที่เต็มไปด้วยคุณธรรม

    31.07.2563
    683 View

    สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ – ศูนย์คุณธรรม จับมือผลิตมืออาชีพที่มีคุณธรรม สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) จับมือศูนย์คุณธรรม ร่วมเจตนารมณ์ในการพัฒนาและส่งเสริมให้มืออาชีพ เป็นคนมีมาตรฐานที่เต็มไปด้วยคุณธรรม วันนี้ (31 กรกฎาคม 2563) ที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) ลงนามความร่วมมือร่วมกับ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุริเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม เพื่อร่วมกันพัฒนาและส่งเสริมองค์กรคุณธรรมและมาตรฐานคุณธรรมในระบบคุณวุฒิวิชาชีพ โดยมีนายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการ รวมทั้งคณะผู้บริหารสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ประธานกรรมการบริหาร และคณะผู้บริหารศูนย์คุณธรรมร่วมเป็นสักขีพยาน ดร.นพดล ระบุว่า มาตรฐานคุณธรรมเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ประเทศไทยไม่เพียงต้องการยกระดับให้คนเป็นมืออาชีพ แต่ยังต้องเป็นมืออาชีพที่มีคุณธรรม ซึ่ง สคช. พร้อมจะนำมาตรฐานคุณธรรมสอดแทรกไปในทุกมาตรฐานอาชีพ เพื่อให้เป็นองค์กรคุณธรรม และพัฒนาบุคคลที่เกี่ยวข้องในระบบคุณวุฒิวิชาชีพ สร้างวิทยากรส่งเสริมคุณธรรมที่มีทักษะ ความสามารถ เพื่อเป็นกลไกส่งเสริม สร้างการตระหนักรู้ด้านคุณธรรม ให้ทุกคนสามารถนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ ตามสาขาวิชาชีพที่ สคช. ให้การรับรอง ขณะที่ รศ.นพ.สุริยเดว เชื่อว่าในทุกอาชีพ ทุกสังคม ตัวบุคคลจำเป็นต้องเป็นคนมีคุณธรรมก่อน และความร่วมมือระหว่าง 2 องค์กรที่เกิดขึ้น นับเป็นการส่งสัญญาณคุณธรรมให้เกิดกับทุกคน ทุกอาชีพ เมื่อตัวเราดี สังคมก็จะดี และประเทศชาติก็จะดีขึ้นตามไปด้วย เรียกง่ายๆ ว่าคุณธรรมเราทำได้ สำหรับแนวทางความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการพัฒนาและส่งเสริมให้มีการนำมาตรฐานด้านคุณธรรมไปใช้ในมาตรฐานอาชีพ ทุกสาขาวิชาชีพ เชื่อมกับระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมกับการพัฒนากระบวนการรับรองมาตรฐานด้านคุณธรรมให้กับบุคลากร คนในอาชีพ รวมทั้งองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ ที่สำคัญคือการผลักดัน สนับสนุนให้คนเหล่านี้ได้รับการยกย่องในสังคมด้วย

  • สคช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ดึงผู้เชี่ยวชาญในอาชีพ จัดทำมาตรฐานอาชีพช่างวัดสายตาประกอบแว่นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย พร้อมดูแลสุขภาพตาให้คนไทยอย่างมีมาตรฐา

