มาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ

ต.ค.

สาขาวิชาชีพหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

03.10.2564
95,970 View

อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ  เป็นอุตสาหกรรมที่สนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ   เนื่องจากเป็นการยกระดับเทคโนโลยีและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในภาคอุตสาหกรรม รองรับปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่คาดว่าจะรุนแรงขึ้นในอนาคต  เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S-Curve ที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต ทั้ง 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพในการต่อยอด (First S-Curve) และ 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) กรอบคุณวุฒิแห่งชาติเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องและมีผลกระทบต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายส่วนโดยเฉพาะระดับนโยบายจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงแรงงานในฐานะผู้ผลิตและพัฒนากำลังคน นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับผู้เรียน ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงนายจ้างหรือผู้จ้างแรงงานที่จะสะท้อนความต้องการแรงงาน สถานประกอบการ สมาคม/องค์กรวิชาชีพ กลุ่มวิชาชีพ/กลุ่มอาชีพ ทำหน้าที่พัฒนามาตรฐานอาชีพในภาคการผลิตและบริการ กรอบคุณวุฒิแห่งชาติได้กำหนดกรอบแนวทางการเชื่อมโยงระบบคุณวุฒิของประเทศทุกระดับและประเภท ผ่านกระบวนการการศึกษา อบรม ทดสอบ วัดและประเมินผล ทั้งด้านการเรียนรู้และสมรรถนะในการปฏิบัติงาน และการเทียบโอนประสบการณ์และความรู้เดิม (Recognition of Prior Learning – RPL) เพื่อสะสมหน่วยการเรียนตามมาตรฐานหลักสูตร ซึ่งจะนำมาสู่การยกระดับคุณวุฒิวิชาชีพ และเพิ่มขีดความสามารถและสมรรถนะในการปฏิบัติงาน เพื่อเป็นกำลังแรงงานที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ อันเป็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา (Widening Education Participation) รวมทั้งการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ของกำลังแรงงาน

การกำหนดระบบการพัฒนากำลังคนเพื่อเข้าสู่อาชีพ ให้มีมาตรฐานในระดับเดียวกัน โดยการนำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพมาเป็นแกนหลักในการกำหนดหลักสูตร ทั้งในภาคการศึกษาและหลักสูตรการอบรมในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงหลักสูตรอื่นๆ ในการพัฒนากำลังคน ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน  โดยสาขาวิชาชีพหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติสำหรับใช้เป็นฐานการกำหนดหลักสูตรเพื่อพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมนี้  ได้แก่ อาชีพช่างแมคคาทรอนิกส์ อาชีพช่างควบคุมหุ่นยนต์ อาชีพช่างเทคนิคหุ่นยนต์ อาชีพช่างเทคนิคระบบหุ่นยนต์ และอาชีพนักบูรณาการระบบการผลิต

ดังนั้น จึงจัดทำแนวทางการพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน ที่นำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ ของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) มาเป็นแนวทางในการพิจารณาร่างหลักสูตรใหม่ในการจัดการเรียนการสอน ให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพและความต้องการของภาคอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรฐานอาชีพ สาขาวิชาชีพหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

http://tpqi-net.tpqi.go.th/home/occ/industrialInfo/RAC