    29.07.2563
    509 View

    ครั้งแรกของการดูแลสุขภาพตาคนไทยกับมาตรฐานอาชีพ “ช่างวัดสายตาประกอบแว่น” สคช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ดึงผู้เชี่ยวชาญในอาชีพ จัดทำมาตรฐานอาชีพช่างวัดสายตาประกอบแว่นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย พร้อมดูแลสุขภาพตาให้คนไทยอย่างมีมาตรฐาน นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) ร่วมแถลงเปิดตัวมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพบริการสุขภาพ อาชีพช่างวัดสายตาประกอบแว่น ซึ่งเป็นครั้งแรกของไทยในการจัดทำมาตรฐานอาชีพช่างวัดสายตา เป็นอาชีพที่มีผลโดยตรงกับสุขภาพการมองเห็นของคน ที่สำคัญคณะอนุกรรมาธิการบูรณาการและขับเคลื่อนสถานประกอบการเพื่อสุขภาพการแพทย์แผนไทย และสมุนไพรไทย (ในคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข) ได้พิจารณาศึกษาเกี่ยวกับนโยบายและแนวทางในการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพของบุคลากร ในอาชีพหรือกิจการเกี่ยวกับการตรวจวัดสายตาประกอบแว่น พบว่าเป็นธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยรวม ประกอบกับปัจจุบันมีผู้ประกอบอาชีพนี้มากกว่า 40,000 คน กว่า 9,000 ร้าน อาจส่งผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชนได้หากดำเนินการโดยไม่มีมาตรฐาน แต่หากได้การรับรองสมรรถนะตรงตามมาตรฐานสากล ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการคุ้มครองผู้บริโภคที่จะได้รับบริการที่ดีมีคุณภาพ ไม่เกิดปัญหาด้านร่างกายและสุขภาพจากความไม่ชำนาญของผู้ประกอบอาชีพ นางสาววรชนาธิป ระบุว่าข้อมูลงานวิจัยทางจักษุสาธารณสุข พบว่าแนวโน้มคนไทยจะเผชิญกับปัญหาด้านสายตามากขึ้น ทั้งนี้ปัจจุบันปัญหาสุขภาพดวงตา เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญทั้งของไทยและของโลก ซึ่งสถานการณ์สาธารณสุขทางตาในเมืองไทยนั้น โรคตานับเป็นปัญหาสาธารณสุขอันดับที่ 9 ของไทย นอกจากนี้มีผลการวิจัยที่เคยถูกตีพิมพ์ในนิตยสารจักษุวิทยาที่ชื่อว่า Ophthalmology คาดการณ์กันว่า ในปี 2050 จะมีผู้ที่มีปัญหาสายตาสั้นมากถึง 4,800 ล้านคน คิดเป็น 49.8 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั่วโลก เนื่องจากไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไปของคนในยุคนี้ที่ใช้ชีวิตอยู่กับหน้าจอมากกว่าการใช้ชีวิต outdoor โดยเฉพาะในกลุ่มคนทำงานที่ใช้เวลาหลายชั่วโมงอยู่กับจอคอมพิวเตอร์ มือถือ และแทปเล็ต ซึ่งแพทย์ระบุว่าพบได้มากในกลุ่มคนอายุมากกว่า 40 ปี ที่ทำให้เกิดปัญหา Computer Vision Syndrome เกิดอาการผิดปกติ เช่น อาการล้าตา ตาแห้ง แสบตา แพ้แสงสู้แสงไม่ได้ ปวดศีรษะ ปวดคอ บ่า ไหล่ ร่วมด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้จำทำให้เซลล์จอประสาทตาค่อยๆ เสื่อมลง หากไม่ดูแลปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จนท้ายที่สุดอาจนำมาซึ่งการเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมในที่สุด ผู้ดูแลดวงตาของเราจึงจำเป็นต้องมีมาตรฐาน และการประเมินสมรรถนะจะเป็นเครื่องมือช่วยการันตีว่าบุคคลนั้นเป็นมืออาชีพตัวจริง ที่หน่วยงานภาครัฐให้การรับรอง ผู้บริโภคสามารถเลือกใช้บริการได้อย่างมั่นใจ ที่สำคัญช่วงปลายเดือนกรกฎาคม แอปพลิเคชัน “ปักหมุดมืออาชีพ” จะสามารถใช้งานได้อย่างเป็นทางการ จะทำให้คนที่ผ่านการประเมินสมรรถนะ เป็นมืออาชีพกับ สคช. ซึ่งมีอยู่เกือบ 800 อาชีพเวลานี้ รวมถึงอาชีพช่างวัดสายตาประกอบแว่นในอนาคต จะมีชื่อปรากฏอยู่ในแอปพลิเคชัน เป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคสามารถค้นหา และเลือกใช้บริการจากมืออาชีพได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย รวมทั้งผู้ประกอบการเองก็สามารถค้นหาช่างตรวจวัดสายตาที่ได้การรับรองมาตรฐานอาชีพเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและระดับสากลเข้าทำงานได้ เพราะมาตรฐานอาชีพนี้ได้ผ่านการวิเคราะห์ วิจัยประมวลผล จากผู้เชี่ยวชาญในด้านการตรวจวัดสายตาโดยเฉพาะ ซึ่งช่างวัดสายตาในอนาคตไม่เพียงจะเป็นคนที่ทำได้ ทำเป็นเท่านั้น แต่จะยังเป็นสุดยอดในอาชีพด้วย

  • สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) นำแจกันดอกไม้ไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2563 พร้อมลงนามถวายพระพร ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง

    29.07.2563
    476 View

    นายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) พร้อมด้วยนายนพดล ปิยะตระภูมิ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และคณะผู้บริหารสถาบันฯ นำแจกันดอกไม้ไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2563 พร้อมลงนามถวายพระพร ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง

  • สคช. ร่วมบันทึกเทปถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5

    24.07.2563
    461 View

    ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคข.) นำคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่สถาบันฯ ร่วมบันทึกเทปถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 28 กรกฎาคม 2563 ณ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์

  • พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเป็นข้าราชการที่ดีและพลังของแผ่นดิน เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๓

    24.07.2563
    447 View

    สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) นำโดย ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ พร้อมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่เข้าร่วมพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเป็นข้าราชการที่ดีและพลังของแผ่นดิน พร้อมทั้งร่วมลงนามถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ณ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ อาคารเพิร์ล แบงก์ค็อก ชั้น 14เพื่อแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

  • สคช. - กองทัพบก ติดดาบพลทหาร เตรียมพร้อมสร้างอาชีพก่อนปลดประจำการ

    24.07.2563
    473 View

    สคช. - กองทัพบก ติดดาบพลทหาร เตรียมพร้อมสร้างอาชีพก่อนปลดประจำการ นายนพดล ปิยะตระภูมิ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. ร่วมในพิธีมอบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพและหนังสือรับรองมาตรฐานอาชีพ สาขาวิชาชีพรักษาความปลอดภัย ซึ่งมี พล.ต.อภัย อรัญทิมา ผู้บัญชาการศูนย์การหารราบ ผู้แทนผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานในพิธี พร้อมมอบประกาศนียบัตรฯ ให้กับกำลังพลซึ่งเป็นโครงการนำร่องรุ่นที่ 1 ให้แก่ทหารกองประจำการ ศูนย์การทหารราบ ค่ายธนะรัชต์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ผ่านการประเมินอาชีพพนักงานรักษาความปลอดภัยอาคารสถานที่และทรัพย์สิน จำนวน 593 นาย และอาชีพครูฝึกงานรักษาความปลอดภัยอาคารเคหะสถานที่และทรัพย์สิน อาชีพผู้บริหารงานรักษาความปลอดภัยอาคารสถานที่และทรัพย์สินอีก 21 คน นายนพดล ย้ำว่าเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญของ สคช., กองทัพบก และมูลนิธิ รปภ. ไทย ในการจัดอบรม และประเมินสมรรถนะอาชีพพนักงานรักษาความปลอดภัยให้กับกำลังพลของกองทัพ ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการในอาชีพที่กำลังมีการแข่งขันสูงในธุรกิจรักษาความปลอดภัย เพราะพนักงานรักษาความปลอดภัยที่ได้มาตรฐานมีความสำคัญต่อการปกป้องรักษาชีวิตและทรัพย์สินของผู้อาศัยภายในอาคาร ที่พักอาศัย สิ่งสำคัญคือสามารถดูแลความปออดภัยให้กับทุกชีวิตได้เมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญๆ ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดอย่างกรณีก่อเหตุโศกนาฏกรรม หรืออุบัติภัยรุนแรง พนักงานรักษาความปลอดภัยจะเป็นด่านหน้าในการเข้าเผชิญเหตุ จึงจำเป็นต้องอาศัยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน พล.ต.อภัย ระบุว่า กองทัพบกได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการจัดประเมินสมรรถนะ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกองทัพในการพัฒนาบุคลากร การอบรม และจัดประเมินสมรรถนะในอาชีพพนักงานรักษาความปลอดภัยให้กับกำลังพล ถือว่าเป็นการส่งเสริมให้ทหารกองประจำการ ได้นำความรู้ความสามารถ และนำผลการประเมินสมรรถนะที่ได้รับในครั้งนี้ไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพหลังจากปลดประจำการแล้ว ด้านพลทหารอิสระพงษ์ กายชัยภูมิ ทหารกองประจำการ กองสนับสนุนกลุ่มนักเรียนโรงเรียนทหารราบ ศูนย์การทหารราบ ค่ายธนะรัชต์ แสดงความขอบคุณผู้บังคับบัญชาที่ให้ความสำคัญกับกำลังพลในการเตรียมพร้อมประกอบอาชีพหลังปลดประจำการ เพราะการอบรมที่เกิดขึ้นได้ทำให้พวกเขามีความรู้ ความเชี่ยวชาญ เตรียมพร้อมเผชิญเหตุหากเกิดสถานการณ์ไม่คาดคิด ที่สำคัญสามารถนำใบประกาศนี้ไปยื่นสมัครงานหลังปลดประจำการได้ด้วย เช่นกันกับพลทหาร รุ่งโรจน์ ฉายแสงเดือน ทหารกองประจำการฯ ศูนย์การทหารราบ ค่ายธนะรัชต์ ที่เชื่อว่าความรู้ที่ได้จากการอบรม และประเมินสมรรถนะการรักษาความปลอดภัย จะเป็นใบเบิกทางสำคัญให้เขานำไปยื่นสมัครงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย และมั่นใจว่าจะได้รับเข้าทำงานแน่นอน เพราะมีใบรับรองที่ออกโดยหน่วยงานภาครัฐ แต่สิ่งสำคัญคือเขาได้เรียนรู้วิธีการช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นกรณีเพลิงไหม้ หรือเกิดเหตุการณ์รุนแรง ที่เขาสามารถนำมาใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน

  • ปลุกกระแสท่องเที่ยวชุมชนวิถี New Normal สคช. พร้อมจับมือ 10 องค์กร ปลุกกระแสท่องเที่ยวชุมชนวิถี New Normal เฟ้นหาสุดยอดวิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพ

    24.07.2563
    418 View

    ปลุกกระแสท่องเที่ยวชุมชนวิถี New Normal สคช. พร้อมจับมือ 10 องค์กร ปลุกกระแสท่องเที่ยวชุมชนวิถี New Normal เฟ้นหาสุดยอดวิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพ นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. เปิดเผยหลังการประชุมร่วมกับ 10 องค์กรภาคีเครือข่าย ในการฟื้นฟูสถานการณ์ท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ว่าหลังสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 จะทำให้ไลฟ์สไตล์ของคนเปลี่ยนไป เพราะจะเกิดวิถีเที่ยวไปทำงานไปกันมากขึ้น การเที่ยวในลักษณะกรุ๊ปทัวร์จะลดลง ซึ่งแหล่งท่องเที่ยงยอดฮิตจะลดลง พฤติกรรมการท่องเที่ยวอาจเปลี่ยนไปโดยเน้นท่องเที่ยวแบบส่วนตัวกันมากขึ้น ไม่ว่าจะขับรถไปเอง หรือเที่ยวกันเองในครอบครัว กระทั่งแบ็กแพค เพราะนักท่องเที่ยวมีความกังวลจะเกิดการติด และแพร่กระจายเชื้อโรคกันมากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้กระแสการท่องเที่ยวชุมชนจะมาแรงขึ้น นางสาววรชนาธิป มองว่าจากนี้ไปคนจะนิยมท่องเที่ยวทางเลือกใหม่ อย่างการท่องเที่ยวชุมชน โดยเฉพาะในช่วงที่ยังไม่เปิดประเทศเพื่อการเดินทางท่องเที่ยว วิกฤตนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนให้เข้มแข็งรองรับการท่องเที่ยวทางเลือกใหม่ ที่สำคัญเมื่อชุมชนมีมาตรการป้องกันที่เข้มงวด เที่ยวได้แบบวิถี New Normal ก็จะสร้างความมั่นใจและเป็นทางเลือกการท่องเที่ยวทันทีที่เปิดประเทศแน่นอน ห้วงเวลานี้จึงเป็นโอกาสทองของการท่องเที่ยวชุมชนที่จะปรับกระบวนท่าการท่องเที่ยวเน้นทำการตลาดออนไลน์ วางมาตรฐานการท่องเที่ยวใหม่ไม่ว่าจะการประกอบอาหารพื้นถิ่น โฮมสเตย์ ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ยิ่งชุมชนสามารถให้บริการได้อย่างมีมาตรฐาน ก็ยิ่งตอบโจทย์นักท่องเที่ยวได้อย่างดี และจะเกิดประโยชน์ต่อชุมชนในอนาคตอย่างยั่งยืนต่อไป ล่าสุด สคช. ได้ร่วมประชุมคณะกรรมการสรรหารางวัล "วิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพ" เพื่อหารือแนวทางการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนต้นแบบในพื้นที่ต่างๆ ที่อยู่ในเครือข่ายมูลนิธิสัมมาชีพ ในการแก้ไข ฟื้นฟู เยียวยาจากผลกระทบของสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งมีนายสมพร ใช้บางยาง อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานคณะกรรมการ ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนต่างๆ อย่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, กรมการพัฒนาชุมชน, ผู้แทนธธนาคารออมสิน, Thaibev, สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.), องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(อพท.), ธกส., กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองฯ, กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร, สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน, กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ที่พร้อมจะจับมือกันหาแนวทางในการสร้างชุมชนท่องเที่ยวที่เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป

  • เปิดตัวมาตรฐานท่องเที่ยวท้องถิ่น รองรับการท่องเที่ยววัฒนธรรมใหม่ยุค New Normal

    24.07.2563
    478 View

    เปิดตัวมาตรฐานท่องเที่ยวท้องถิ่น รองรับการท่องเที่ยววัฒนธรรมใหม่ยุค New Normal วันนี้ (23 ก.ค.63) ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. ร่วมในงานแถลงข่าวเปิดตัวมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาการจัดการท่องเที่ยวท้องถิ่น ซึ่งเป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นโดย สคช. คณะการจัดการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กลุ่มธุรกิจสถานประกอบการ ตัวแทน หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาชีพ จัดทำขึ้นเนื่องจากการท่องเที่ยวเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่แม้จะทำให้การท่องเที่ยวชะลอตัว ธุรกิจท่องเที่ยวในภาครวมได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน แต่หลังสถานการระบาดคลี่คลาย จะทำให้เกิดการท่องเที่ยววิถีใหม่เกิดขึ้น การเที่ยวในลักษณะกลุ่มใหญ่ หรือกรุ๊ปทัวร์มีแนวโน้มลดลง เพราะความกังวลว่าอาจเกิดการระบาดของโรคซ้ำรอย ดร.นพดล กล่าวว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามผลักดันการท่องเที่ยวชุมชน โดยเน้นส่งเสริมศักยภาพให้กับผู้ประกอบการท้องถิ่น รวมทั้งมีนโยบาย Upskill , Reskill คนในภาคการท่องเที่ยวมาอย่างต่อเนื่อง และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพมองเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว เพราะการท่องเที่ยวท้องถิ่นจะเป็นทางเลือกใหม่ให้กับนักท่องเที่ยวในอนาคตอันใกล้ การยกระดับการท่องเที่ยวชุมชนให้ได้คุณภาพมาตรฐาน เป็นการท่องเที่ยวอย่างมืออาชีพ ผู้ประกอบการรู้จักแนวทางบริหารจัดการกันเองภายในชุมชน สร้างมูลค่าเพิ่มจากภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างความประทับใจให้นักท่องเที่ยว ที่สำคัญยังสร้างผู้ประกอบการท้องถิ่นที่สามารถทำการตลาดออนไลน์ได้ ขายเป็น จึงนับว่าเป็นการเตรียมพร้อมรองรับ และสร้างความแข็งแกร่งให้ชุมชน กับการท่องเที่ยวไทยวิถีใหม่หลังวิกฤตโควิด-19 โดย สคช. จะเป็นเครื่องมือในการรับรองความสามารถของบุคคลให้เป็นมืออาชีพ บางท่านถือเป็นปราชญ์ เป็นผู้รู้ของชุมชน แต่จำนวนไม่น้อยที่มีเพียงคุณวุฒิการศึกษา กระทั่งไม่มีวุฒิการศึกษา แต่การการันตีว่าเป็นมืออาชีพกับ สคช. ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ จะทำให้คนเหล่านี้ได้รับการยอมรับ โดยเฉพาะเวทีสากล ซึ่งจะเป็นการยกระดับการท่องเที่ยวชุมชนให้เป็นที่ยอมรับของต่างชาติด้วย ทั้งนี้ในงานยังมีการจัดเสวนา พลิกวิกฤติโควิด สู่โอกาสสร้างอาชีพให้ท่องเที่ยวท้องถิ่น โดยคุณดวงกมล จันสุริยวงศ์ ที่ปรึกษาสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย คุณจรัญยา แดงน้อย ผู้อำนวยการสถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT-I) และผศ.ดวงพร อ่อนหวาน ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาศักยภาพชุมชน ร่วมวงเสวนา เห็นตรงกันว่าการระบาดของโรคโควิด-19 จะเป็นวิกฤตครั้งสำคัญที่ทำให้เกิดเป็นโอกาสให้ทุกภาคส่วนหันมาทบทวน ปรับปรุง และพัฒนาการท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะการท่องเที่ยวท้องถิ่น เพื่อให้รับกับวัฒนธรรมใหม่ของการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือภาครัฐต้องเอื้ออำนวยให้คนในท้องถิ่นขับเคลื่อนตัวเองได้ง่ายและคล่องตัว เพิ่มเสริมความแข็งแกร่งให้เกิดในชุมชนได้โดยเร็ว เพราะถ้าชุมเข้มแข็งได้เร็ว ก็เท่ากับทำให้ชุมชนสามารถใช้เครื่องมือในการพัฒนาตัวเองให้เข้มแข็งได้ และ สคช. จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชนได้ด้วยเช่นกัน

  • รุกออนไลน์วิถี New Normal 3 องค์กรใหญ่ “สคช.-บสย.-กนอ.” จัดอบรมอาหารไทย-อาหารตะวันตก แม้ไม่ใช่ผู้ประกอบการก็สามารถนำทักษะไปต่อยอดเป็นอาชีพได้

    22.07.2563
    485 View

    รุกออนไลน์วิถี New Normal 3 องค์กรใหญ่ “สคช.-บสย.-กนอ.” จัดอบรมอาหารไทย-อาหารตะวันตก แม้ไม่ใช่ผู้ประกอบการก็สามารถนำทักษะไปต่อยอดเป็นอาชีพได้ นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) ประกาศเดินหน้าเชิงรุกจัดอบรมออนไลน์พัฒนาคนให้สามารถหารายได้จากการประกอบอาหาร แม้ไม่เคยทำอาชีพขายอาหารมาก่อน กับโครงการเตรียมความพร้อมการประเมินสมรรนะด้านอาหารไทยและอาหารตะวันตก 2 วัน 8 เมนู ทั้งเมนูคาว-หวาน โดยเชฟชั้นนำ อย่างเชฟมังกร (ภูริ ชุณห์ขจร) เชฟมาร์ช (ธิติ เหมภัทรกนก) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-17 กรกฎาคม 2563 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ศาลายา จังหวัดนครปฐม นางสาววรชนาธิป ย้ำระหว่างการพบปะพูดคุยผ่านช่องทางออนไลน์ กับผู้เข้าร่วมอบรมว่า หลังได้รับบทเรียนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ สคช. ทบทวนแนวทางในการพัฒนากำลังคนให้สอดรับวิถีชีวิตแนวใหม่ New Normal และเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ นำระบบออนไลน์มาใช้ในการพัฒนาคนให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมีมาตรฐาน แม้จะไม่ใช่คนในอาชีพประกอบอาหาร ก็สามารถนำกระบวนการที่ได้จากการอบรมไปประกอบอาชีพได้ สำหรับโครงการนี้นับเป็นการจับมือกันครั้งสำคัญของ 3 หน่วยงาน อย่างสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ร่วมกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ที่มาร่วมกันยกระดับให้กับผู้ที่มีความสนใจ อยากเพิ่มทักษะด้านการประกอบอาหารที่ได้เกณฑ์ตามหลักมาตรฐานอาชีพ หรือนำเทคนิคที่ได้ไปประยุกต์ให้เป็นสไตล์ของตัวเองได้ ที่สำคัญเมื่ออยากต่อยอด หรือขยายธุรกิจ ความร่วมมือที่ สคช. มีกับสถาบันทางการเงิน และ บสย. ก็พร้อมเป็นพี่เลี้ยงให้ความรู้แนวทางการทำธุรกิจ ไปจนถึงการขยายธุรกิจ จึงนับเป็นการสร้างโอกาสให้กับผู้ที่มีงานทำอยู่เดิม ได้เพิ่มทักษะการประกอบอาหารให้ได้มาตรฐานตามหลักสากล แต่ที่สำคัญผู้ที่ว่างงานสามารถนำทักษะ ขั้นตอนการประกอบอาหารที่ได้จากการอบรมไปใช้ประกอบเป็นอาชีพสร้างรายได้ ซึ่งผู้เข้าอบรมเบื้องต้นทั้ง 55 ราย เมื่อเข้าประเมินสมรรถนะตามมาตรฐานอาชีพกับ สคช. ก็จะได้รับใบประกาศนียบัตรเพื่อเป็นการการันตีความเป็นมืออาชีพจากหน่วยงานภาครัฐด้วย #มืออาชีพ #ออนไลน์ #อาหาร #เชฟ ด้านนางสาวศศิตติยาภรณ์ แก้วไทรบาง หนึ่งในผู้เข้าอบรมออนไลน์จากจังหวัดระยอง ได้แสดงความขอบคุณที่ สคช. จัดโครงการและกิจกรรมอบรมออนไลน์ เพราะไม่ว่าจะอยู่พื้นที่ไหน จังหวัดใด ก็ทำให้มีทักษะ มีความรู้ได้ ที่สำคัญตัวเธอเองมีความบกพร่องทางร่างกายประกอบอาชีพทำเบเกอรี่ขายในพื้นที่จังหวัดระยอง การอบรมในครั้งนี้ทำให้เธอสามารถนำความรู้ไปต่อยอดสร้างรายได้ให้กับเธอได้ โดยที่เธอไม่จำเป็นต้องเดินทางมาด้วยตัวเอง

  • บรรยายพิเศษหัวข้อ “พัฒนากำลังคนสู่การต่อยอดธุรกิจการขนส่งทางอากาศอย่างยั่งยืน”

    22.07.2563
    372 View

    นางสาวจุลลดา มีจุล รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) บรรยายพิเศษหัวข้อ “พัฒนากำลังคนสู่การต่อยอดธุรกิจการขนส่งทางอากาศอย่างยั่งยืน” และมอบใบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ ผู้ผ่านการประเมินสาขาวิชาชีพโลจิสติกส์ ประจำปี 2562 ก่อนร่วมประชุมกับตัวแทนขนส่งสินค้าทางอากาศไทย เพื่อกำหนดทิศทางร่วมกันพัฒนากำลังคนการขนส่งสินค้าทางอากาศไทย

  • สคช. ร่วมสภาการพยาบาล พัฒนาศักยภาพกำลังคน กลุ่มพนักงานให้การดูแล รองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานในอนาคต

    14.07.2563
    517 View

    สคช. ร่วมสภาการพยาบาล พัฒนาศักยภาพกำลังคน กลุ่มพนักงานให้การดูแล รองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานในอนาคต (วันนี้ 13 ก.ค.63) ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ในกลุ่มพนักงานให้การดูแล (Nurses’ aides / Care givers) ร่วมกับสภาการพยาบาล โดย รศ.ดร.ทัศนา บุญทอง นายกสภาการพยาบาล มีคณะทำงานทั้ง 2 ฝ่ายร่วมเป็นสักขีพยาน ณ สภาการพยาบาล ดร.นพดล ระบุว่า สาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการบริการสุขภาพ อย่างพนักงานให้การดูแล เป็นอาชีพที่มีความสำคัญกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นมีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพประชาชน โดยพบว่าคนไทยมีปัญหาการเจ็บป่วยเรื้อรังเพิ่มขึ้น มีอาการป่วยโรคซับซ้อนมากขึ้นซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาเฉพาะทาง ก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายสูง มีความต้องการได้รับบริการสุขภาพกันมากขึ้น สวนทางกับจำนวนเจ้าหน้าที่บริการด้านสุขภาพที่ได้มาตรฐานที่ยังขาดแคลน แต่เพื่อเป็นการขยายโอกาสการเข้าถึงบริการที่ได้คุณภาพมาตรฐาน จึงเป็นที่มาให้ สคช. และสภาการพยาบาล เห็นความสำคัญในการจัดทำมาตรฐานอาชีพ พนักงานให้การดูแล ซึ่งใช้เวลากว่า 5 ปี กว่าจะได้เป็นมาตรฐานอาชีพนี้เกิดขึ้น เพื่อให้กลุ่มคนอาชีพนี้มีความพร้อม มีสมรรถนะ ทักษะ ความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญ การจัดทำมาตรฐานอาชีพในพัฒนาศักยภาพบุคลากรอาชีพนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญและมีความจำเป็นในภาวะสังคมปัจจุบัน เหนือไปกว่านั้น สคช. ได้พัฒนาจัดทำการอบรมในลักษณะออนไลน์ ก็จะช่วยให้กลุ่มคนในอาชีพสามารถเข้ามาเรียนรู้ทักษะด้านต่างๆ เพื่อนำไปเตรียมความพร้อมในอาชีพ รวมทั้งการประเมินสมรรถนะเพื่อให้ได้การรับรองจาก สคช. นอกจากนี้ ผู้ที่ผ่านการประเมินแล้วยังจะมีชื่อปรากฏอยู่ในแอปพลิเคชันปักหมุดมืออาชีพ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสเพิ่มช่องทางการหางานให้กับคนในอาชีพนี้ และผู้บริโภคเองก็สามารถเลือกใช้บริการได้อย่างมั่นใจ ว่าพวกเขาจะได้พนักงานให้การดูแลที่มีมาตรฐาน ได้รับการการันตีจากหน่วยงานภาครัฐ ด้าน รศ.ดร.ทัศนา บุญทอง นายกสภาการพยาบาล ย้ำว่าสภาการพยาบาลเป็นองค์กรวิชาชีพตามกฎหมาย ภายใต้พระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ซึ่งได้ดำเนินการควบคุมดูแล การประกอบอาชีพตามขอบเขตที่กฎหมาย และจรรยาบรรณวิชาชีพกำหนด ประกอบกับปัญหาสุขภาพความเจ็บป่วยของประชากรมีมากขึ้น แม้เทคโนโลยีจะมีความเจริญก้าวหน้า แต่ความต้องการการดูแลผู้เจ็บป่วยกลับมีมากขึ้น เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พยาบาล หรือผู้ช่วยพยาบาลไม่เพียงพอ และพนักงานให้การดูแล หรือผู้ช่วยเหลือคนไข้ภายใต้การกำกับดูของพยาบาลวิชาชีพ (Nurses’ aides / Care givers) ซึ่งผ่านการอบรมมาแล้วอย่างน้อย 6 เดือนตามหลักสูตรวิชาชีพ จึงตอบโจทย์สถานการณ์ปัจจุบัน สำหรับการจัดทำมาตรฐานอาชีพให้คนเหล่านี้ จะทำให้ผู้รับบริการเชื่อมั่นได้ว่าคนเหล่านี้ทำงานได้จริง สามารถดูแลผู้ป่วยได้จริง เพราะผ่านการประเมินสมรรถนะ ได้การรับรองจากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันพนักงานให้การดูแลเวลานี้มีอยู่ราว 40,000 คน ที่สำคัญจะเป็นผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจประเทศ เมื่อเปิดการค้าเสรี กลุ่มงานบริการทางการแพทย์ พยาบาล จะเป็นกลุ่มอาชีพที่มีความต้องการสูง ซึ่งผู้ที่ผ่านการประเมิน ได้ใบรับรองจากหน่วยงานภาครัฐ จะเป็นผู้ที่ได้รับเลือกให้เข้าทำงานก่อน เมื่อมีการเคลื่อนย้ายแรงงานเกิดขึ้นนั่นหมายถึงเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศก็จะเติบโตขึ้นตามไปด้วย ส่วนในอนาคตสภาการพยาบาลจะบรรจุเป็นระเบียบข้อบังคับให้พนักงานให้การดูแลจำเป็นต้องผ่านการประเมินได้การรับรองสมรรถนะจาก สคช. หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาในอนาคตอีกครั้ง

  • สคช. - สก. เตรียมผนึกกำลังพัฒนากำลังคนขึ้นแท่น มืออาชีพสากลตาม ISO/IEC17024 เน้นยกระดับคนให้ประกอบอาชีพได้แม้ต้องเผชิญภาวะวิกฤต

    03.07.2563
    503 View

    นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) หารือร่วมกับนายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติ (สก.) ซึ่งเป็นตัวแทนประเทศไทยที่ได้รับเลือกให้เป็นกรรมการบริหารขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองระบบงาน (Board of Directors, International Accreditation Forum) หรือ IAF องค์การระหว่างประเทศที่มีสมาชิกเป็นหน่วยรับรองระบบงานของประเทศต่างๆ กว่า 70 ประเทศทั่วโลก โดย สคช. ได้ร่วมเป็นคณะทำงานด้านการรับรองบุคลากร IAF Working Group on Person Certification ISO/IEC17024 ด้วย การหารือในครั้งนี้เป็นการเตรียมพร้อมความร่วมมือภายใต้ MOU การพัฒนามาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพของไทย โดยนำแนวทางจากการรับรองบุคลากรจากองค์การระหว่างประเทศมาเป็นแนวทางในการพัฒนาคนในอาชีพของไทย ขึ้นแท่นเวทีสากล ภายใต้มาตรฐาน ISO/IEC17024 เนื่องจาก สคช. มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนกำลังคนให้มีคุณภาพ เป็นมืออาชีพที่สามารถทำงาน สร้างรายได้อย่างยั่งยืนได้จริง โดยเฉพาะการพัฒนากำลังคนให้ตอบโจทย์ความต้องการหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ความร่วมมือครั้งนี้ จะเน้นยกระดับองค์ความรู้ให้กับบุคคล เพื่อสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดในอาชีพ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เห็นได้ชัดเจนว่าอัตราการว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นการพัฒนาคนจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งความร่วมมือจะมุ่งเน้นพัฒนา ให้การรับรอง และยกระดับคนในอาชีพตามหลักมาตรฐานสากล ISO/IEC17024 ให้กำลังคนสามารถประกอบอาชีพได้ แม้จะต้องพบกับภาวะวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ ยังหารือแลกเปลี่ยนแนวทางการปรับปรุงหลักสูตรฝึกอบรมผู้ตรวจประเมินองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ (Assessor) ให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันด้วย

  • สคช.จับมือสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย ยกระดับ“นายหน้าไทย"อย่างมืออาชีพ ด้วยมาตรฐานอาชีพคุณภาพเทียบเท่าสากล ตัดตอนความยุ่งยากเรื่องซื้อขาย

    01.07.2563
    672 View

    สคช.จับมือสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย ยกระดับ“นายหน้าไทย"อย่างมืออาชีพ ด้วยมาตรฐานอาชีพคุณภาพเทียบเท่าสากล ตัดตอนความยุ่งยากเรื่องซื้อขาย ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) สคช. หรือ TPQI และนายประวิทย์ อนุศิริ นายกสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ที่ สคช. จัดทำร่วมกับสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย โดยมี คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ สคช.คณะกรรมการสมาคม และเจ้าหน้าที่สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน ดร.นพดล ระบุว่า การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เป็นเรื่องที่ต้องศึกษารายละเอียด ผู้ซื้อขายต้องอาศัยความรู้หรือประสบการณ์ ขณะที่การระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ได้ทำให้การซื้อขาย หรือราคาของอสังหาริมทรัพย์ปรับลดไปตามสถานการณ์โลก จึงคาดการณ์กันว่าหลังการระบาดของโรค อาจเป็นแรงขับให้เกิดการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันมากขึ้น และทำให้มูลค่าอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย นายหน้าอสังหาริมทรัพย์จึงเป็นตัวช่วยที่ดีของการซื้อขายที่ทำให้ผู้บริโภคมีความสะดวกสบาย มั่นใจ และมีที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญคอยช่วยเหลือทุกขั้นตอน ที่สำคัญช่วยลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดช่วงของการซื้อขาย โดยเฉพาะบ้านมือสองที่ต้องมีการตรวจสอบความน่าเชื่อถือ ทั้งสภาพบ้าน เอกสารที่ดิน และเอกสารที่เกี่ยวข้องซึ่งมีความยุ่งยาก การซื้อขายผ่านนายหน้าจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ แต่ผู้บริโภคจะไว้วางใจนายหน้าได้อย่างไร จึงเป็นสิ่งที่ สคช. และสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย ได้ร่วมมือกันจัดทำมาตรฐานอาชีพนี้ขึ้น ดร.นพดล ยังย้ำว่า นายหน้าอสังหาริมทรัพย์ ที่ผ่านการประเมินได้การรับรองจากหน่วยงานภาครัฐอย่าง สคช. เป็นบทพิสูจน์ขั้นสำคัญว่านายหน้าฯ รายนั้นจะสามารถให้บริการได้อย่างถูกต้อง มีประสบการณ์ ความรู้ ความน่าเชื่อถือ ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ที่สำคัญตัวนายหน้าฯ ที่ผ่านการประเมิน ยังมีรายชื่อเข้ามาอยู่ในแอปพลิเคชันปักหมุดมืออาชีพ ของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ที่ดำเนินการเพื่อหวังให้เป็นช่องทางหนึ่งในการที่ผู้บริโภค และผู้ประกอบการ สามารถค้นหา และใช้บริการจากมืออาชีพได้โดยตรง ซึ่งเป็นอีกช่องทางที่จะช่วยเพิ่มโอกาสการทำงานให้กับคนในอาชีพด้วย ด้านนายประวิทย์ อนุศิริ นายกสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้สำหรับอาชีพนายหน้า การร่วมทำมาตรฐานอาชีพกับ สคช. จึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะทำให้อาชีพนี้เกิดมาตรฐาน โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ขณะเดียวยังนับเป็นอีกช่องทางในการพัฒนาอาชีพให้ได้รับความน่าเชื่อถือ สามารถเข้าสู่สนามแข่งขันได้ในระดับสากล ปัจจุบัน สคช. ร่วมกับสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย องค์กรกลางซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงการนายหน้าฯ จัดทำมาตรฐานอาชีพ ในสาขาวิชาชีพธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กระทั่งผลิตนายหน้าฯ มืออาชีพออกสู่ตลาดแล้วกว่า 3,700 คน และอีกหนึ่งช่องทางที่ สคช. และสมาคมนายหน้าฯ ได้ร่วมกันผลักดันให้เกิดการใช้งานนายหน้าฯ มืออาชีพได้จริง จึงจับมือเครือข่ายพันธมิตร จัดทำระบบการค้นหานายมืออาชีพผ่านเว็บไซต์ที่มีความน่าเชื่อถือ เพื่อเป็นการยืนยันความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าจะสามารถซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ของเขาได้ผ่านนายหน้ามืออาชีพของจริง เพราะสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ที่นี่มืออาชีพ

  • สคช. ร่วมลงนามถวายพระพร สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ณ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์

    29.06.2563
    506 View

    ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) สคช. หรือ TPQI พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมถวายแจกันดอกไม้สดหน้าพระฉายาลักษณ์ และลงนามถวายพระพรแด่สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ขอให้ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์ และหายจากพระอาการประชวรโดยเร็ววัน เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2563 ณ ศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ ชั้น 1 โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กรุงเทพฯ